ทำไม X ร่างใหม่ Twitter โดนแขวนในอินโดนีเซีย

ทำไม X ร่างใหม่ Twitter โดนแขวนในอินโดนีเซีย
Photo by JOEL SAGET / AFP

เปิดเหตุผล ทำไม “X” ร่างใหม่ของ “Twitter” ถูกจำกัดการเข้าถึงในอินโดนีเซีย หลังผู้ใช้งานในประเทศไม่สามารถเข้าใช้งานบนเว็บไซต์ได้

วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าวในอินโดนีเซีย “Al Jazeera” รายงานว่า “ทวิตเตอร์” (Twitter) ถูกจำกัดการเข้าถึงในอินโดนีเซีย หลังมหาเศรษฐีระดับโลก “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) รีแบรนด์แพลตฟอร์มเป็น “X” เพื่อขยายการให้บริการในฐานะซูเปอร์แอป และใช้โดเมนเว็บไซต์ว่า X.com

ตัวแทนจากกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย กล่าวว่า เว็บไซต์ดังกล่าวถูกจำกัดการเข้าถึง เพื่อปิดกั้นเนื้อหาเชิงลบ เช่น ภาพอนาจารและการพนัน เพราะโดเมนนี้เคยถูกใช้โดยเว็บไซต์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศมาก่อน

อุสแมน คานซอง (Usman Kansong) ผู้อำนวยการทั่วไปด้านข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะของกระทรวงกล่าวว่า รัฐบาลได้ติดต่อกับ X เพื่อขอให้บริษัทชี้แจงลักษณะของเว็บไซต์ ซึ่งตัวแทนจาก Twitter ได้พูดคุยกับเรา และส่งจดหมายที่ระบุว่า Twitter จะใช้โดเมนเป็น X.com แทน

การย้ายโดเมนของ Twitter ทำให้ผู้ใช้งานชาวอินโดนีเซียไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ประมาณ 24 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 270 ล้านคน

โดยสาเหตุที่ทำให้เว็บไซต์ X.com ถูกจำกัดการเข้าถึงในอินโดนีเซีย คือข้อกฎหมายอันเข้มงวดที่สะท้อนผ่านมุมมองทางศาสนา ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เคยถูกจำกัดการเข้าถึงจาก “Telekomunikasi Indonesia” บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากเปิดตัวในปี 2559 ได้ไม่นาน เพราะกลัวว่าแพลตฟอร์มจะมีภาพอนาจารและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง “TikTok” ก็เคยถูกจำกัดการเข้าถึงช่วงสั้น ๆ ในปี 2561 ด้วย

และในปี 2565 กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซียได้ขอให้เว็บไซต์ยอดนิยมและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Netflix, Google, Facebook, Instagram และ Twitter ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มภายในเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาสิทธิ์และป้องกันการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ของกระทรวง

กาเทรีย ปรียานดิตา (Gatria Priyandita) นักวิเคราะห์นโยบายไซเบอร์ของ Australian Strategic Policy Institute กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า “โดยทั่วไปแล้ว กระทรวงจะจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นการล่วงละเมิด อาชญากรรม หรือภัยอันตรายต่อความสามัคคีในสังคม รวมถึงเนื้อหาลามกอนาจาร เว็บไซต์ที่ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเว็บไซต์ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง หรือเต็มไปด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ”