รู้จัก “Horrus” โดรนอัตโนมัติ บนโครงข่าย 5G

Horrus โดรน

AIS และ ARV บริษัทลูกในเครือ ปตท. ต่อยอดความร่วมมือในวังจันทร์วัลเลย์ พัฒนา “Horrus” โดรนอัจฉริยะที่ทำงานบน 5G ตัวช่วยภาคอุตสาหกรรม

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ AIS คือการเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co ผ่านแนวคิด Ecosystem Economy ที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย เพื่อส่งเสริมการทำ Digital Transformation ของภาคธุรกิจในประเทศ และ “Horrus” หรือ 5G AI Autonomous Drone System โดรนอัจฉริยะบนโครงข่าย 5G ถือเป็นอีกหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของ AIS กับเออาร์วี หรือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด

“ความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในการพัฒนาโดรนอัจฉริยะ ที่ผสานความสามารถของ 5G และ AI เพื่อรองรับการทำงานของ Horrus หรือ 5G AI Autonomous Drone System ที่พัฒนาโดยบริษัท ARV ให้มีความเสถียรและปลอดภัย พร้อมต่อการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมจนนำไปสู่การสร้างจุดแข็งให้กับประเทศ”

ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในเครือ ปตท. สผ. กล่าวเสริมว่า Horrus เป็นอีกหนึ่ง Use Case ที่ประสบความสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ที่มีความพร้อมด้านการทดสอบจากการผ่อนปรนกฎระเบียบพิเศษสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (UAV Regulatory Sandbox) รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่าง 5G ที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นนี้

“ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI เราต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนความเป็นอยู่ของคนในประเทศ โดย Horrus ถือเป็นโดรนอัจฉริยะที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยที่มีระบบ AI เข้ามาเป็นหัวใจหลักในการทำงาน”

สำหรับ “Horrus” เป็น AI Autonomous Drone System หรือโดรนอัตโนมัติที่พัฒนาโดย “ARV” บริษัทลูกในเครือ ปตท.สผ. ผู้พัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI ที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

องค์ประกอบของตัวเครื่องมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ โดรนสมรรถนะสูง กล่องเก็บโดรนที่เป็นแท่นชาร์จและฐานในการปล่อยตัว และซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานที่มีระบบ AI สั่งการ

Horrus สามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและส่งแจ้งเตือนกลับมาที่ศูนย์ควบคุมได้แบบ real time ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการบริหารจัดการความปลอดภัย และยังลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือมีข้อจำกัด เช่น การใช้โดรนตรวจสอบการทำงานในพื้นที่โรงงาน พื้นที่สำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในธุรกิจของกลุ่ม ปตท. เป็นต้น

การพัฒนา Horrus ได้รับความร่วมมือจาก AIS ในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การออกแบบ Network Architecture หรือสถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz โดยใช้เทคโนโลยี Autonomous Network ที่มีความสามารถในการจัดการระบบด้วยตัวเอง, การใช้ Network Slicing เพื่อตอบสนองแอปพลิเคชั่นที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน

รวมถึงบริการ MEC (Multiaccess EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และพัฒนาโซลูชั่นที่ต้องการความหน่วงต่ำ ซึ่ง 5G และ Network Slicing จะช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ลดความหน่วงในการสั่งการควบคุมโดรน รวมถึงรองรับการควบคุมระยะไกลที่เสถียรมากกว่าสัญญาณวิทยุและ WiFi

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของ Horrus เกิดขึ้นใน “วังจันทร์วัลเลย์” (Wangchan Valley) ฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่พัฒนาโดยกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็น Regulatory & Innovation Sandbox หรือพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ ยานยนต์อัตโนมัติ นวัตกรรมพลังงาน และคลื่นความถี่พิเศษ

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนากล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนา Horrus อยู่ในขั้นเสร็จสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ส่วนต้นทุนในการพัฒนาโดรนอัจฉริยะตัวนี้มาจากงบประมาณภายในเครือ ปตท.สผ.

“ตอนนี้การพัฒนา Horrus อยู่ในระดับที่พร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว ส่วนเงินที่ใช้ในการลงทุนมาจากงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาธุรกิจใหม่ในเครือ ปตท.สผ.”