ทำความรู้จัก “ADI” ผู้ผลิตแผงวงจรรายใหญ่ของโลกที่ “นายกฯเศรษฐา” ชวนให้ขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ชื่อของ “ADI” (Analog Devices, Inc.) อยู่ในความสนใจของหลายฝ่ายขึ้นมาทันที เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบปะหารือกับผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว และเชิญชวนให้เพิ่มการลงทุนในไทย เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 เวลา 13.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก ช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ที่โรงแรมเดอะริทซ์ คาร์ลตัน
ขณะที่กำลังเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ความน่าสนใจของ ADI ที่ทำให้นายกฯกล่าวเชิญชวนให้บริษัทดังกล่าวเพิ่มการลงทุนในไทยคืออะไร ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้ดังนี้
ADI เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit หรือ IC) รายใหญ่ระดับโลก ที่มีการออกแบบและผลิตแบบครบวงจร ผลิตแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การเชื่อมประกอบเพื่อผลิตเป็นชิป รวมถึงออกแบบกระบวนผลิตและกระบวนการทดสอบ การผลิตฮาร์ดแวร์และพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนํามาใช้ในกระบวนการผลิต
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ ADI เช่น ตัวแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิทัล (A/D Converter), ตัวขยายสัญญาณ (Amplifier), ระบบเซ็นเซอร์, โซลูชั่นด้านการจัดการพลังงาน และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ทางการของ ADI ระบุว่า รายได้ประจำปีงบประมาณ 2565 (เดือน พ.ย. 2564-ต.ค. 2565) 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจ B2B 87% (โรงงานอุตสาหกรรม 51%, รถยนต์ 21%, การสื่อสาร 13%) และ B2C 13% รวมถึงมีพนักงานทั่วโลกกว่า 25,000 คน และทำงานร่วมกับลูกค้าทั่วโลก 125,000 ราย
จุดเริ่มต้นของ ADI เกิดขึ้นในปี 2508 โดย 2 บัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ที่มีชื่อว่า “เรย์ สตาตา” (Ray Stata) และ “แมตทิว ลอร์เบอร์” (Matthew Lorber) ซึ่งความตั้งใจในการก่อตั้งบริษัท คือการพัฒนาเครื่องขยายสัญญาณประสิทธิภาพสูงตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทมีรายได้กว่า 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 3 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ
ADI ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการเข้าซื้อกิจการของบริษัทอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้สิ้นสุดดีลมูลค่า 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างเป็นทางการในปี 2564 กับ “Maxim Integrated” บริษัทผู้ออกแบบและผลิตวงจรแบบแอนะล็อกและแบบสัญญาณผสมสำหรับใช้ในคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบมือถือ การสื่อสารแบบไร้สายและไฟเบอร์ อุปกรณ์ทดสอบ เครื่องมือวัด และจอแสดงผลวิดีโอ
ปัจจุบัน ADI มีที่ตั้งบริษัทในไทยอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี รวมถึงผู้บริหารในไทยของ ADI ยังคงเดินสายพบปะหารือกับหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการมากขึ้น