เปิดมุมมอง “โนเกีย” เมื่อ 5G มาถึงระบบสื่อสารทางราง

ฮาราลด์ อิลเลียส

เมื่อเอ่ยถึง “โนเกีย” แบรนด์โทรคมนาคมเก่าแก่อายุ 150 ปี ที่ทิ้งการทำโทรศัพท์มือถือมาทุ่มเทให้กับอุปกรณ์ และเน็ตเวิร์กด้านโทรคมนาคมอย่างจริงจังในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมาถึงของโครงข่าย 5G ที่เปลี่ยนการถ่ายโอนข้อมูลจากอุปกรณ์สู่อุปกรณ์ เป็นการถ่ายโอนข้อมูลที่เชื่อมโยงโครงข่ายขนาดใหญ่ ทั้งเครื่องจักร โรงงาน สาธารณูปโภค

และเมือง ที่พลิกโฉมทุกอุตสาหกรรม ทำให้โนเกีย ขยายขอบเขตธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ล่าสุดในงาน Asia Pacific Rail 2023 ก็นำโซลูชั่นระบบขนส่งทางรถไฟต่าง ๆ มาโชว์ด้วยไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย 5G/FRMCS/T2G, 5G, LTE, และ MCx โซลูชั่นสำหรับรถไฟสายหลัก และรถไฟใต้ดิน ที่เปิดใช้งานการเชื่อมต่อถึงกัน

และปรับการเชื่อมต่อเพื่อควบคุมรถไฟขั้นสูง รวมถึงโครงข่ายที่มีความสำคัญสูง (Mission-critical Networks) เป็นต้น

โนเกียกับระบบสื่อสารทางราง

“ฮาราลด์ อิลเลียส” หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมดิจิทัลของโนเกีย ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โนเกียให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้โลกสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการขนส่งทางราง ในฐานะผู้นำด้านระบบควบคุมรถไฟแบบไร้สาย (Global System Mobile-Railway : GSM-Railway)

โดยมีภารกิจหลัก คือการมอบโซลูชั่นขั้นสูงเพื่อรองรับแอปพลิเคชั่นขนส่งทางรางเวอร์ชั่นล่าสุด ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง 5G, IP/MPLS, data center fabric, packet optical, การส่งคลื่นไมโครเวฟ, การวิเคราะห์ และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

รวมถึงเทคโนโลยีระบบสื่อสารเคลื่อนที่ของรถไฟในอนาคต (Future Railway Mobile Communication System-FRMCS) ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้ให้บริการขนส่งทางรางในระยะต่อไปของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล

“เราให้บริการครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นการวางเครือข่าย และยูทิลิตี้ที่สําคัญ เมื่อพูดถึงธุรกิจเครือข่ายบนทางรถไฟ คือ วิธีการสร้างเครือข่ายที่ ‘ปลอดภัย และเชื่อถือได้’ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่เริ่มต้นให้บริการในโครงข่ายรถไฟทั่วยุโรป สำหรับในเอเชียก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะทางรถไฟระยะไกลต้องเชื่อมต่อกับเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่มีการพัฒนาโครงการรถไฟจำนวนมาก ทั้งรถไฟในเมืองใหญ่ และทางรถไฟระยะไกลเชื่อมหัวเมือง”

โดยทั่วไปการขยายตัวของเมืองมีแนวโน้มที่เติบโตแข็งแกร่ง มีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้ต้องการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอที่จะจัดการกับคนเหล่านั้นด้วยเทคโนโลยีเก่า จึงต้องการรางรถไฟมากขึ้น และต้องมีระบบจัดการให้ผู้คนเดินทางได้เร็วขึ้น มีช่วงเวลาที่สั้นลงระหว่างสับเปลี่ยนรถไฟ ต้องมีมาตรฐานใหม่ เพื่อตอบสนองเครือข่ายใหม่ที่สามารถรับความจุที่เพิ่มขึ้นได้

5G มาตรฐานใหม่ FRMCS

“อิลเลียส” กล่าวว่า ปัจจุบันโนเกียจัดความสำคัญให้การวางระบบเน็ตเวิร์กทางรางเป็นอันดับต้น โดยเป็นส่วนสำคัญในการวางมาตรฐานการสื่อสารใหม่ คือ FRMCS (Future Railway Mobile Communication System) ซึ่งระบบขนส่งทางรางปัจจุบันไม่ได้ต้องการแค่ความรวดเร็วในการสื่อสารเท่านั้น แต่มี 3 ส่วนที่ต้องพัฒนา คือ ความปลอดภัย, ความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้งาน เช่น

ต้องสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ในการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีขบวนรถไฟหรือไม่ และรถไฟก็สามารถบอกผู้ควบคุมระบบได้ว่าในขณะที่กําลังเดินทาง หากมีบางสิ่งที่ผิดปกติ หรือพังจะแจ้งเตือน และมีวิธีการควบคุมที่ดีเพื่อนำรถไฟไปถึงลานที่สามารถซ่อมแซมได้ และแจ้งช่างเทคนิคได้ว่ามีสิ่งใดที่ต้องทำ

“คุณจึงปรับปรุงประสิทธิภาพการดําเนินงานของคุณ นั่นเป็นเหตุผลที่ต้องมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เมื่อเราพูดถึง GSMR ในขณะนั้น เรากำลังพูดถึงคลื่นความถี่ 3G-4G แต่ตอนนี้โครงข่าย 5G พัฒนาอย่างมาก โนเกียจึงร่วมกับหลายภาคส่วนสร้างมาตรฐาน FRMCS มีเป้าหมายหลักคือช่วยเปลี่ยนผ่านโครงข่ายสื่อสารทางรางสู่ระบบดิจิทัล”

โอกาสและจังหวะการลงทุน

“อย่างที่บอกไปว่าตลาดเอเชีย-แปซิฟิก และไทยมีความสำคัญมาก เรามีการลงทุนมหาศาล แม้จะบอกตัวเลขไม่ได้ แต่บอกได้เลยว่า โครงข่ายสื่อสารทางรางเป็นสิ่งที่โนเกียให้ความสำคัญอันดับแรก ๆ ในธุรกิจ ซึ่งมีอัตราการเติบโต 2 ดิจิต”

หากมองที่ประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่พูดถึงรถไฟในเมืองอย่าง BTS หรือ MRT ที่่ผ่านมา โนเกียไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก แต่กำลังสนใจรถไฟสายใหม่ ๆ เช่น รถไฟเชื่อมต่อสนามบิน รถไฟความเร็วสูง และกําลังพูดคุยกับผู้ประกอบการแต่ละราย

และคิดว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจเพราะการใช้เทคโนโลยีใหม่จะทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น ทั้งในแง่การมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้โดยสาร รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินการของบริษัทผู้ให้บริการที่จะสามารถปรับปรุงต้นทุนการบริหารจัดการระบบได้ดีขึ้น

“เราไม่สามารถบอกได้ว่า ต้นทุนในการเปลี่ยน GSMR มาสู่ FRMCS อยู่ที่เท่าไหร่ของต้นทุนการสร้างทางรถไฟ เพราะในมาตรฐานใหม่ มีหลายโมดูล ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการทางรถไฟจะเลือกพัฒนาระบบอย่างไร และต้องการฟังก์ชั่นใดบ้าง”

“ซึ่งโนเกียมีโซลูชั่นที่เพียบพร้อมสำหรับความต้องการของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่ที่แน่ ๆ คือ ความปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นจุดเริ่มต้นในการวางระบบราง ดังนั้นเราไม่อาจประเมินได้ว่าเป้าหมายในการทำตลาดอยู่ที่เท่าไร แต่บอกได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เพราะทั้งระบบรางใหม่และเทคโนโลยีเก่าที่ต้องเปลี่ยนมีอีกมหาศาล”

โครงสร้างระบบรางคืออนาคต

“อิลเลียส” กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ความสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราง แต่ระบบใหม่ทำให้มีอุปกรณ์ใหม่ช่วยให้ประหยัดมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง และทำให้ได้ข้อมูลมหาศาลกลับสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม การ “ทรานส์ฟอร์ม” ระบบรางต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีหลังจากนี้ โครงข่ายทั้งหมดจะเข้าสู่มาตรฐาน FRMCS

“ผมไม่รู้ว่าโอเปอเรเตอร์รถไฟทั่วโลกมีแผนอย่างไร แต่พวกเขาก็ต้องเริ่มวางแผน เพราะเรากำลังพูดถึงรางรถไฟยาวหลายแสนกิโลเมตร รถไฟหลายพันคัน อุปกรณ์บนขบวน-สถานีนับพันชิ้น และนั่นคือสิ่งที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการเปลี่ยน ซึ่งโนเกียจะเริ่มโครงการเปลี่ยนระบบสื่อสารทดแทนเป็นงานปฏิบัติงานจริงงานแรกในปี 2028 แต่ในเอเชีย-แปซิฟิกอาจเร็วกว่านี้ และเหล่าโอเปอเรเตอร์รถไฟต้องการให้แน่ใจว่าระบบสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์”

คีย์แมสเสจอีกอย่างที่โนเกียอยากบอก คือการเดินทางในเมืองมีการปล่อยคาร์บอนมหาศาล และกำลังทำลายโลก การขนส่งสาธารณะจึงได้รับการยอมรับ และต้องการความหลากหลาย เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อไม่สามารถทำรถไฟได้มากขึ้น

ต้องทำเครือข่ายให้ดีกว่าเดิมในการบริหารจัดการรถไฟเหล่านั้น ทำให้ชีวิตผู้คนในเมืองสะดวกขึ้นสิ่งที่โนเกียช่วยในการทรานส์ฟอร์มระบบการสื่อสารทางรางรถไฟ คือ ความปลอดภัย โดยจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครือข่าย ไม่มีใครแฮกได้ เพื่อทำให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือ และปลอดภัยยิ่งขึ้น