inDrive ลงตลาดเขย่าสมรภูมิแอปเรียกรถ

Background: Xegxef/pixabay

inDrive แอปเรียกรถสัญชาติอเมริกัน จ่อลุยทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ สแกนตลาด-สะท้อนภาพการแข่งขันในตลาดแอปเรียกรถ มูลค่า 70,000ล้านบาทที่เติบโตหลังโควิด 

ในช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา สถานการณ์โควิดคลี่คลายไปมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้เกิดการเดินทางภายในเมืองและการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่จริง ทั้งการทำงานหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็กลับมาคึกคักมากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว-เดินทางในชีวิตปกติ คือ ธุรกิจให้บริการ และหากแยกย่อยลงไปก็มีธุรกิจให้บริการขนส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ride-hailing) หรือ “แอปเรียกรถ” ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด และเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แอปเรียกรถรายใหม่ทยอยเข้าสู่ตลาด

ก่อนหน้าโควิด-19 ยังเป็นช่วงของการบุกเบิกแพลตฟอร์มและบริการเรียกรถ แพลตฟอร์มต่างชาติ ได้แก่ Uber Grab และ GET (Gojek) ที่เข้ามาทดลองและพัฒนาระบบพร้อม ๆ กับขับเคลื่อนข้อกฎหมายในบ้านเราอย่างยาวนานเริ่มถอยออกจากตลาดจนเหลือเพียง Grab และอีกรายคือ Lineman ที่ให้บริการเฉพาะเรียกรถแท็กซี่

จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนอาศัยอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้ Grab และ Lineman หันไปมุ่งเน้นการพัฒนาบริการดีลิเวอรี่แข่งกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ จนทำให้ Grab มีกำไรครั้งแรกจากธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ และในภาพรวมปี 2565 ก็พลิกทำกำไรจากทั้งดีลิเวอรี่และบริการเรียกรถกว่า 652 ล้านบาท

ในส่วนธุรกิจเรียกรถของ Grab ปี 2564 มีรายได้รวม 11,218 ล้านบาท แต่ยังคงขาดทุนสุทธิ 325 ล้านบาท จนกระทั่งในปี 2565 รายได้เติบโตจากปี 2564 ถึง 33.6% มาอยู่ที่ 15,197 ล้านบาท และพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 576 ล้านบาท หรืออัตรากำไรเติบโตปีต่อปีสูงถึง 277.13%

ในขณะเดียวกัน “แอปเรียกรถ” จำนวนหนึ่งกลับซุ่มพัฒนาและปล่อยให้มีการทดลองใช้กันอย่างเงียบ ๆ ในประเทศไทยมาตั้งแต่ 2-3 ปี ก่อนแล้ว เช่น Bolt และ inDrive

ฝั่งแพลตฟอร์มไทยของ Robinhood ที่เกิดจากปัญหาเรื่องค่าบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ที่เก็บจากร้านค้าแพง จึงสร้างแอปขึ้นมาโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า และเติบโตเก็บเกี่ยวฐานผู้ใช้งานตลอดมาจนกระทั่งในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ก็มีการประกาศลุยสมรภูมิแอปเรียกรถเต็มตัวโดยเริ่มที่เครือข่ายแท็กซี่กว่าหมื่นคัน

ลักษณะเช่นเดียวกับ AirAsia Super App ที่ก่อนหน้านั้นไม่นานซื้อกิจการของ GET หรือ Gojek แพลตฟอร์มสัญชาติอินโดนีเซีย แล้วพัฒนาใหม่เป็นแอปดีลิเวอรี่ของตนเอง และขยายบริการจนขอใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกให้บริการเรียกรถได้ในช่วงไล่เรี่ยกันของปี 2565

ไม่ใช่แค่ Robinhood และ AirAsia Super App ในเวลาไล่เรี่ยกันมีแพลตฟอร์มหรือผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากกรมการขนส่งทางบกหน้าใหม่รวมทั้งสิ้น 6 แอป แบ่งเป็น แอปพลิเคชั่นที่เรียกแท็กซี่และรถส่วนบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้บริการรับจ้างขนส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Grab, Air Asia Ride Robinhood Ride และล่าสุด คือ Bolt ซึ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีแอปสำหรับให้บริการแท็กซี่โดยเฉพาะ คือ Cabb Driver ที่ให้ผู้ขับเช่ารถแท็กซี่ทรงคลาสสิก ให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล อีกแอป คือ Hello Phuket ให้บริการเรียกแท็กซี่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

แพลตฟอร์มเอสโตเนีย สแกนตลาดแอปเรียกรถอาเซียนมูลค่า 7 หมื่นล้าน

ในช่วงที่ Bolt แพลตฟอร์มสัญชาติเอสโตเนีย ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาระบบบริการดิจิทัลประกาศทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือ พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

นายณัฐดลย์ สุขศิริฐานันท์ ผู้จัดการประเทศไทย Bolt กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้คนกลับมาเดินทางอีกครั้ง ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายตบเท้าเข้าสู่ตลาดนี้ รวมถึง Bolt ที่ขยายธุรกิจมายังประเทศเทศไทย ก่อนขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

“คนไทยที่มาใช้บริการแอปเรียกรถยังไม่เท่ากับประเทศอื่น ๆ ในโลก ที่ใช้ระบบนี้ในชีวิตประจำวันได้ จึงยังมีโอกาสเติบโต แต่ยอมรับว่ามีคู่แข่งอีกมากที่เข้ามาได้ อย่างในไทยเองมี 70 ล้านคน แต่สัดส่วนที่มาใช้แอปเรียกรถน้อยกว่า 10% และหากมองมูลค่าตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 75,000 ล้านบาท และน่าจะโตอย่างน้อยอีก 9.4% ถึงปี 2028 จะอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท เราก็โฟกัสในธุรกิจตัวเอง และอยากเป็นที่ 1 มีฐานลูกค้าและฐานคนขับที่ใหญ่ และเป็นทางเลือกคนในเมือง”

Bolt ใช้กันแพร่หลายในทวีปยุโรป 45 ประเทศ 300 หัวเมืองใหญ่ มีฐานลูกค้า100 ล้านคน และการเกิดที่เอสโตเนียซึ่งเป็นประเทศที่เน้นการพัฒนาด้านดิจิทัลจึงมีความพร้อมด้านพัฒนาเทคโนโลยีด้วยต้นทุนที่ต่ำ จึงสามารถสเกลในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

“Bolt เริ่มเข้ามาทดลองให้บริการในไทย ตั้งแต่ 2563 ด้วยปัจจัยความพร้อมต่าง ๆ จึงเห็นการเติบโตชัดเจนในฝั่งคนขับ จำนวนรอบ จำนวนเที่ยว ปีต่อปีโต 3Digit เป็นเอ็กโปเนียนเชียล มีพาร์ตเนอร์คนขับ หรือ ‘ไรเดอร์’ นับหมื่นคน และมีโอกาสขยายเป็นแสนคนได้ในเวลาอันใกล้นี้”

“สำหรับตลาดประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน เช่น การมีกลุ่มประชากรที่มีความคุ้นชินการใช้แอปพลิเคชั่น หรือความนิยมในการใช้ระบบไร้เงินสด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับ Bolt อยู่แล้ว ไทยจึงมีดีมานด์ทั้งในฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร เราจึงเลือกที่จะเริ่มต้นในไทยก่อนไปประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย” นายณัฐดลย์กล่าว

inDrive แพลตฟอร์มอเมริกัน จ่อลุยตลาดตาม

ในช่วงเดียวกันกับที่ Bolt เข้ามาสแกนตลาดบริการแอปเรียกรถในประเทศไทย ก็มีแอป inDrive อีกแอปหนึ่งที่เข้ามาทดลองในช่วงเวลาไลเรี่ยกัน และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อราว 1-2 ปีก่อน

โดย inDrive ชูจุดเด่นเรื่อง “การต่อรองราคา” ระหว่างผู้ใช้บริการ และไรเดอร์คนขับ (peer-to-peer) แม้จะมีระบบคำนวณราคาตามระยะทาง แต่ผู้ใช้สามารถเลือกคนขับที่เสนอราคาที่พึงพอใจได้ โดยมีทั้งบริการขนส่งภายในเมือง ระหว่างเมือง และขนส่งพัสดุหรือรถบรรทุกส่งของ

บริการขนส่งระหว่างเมืองยอดนิยมมักจะเป็นกรุงเทพฯ-พัทยา หรือกรุงเทพฯ-หัวหิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกของทั้งผู้ใช้และผู้ขับที่ต่อรองราคากันภายในแอป

inDrive ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในเมืองยาคุตสค์ ไซบีเรียตะวันออก แต่ย้ายไปในปี 2561 ได้จดทะเบียนบริษัท inDriver Holdings Inc จดทะเบียนในมลรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกัน และดำเนินงานในกว่า 40 ประเทศ และมีสำนักงาน 17 แห่งทั่วโลก