ถอดสูตร “3-5-7” แม่ทัพ NIA ยกระดับนวัตกรรมไทยในเวทีโลก

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่ “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” ได้ปรับบทบาทจากสะพานเชื่อมสู่การเป็น“ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” หรือ focal conductor เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้สอดรับกับบริบทโลก

ดันไทย “ชาตินวัตกรรม”

“ดร.กริชผกา” กล่าวว่า ปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยเน้นที่การแก้ปัญหาในรายประเด็น โดยผู้ประกอบการแต่ละรายจะพัฒนานวัตกรรมของใครของมัน จึงไม่สามารถขับเคลื่อนทิศทางการสร้างนวัตกรรมระดับประเทศให้เป็นภาพเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์

จึงต้องนำทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์ของสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอี (SMEs) และความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อกำหนดโจทย์ของงานวิจัยและพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ทำเงินได้ ซึ่งการขยายสเกลไปในเชิงพาณิชย์ต้องดูอีกทีว่าจะเป็นเอกชนซื้อไลเซนส์ไปทำต่อ หรือมหาวิทยาลัย spin off ออกมาเป็นบริษัท

“ถ้ายกระดับให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ ทิศทางการสร้างนวัตกรรมระดับชาติจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา สิ่งที่จะช่วยให้ภาพลักษณ์ชาตินวัตกรรมของไทยแข็งแกร่งขึ้น คือ การผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมของตนเอง ถ้ามองว่านวัตกรรมต้องมาจากห้องแล็บอย่างเดียว จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามองว่า นวัตกรรมคือก้าวแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก็จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นนวัตกรรมระดับสูงทัดเทียมประเทศอื่นได้ แม้ช่วงแรกจะต้องฝากความหวังไว้กับบริษัทใหญ่ ๆ หรืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยก็ตาม”

อีกสิ่งที่สำคัญ คือ คนไทยต้องยอมรับและใช้ผลิตภัณฑ์ของคนไทยด้วย ถึงจะเติบโตได้จริง ๆ โดยทุกคนต้องมีแนวคิด “Innovation in Your Heart” หรือการมีนวัตกรรมอยู่ในหัวใจก่อน

3 พันธกิจ-5 เป้าหมาย 7 กลยุทธ์

ดร.กริชผกากล่าวต่อว่า NIA มี 3 ภารกิจ คือ สร้างและส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และยกระดับทักษะและขีดความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย กับ 5 เป้าหมาย คือ 1.สร้างและเชื่อมโยงแพลตฟอร์มพัฒนา IBEs 2.สร้างนวัตกรรมและ IBEs ผ่าน NIA Academy 3.สร้างระบบนวัตกรรมไทยและอินโนเวชั่นอีโคซิสเต็ม 4.ยกระดับนวัตกรรมไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก และ 5.ปรับบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ภายใต้ 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.สร้างและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่าย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 2.ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้าง 3.ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์

4.เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม 5.ส่งเสริมตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6.สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน และ 7.พัฒนาองค์กรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเมื่อ 20 ปีก่อน NIA ทำงานผ่านกลไกหลัก “3G” คือ ดูแลผู้ประกอบการรายเล็ก (groom) ให้เงินทุนผู้ประกอบการรายเล็ก (grant) และผลักดันให้ผู้ประกอบการรายเล็กเติบโต (growth) ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตด้านนวัตกรรมของไทย

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “นิลมังกร” การแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมที่ช่วยให้สตาร์ตอัพระดับภูมิภาคเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น, งาน “SITE” (Startup x Innovation Thailand Expo) อีเวนต์ใหญ่ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีพูดคุยกับพันธมิตรทางธุรกิจของตนเอง และการยื่นร่าง พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ ช่วยทลายข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ

บทบาท Focal Conductor

ในฐานะผู้อำนวยการคนใหม่ ต้องการให้ NIA เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก มีระบบการทำงานที่แข็งแรง เจ้าหน้าที่มี career path ชัดเจน เป็นองค์กรนวัตกรรมระดับชาติที่ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง จึงต้องขยายขอบเขตและหน้าที่ให้สร้างอิมแพ็กต์ ทำงานได้อย่างไร้รอยต่อระหว่างองค์กรต่าง ๆ และวัดผลความสำเร็จเป็นตัวเลขได้ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายโตขึ้นกี่เท่า

“วันที่ ผอ.คนแรก (ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ) ก่อตั้งองค์กร และให้ทุนสร้างนวัตกรรม มาถึง ผอ.คนที่สอง (ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์) ทำให้มิติการสร้างนวัตกรรมเป็นมากกว่าการลงทุนผ่านโครงการฝึกอบรมและอีเวนต์ต่าง ๆ และวันนี้เราจะทำให้การสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยสมบูรณ์ ผ่านการเปลี่ยนตัวเองจากสะพานเชื่อมสู่การเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันมากขึ้น”

ผ่านแนวคิด “2 ลด 3 เพิ่ม” โดย 2 ลด ได้แก่

1.ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี เติมเต็มจุดอ่อนหรือแก้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น

2.ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้ทุกภาคส่วน แก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

3 เพิ่ม คือ 1.เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากรัฐและเอกชน 2.เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้เกิดการจ้างงาน เพิ่ม GDP และภาพลักษณ์ “ชาตินวัตกรรม” และ 3.เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาดและสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ

ขยับดัชนีนวัตกรรมโลก

“ใน 4 ปี (2566-2570) เราตั้งเป้าหมายยกอันดับไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO จากที่ 43 ปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2573 รวมถึงสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกของการพาธุรกิจฐานนวัตกรรมสัญชาติไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ หนึ่งในประเทศที่ต้องเจาะเข้าไปให้ได้ คือ สหรัฐอเมริกา แต่การที่เขาเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมและสตาร์ตอัพ เขาจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับประเทศที่มีเทียร์ทางนวัตกรรมสูงกว่าไทยก่อน เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องแก้ให้ได้”

แม้จะพร้อมขับเคลื่อนและผลักดันองค์กรตามโรดแมปที่วางไว้ภายในกรอบระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้นำองค์กร โดยทั้งสานต่อภารกิจเดิมและเพิ่มเติมการทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยที่อาจมีผลกระทบและทำให้แผนต่าง ๆ ล่าช้าออกไป คือ เรื่องการจัดสรรงบประมาณ

“ตอนนี้การตัดสินใจหลาย ๆ อย่างต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ทุกหน่วยงานทำใจแล้วว่างบประมาณล่าช้าแน่นอน ทำให้ต้องใช้งบประมาณกับเรื่องที่จำเป็นก่อนเท่านั้น แต่ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หรือใครจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว.คนใหม่ ก็อยากฝากว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นชาตินวัตกรรม และทำให้เรื่องนวัตกรรมอยู่ในหัวใจของคนไทยและนักการเมืองทุกคน”