ดีอี ลุยแผน 3 ระยะ ปราบอาชญากรรมทางไซเบอร์

กระทรวงดีอี

รมว.ดีอี รับลูกนายกฯ ตั้งโต๊ะหารือร่วมมือมหาดไทย ทะลวงอาชญากรรมทางไซเบอร์ ป้องกันและแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) เปิดเผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดีอี ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ จากกรณีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางการบูรณาการป้องกันและแก้ไขร่วมกัน

โดยข้อสรุปของที่ประชุม คือแบ่งมาตรการการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีรายละเอียดดังนี้

1.ระยะสั้น

  • พฤติกรรมละเลย : ดำเนินการโดยใช้เครื่องมือของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตรวจสอบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล
  • กรณีโจรกรรมข้อมูล (hack) ให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงมีที่จุดไหนบ้าง แจกแจงมาประมาณ 4-5 กรอบ และระบุมาตรการของแต่ละความเสี่ยง พร้อมจัดให้มีคนเฝ้าระวัง (monitor)
  • กรณีซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล : ให้มีมาตรการจัดการเด็ดขาด ได้แก่ ปิดกั้น และจับกุม

2.ระยะกลาง ได้แก่ การสร้างและพัฒนาระบบคลาวด์ที่น่าเชื่อถือสำหรับจัดเก็บข้อมูล

3.ระยะยาว ได้แก่ การแก้กฎหมาย PDPA และ Cybercrime

“นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ จึงได้กำชับรัฐมนตรีดีอี ให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ หาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพให้เด็ดขาดด้วย” โฆษกดีอีกล่าว