คุยกับ LINE MAN ไขปมปรับลดค่ารอบ ชนวนไรเดอร์เดือด

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ประเด็นการเรียกร้องของเหล่าไรเดอร์กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งจากกรณีที่ “ไลน์แมน” (LINE MAN) หนึ่งในแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่เจ้าดังของไทย ประกาศปรับโครงสร้างค่ารอบครั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผล 5 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป หลังจากเดือน ม.ค.-ก.พ. ปรับต่างจังหวัดไปก่อนแล้ว

อัตราค่ารอบเริ่มต้นแบ่งเป็น 3 พื้นที่หลัก 1.พื้นที่ธุรกิจกลางเมือง (สีแดง) เช่น บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ วัฒนา เริ่มต้น 43 บาท/ออร์เดอร์ 2.พื้นที่ธุรกิจ (สีส้ม) เช่น จตุจักร พญาไท พระโขนง พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี สาทร เริ่มต้น 36 บาท/ออร์เดอร์ และ 3.พื้นที่อื่น ๆ (สีเทา) เริ่มต้น 30 บาท/ออร์เดอร์

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไลน์แมนยังประกาศข้อปฏิบัติ และบทลงโทษฉบับใหม่สำหรับไรเดอร์ที่ทำผิดกฎการให้บริการ เช่น จบงานแต่ไม่เข้ารับสินค้า จะปิดระบบ 7 วัน ไปจนถึงปิดระบบถาวร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. เป็นต้นไป จนนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะการทำงานของเหล่าไรเดอร์ที่เป็น “พาร์ตเนอร์” แต่กฎระเบียบไม่ต่างจากเป็นพนักงานประจำ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์” รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับไรเดอร์ในหลากหลายแง่มุม ดังนี้

Q : สถานะทางแรงงานของไรเดอร์

กฎหมายแรงงานของไทยที่ค่อนข้างเก่ามีการจ้างงาน 2 แบบ 1.นายจ้าง-ลูกจ้าง เป็นพนักงานฟูลไทม์ และ 2.ไม่มีสถานะใด ๆ ทางกฎหมาย แต่ตอนนี้มีงานที่เป็น Gig Economy หรือการรับงานรายชิ้นเข้ามา ทำให้คนทำงานมีสถานะเป็นฟรีแลนซ์ เช่น ไรเดอร์รับ-ส่งอาหาร 1 เที่ยว เป็นงาน 1 ชิ้น กระทรวงแรงงานมีความพยายามจะแก้กฎหมายในส่วนนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายอีกไกล

แต่พื้นฐานของธุรกิจดีลิเวอรี่ในเชิงนิติสัมพันธ์ บริษัทไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับให้ไรเดอร์มาทำงานได้เหมือนกับระบบจ้างงานทั่วไป แต่จะมีนโยบายให้ไรเดอร์รับงาน 1 รอบ ภายใน 30 วัน เพื่อรักษาสถานะในระบบ หมายความว่าในทางทฤษฎีรับงานเดือนละครั้ง ก็ไม่ว่าอะไร

ปัจจุบันเรามีไรเดอร์ที่แอ็กทีฟในระบบ 1 แสนคนต่อเดือน แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่ทำคล้าย ๆ ฟูลไทม์ เริ่มทำ 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น หรือบางคนตั้งเป้ารายได้วันละ 1,000 บาท ถ้าวันนั้นมีออร์เดอร์เยอะก็อาจกลับบ้านตั้งแต่ 4 โมงเย็น หรือถ้าได้ไม่ถึงก็อาจทำต่อ 1-2 ชั่วโมง

อีกกลุ่มที่เป็นฝั่งฟรีแลนซ์จริง ๆ เช่น มีงานประจําอยู่แล้ว แต่มารับงานเฉพาะหลังเลิกงาน แค่ 3-5 งานต่อวัน

Q : การบาลานซ์จำนวนงานกับไรเดอร์

ธุรกิจดีลิเวอรี่มีข้อจำกัดตรงดีมานด์กับซัพพลายไม่พอดีกัน เช่น ตอนเที่ยงกับตอนเย็นที่เป็นช่วงมื้ออาหารจะมีปริมาณคำสั่งซื้อมากกว่าปกติ ไรเดอร์จะไม่พอ ช่วงบ่ายจะเห็นว่าค่อนข้างว่างงาน แต่ในมุมของแพลตฟอร์ม สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือให้ไรเดอร์ออกมาขับในช่วงที่มีปริมาณคําสั่งซื้อเยอะ ๆ ประกอบกับมีความไม่พอดีในเรื่องพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง อย่างปทุมวัน วัฒนา หรือโซนสุขุมวิทที่มีห้าง และร้านอาหารเยอะ คนที่อยู่รอบนอกก็อยากสั่งอาหารในพื้นที่นั้น ๆ

ปกติบริษัทจะดูปริมาณไรเดอร์ต่อพื้นที่ให้เพียงพอต่อออร์เดอร์ที่เข้ามา สมมติว่าไรเดอร์ในพื้นที่มีจํานวนลดลง เราก็จะเปิดรับไรเดอร์มาเสริมในพื้นที่นั้น ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าคนเข้าใจผิดกันเยอะ คือเราไม่ได้รับไรเดอร์ใหม่ตลอดเวลา และข้อเรียกร้องที่มีมาประจำเวลาไรเดอร์ประท้วงคือ ห้ามเปิดรับไรเดอร์ใหม่ เพราะเขามองว่าถ้ารับไรเดอร์ใหม่เข้ามาจะทำให้เกิดการแย่งงาน จำนวนงานเฉลี่ยของไรเดอร์แต่ละคนลดลง

แต่จริง ๆ เรารับไรเดอร์มาเติมเฉพาะพื้นที่ที่ขาดเท่านั้น สมมุติว่าพื้นที่นี้ขาด 5 คน ก็จะโทร.ไปแจ้ง 5 คนแรกที่อยู่ใน Wait List ว่าเข้ามาทำงานได้แล้ว คนที่สมัครเป็นไรเดอร์จะส่งข้อมูลผ่านแอป LINE MAN RIDER และต้องรออยู่ใน Wait List ก่อน

เราจะคิดแยกเป็นรายจังหวัดตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ อย่างเมืองใหญ่ คนอยากเป็นเยอะ หาไรเดอร์ได้ง่าย ส่วนเมืองเล็กหาไรเดอร์ได้ยาก ที่ผ่านมาก็มีเสียงสะท้อนว่าต้องรอนานกว่าจะเข้าระบบได้ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่มีคนตกงานเยอะ ๆ

Q : การปรับโครงสร้างค่ารอบ

ในส่วนของการปรับโครงสร้างค่ารอบ เราปรับในส่วนของค่ารอบพื้นฐาน (Based Ffare) แต่ไปเพิ่มในส่วนของโบนัส (Incentive) ออร์เดอร์ละ 5-15 บาท ในช่วงเวลาหรือพื้นที่ที่มีออร์เดอร์เยอะแทน เป็นการจูงใจให้ไรเดอร์รับงานในช่วงที่มีคำสั่งซื้อสูงเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดีมานด์กับซัพพลาย ป้องกันการเสียลูกค้าหากไม่มีไรเดอร์รับงาน

ระบบนี้ทำให้ราคามีความเป็นไดนามิกมากขึ้น แทนที่ราคาต่อรอบจะเท่ากันหมด ไม่ว่ารับงานตอนกี่โมง ซึ่งแนวโน้มของอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปเป็นว่าค่าตอบแทนไรเดอร์จะขึ้นอยู่กับปริมาณออร์เดอร์ในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น พื้นที่ใจกลางเมือง วันอาทิตย์-จันทร์ ช่วง 11.00-12.59 น. และ 17.00-19.59 น. จะได้รับโบนัส 12 บาทต่อออร์เดอร์

จริง ๆ ในส่วนของค่ารอบ และโบนัสจะมีการปรับอยู่เรื่อย ๆ แต่จะเป็นการปรับรายพื้นที่

ก่อนหน้านี้มีการปรับในพื้นที่ต่างจังหวัดไปแล้ว ทยอยปรับเป็นทีละชุด ชุดละ 3-4 จังหวัด อย่างปี 2566 รู้สึกว่าจะไม่มีการปรับค่ารอบในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดเข้าใจว่ามีบางพื้นที่ที่ปรับขึ้นค่ารอบ เนื่องจากไรเดอร์หายาก

แต่หลังจากประกาศตัวเลขค่ารอบมาตรฐานที่ลดลงไป ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์ อาจเจอการประท้วงหลากหลายรูปแบบ เช่น ถือป้าย ยื่นหนังสือ ปิดแอปไม่รับงาน แต่ถ้าไปดูตัวเลขรายได้รวมที่เอาค่ารอบมาบวกโบนัส หลาย ๆ เคสมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

สาเหตุหลักของการปรับค่ารอบมาจากความพยายามที่จะรักษาสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย ไม่เกี่ยวกับเรื่องของผลประกอบการหรือการสร้างกำไรของบริษัท

Q : ที่มาของระบบงานพ่วง

เกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องดีมานด์กับซัพพลายในช่วงพีกไทม์เช่นกัน เรามองวิธีการแก้ปัญหาเป็น 2 วิธี อย่างแรกรับไรเดอร์เพิ่ม แต่ในช่วงบ่ายเป็นต้นไปไรเดอร์จะเริ่มว่างงาน และการมีไรเดอร์ในระบบมากเกินไปจะทำให้แย่งงานกันเอง จนนำมาสู่วิธีที่สอง หรือการพ่วงงานให้ไรเดอร์ไปส่งออร์เดอร์มากกว่า 1 ออร์เดอร์ในการวิ่งงานครั้งเดียว

แต่ต้องยอมรับว่า ความยากของระบบงานพ่วง หรืองานที่เป็นส่วนต่อขยาย คือเราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าออร์เดอร์ที่สองจะเข้ามาเมื่อไร ส่วนนี้มี AI และระบบหลังบ้านช่วยคิดเรื่องการจัดสรรงานให้ไรเดอร์ แม้จะมีผลต่อทั้งไรเดอร์และคอนซูเมอร์ แต่ทิศทางของอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นเช่นนี้หมด ทุกคนประสบปัญหาไรเดอร์ไม่พอช่วงพีกไทม์ วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

Q : สาเหตุของการปิดระบบรับงาน

การมีข้อบังคับและบทลงโทษเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาคุณภาพในการให้บริการ อย่างที่เคยเห็นตามข่าวว่ามีไรเดอร์ที่ไปทะเลาะกับลูกค้า บางทีถึงขั้นทําร้ายร่างกาย อันนี้ก็ตรงไปตรงมาว่าเราคงให้อยู่ในระบบต่อไปไม่ได้ กับอีกส่วนเรื่องการทุจริต หรือการซื้อขายบัญชีไรเดอร์ 90% ของการปิดระบบมาจากสาเหตุนี้ ส่วนการปิดระบบจากเรื่องคุณภาพบริการ เช่น ส่งของไม่ครบ ของไม่ถึงมือลูกค้า หรือทำของเสียหาย มีน้อยมาก ๆ

ที่ผ่านมาเรามีการประสานงานกับสมาคมไรเดอร์ไทยอยู่ตลอด ถ้ามีเคสที่โดนแบนแล้วแจ้งไป ทางสมาคมเขาจะส่งเรื่องมาให้เราจัดการต่อแล้วดูว่าเคสพวกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ส่วนใหญ่เป็นเคสซื้อขายบัญชีเกือบทั้งหมด แต่เวลาไรเดอร์ไปร้องเรียนกับสมาคมก็ไม่ได้บอกว่าสาเหตุที่ตนเองโดนแบนเกิดจากการทุจริต

Q : สวัสดิการของไรเดอร์

ถ้าอิงตามกฎหมายแรงงานฉบับปัจจุบัน ฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการใด ๆ รวมถึงฟรีแลนซ์ประเภทอื่น ๆ ที่รับงานเป็นรายชิ้นด้วย แต่ในมุมของเราไม่ได้ไปสุดทางขนาดนั้น เรามีสวัสดิการให้ อย่างแรกคือประกันอุบัติเหตุ ประกาศไปแล้วว่าไรเดอร์ทุกคนที่รับงานกับเรามีประกันอุบัติเหตุให้ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้เราอยากซื้อประกันให้ไรเดอร์ทุกคน แต่ด้วยข้อจํากัดเรื่องงบฯอาจทำให้มีไรเดอร์บางส่วนที่ได้ประกันแบบคุ้มครองทั้งหมด ซึ่งพิจารณาจากจำนวนงานที่รับต่อเดือน ถ้ารับงานเยอะก็มีประกันให้ แต่บางคนที่ไม่ได้ขับเยอะสามารถให้ซื้อเพิ่มในราคาถูกได้ แต่กําลังจะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ที่คุ้มครองทุกคน คาดว่าจะได้ใช้จริงใน มี.ค.นี้

ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ มีเป็นส่วนเสริม เช่น คูปองน้ำมัน ในกรณีที่เราดีลกับปั๊ม หรือในส่วนการอัพเกรดมือถือราคาพิเศษ เราก็ไปดีลกับโอเปอเรเตอร์มาให้ ราคาจะถูกกว่าไปซื้อเอง แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับ แต่เราก็อยากให้สวัสดิการ เพราะต้องการให้ไรเดอร์อยู่กับเราไปนาน ๆ

Q : การสื่อสารกับไรเดอร์

พอจะปรับค่ารอบหรือเปลี่ยนกฎอะไร ก็จะสื่อสารกับไรเดอร์ในหลาย ๆ ช่องทาง นอกจากใช้แอปของคนขับแล้ว ยังมีทีม Community จัดกิจกรรมพบปะไรเดอร์ทั่วไทย เช่น เตะฟุตบอลกระชับมิตร พาไรเดอร์ไปเลี้ยงข้าว หรือกิจกรรมเชิงความรู้ที่จับมือกับกระทรวงแรงงานจัดอบรมการซ่อมมอเตอร์ไซค์ให้ไรเดอร์, จัดงานรับฟังปัญหาจากไรเดอร์หลากหลายกลุ่ม

เราก็พยายามกระจายกิจกรรมไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับไรเดอร์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงมีคอมมิวนิตี้ออนไลน์ในเฟซบุ๊ก และไลน์ที่ทีมจะคอยมอนิเตอร์ตลอด ว่าไรเดอร์กำลังเจอปัญหาอะไรบ้าง

Q : การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

จริง ๆ แล้ว กฎของกรมการขนส่งทางบกจะผูกที่ตัวรถกับคนขับเป็นหลัก ไม่ได้ยุ่งกับแพลตฟอร์มโดยตรง ถ้าเป็นในส่วนของการส่งอาหาร หรือพัสดุจะไม่มีกฎอะไรเลย แต่ถ้าเป็นการส่งคนจะมีเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องมีการขึ้นทะเบียนรถรับจ้างที่ชัดเจน กลุ่มคนที่ผ่านเงื่อนไขการขับรถรับจ้างของกรมการขนส่งฯ แบบถูกต้อง 100% มีน้อยมาก

เราก็ทำงานร่วมกับกรมการขนส่งฯในการพยายามหาทางออกเกี่ยวกับข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างที่ส่งผลกับการทำงานของไรเดอร์ เช่น การขึ้นทะเบียนรถที่ไม่ได้เป็นชื่อของตนเอง หรือเป็นรถที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่ ไปจนถึงการจัดสอบใบขับขี่สาธารณะในวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ไม่สะดวกสอบวันจันทร์-ศุกร์

หรือแม้แต่การขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เราก็ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับทุกหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งฯ และ ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์)

ในแง่การแข่งขันกับแอปใหม่ ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่องก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันในตลาดเสรี ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลวัตถุประสงค์และการให้บริการของแต่ละแพลตฟอร์ม