IBM เตรียมเลิกจ้างฝ่าย “การตลาด-สื่อสาร” คาดเล็งใช้ AI แทนที่

IBM
REUTERS/Dado Ruvic

ยักษ์ “IBM” เตรียมเลิกจ้างพนักงานฝ่าย “การตลาด” และ “การสื่อสาร” คาดเป็นผลจากการลั่นวาจาของ “อาร์วินด์ กริชนา” (Arvind Krishna) ซีอีโอ IBM ที่จะใช้ AI ทำงานแทนพนักงาน 8,000 ตำแหน่ง

วันที่ 14 มีนาคม 2567 สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า ยักษ์ “ไอบีเอ็ม” (IBM) เตรียมเลิกจ้างพนักงานฝ่ายการตลาดและการสื่อสารในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด โดย “โจนาธาน อะดาเช็ก” (Jonathan Adashek) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของ IBM เป็นผู้กล่าวเรื่องนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐ

รายงานระบุว่า แผนการปรับลดพนักงานของ IBM ครั้งนี้ สะท้อนถึงแนวทางการจัดการองค์กรของ IBM ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ “อาร์วินด์ กริชนา” (Arvind Krishna) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IBM เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ว่า บริษัทจะหยุดการจ้างงานในตำแหน่งที่คิดว่าจะถูกแทนที่ด้วย AI ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และคาดว่าเครื่องมือ AI จะสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค. 2566 “อาร์วินด์” ยังเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีด้วยว่า บริษัทกำลังยกระดับทักษะด้าน AI ของพนักงานทุกคนอย่างเข้มข้น หลังจากที่ในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน IBM ประกาศว่าจะนำ AI มาใช้ในการจ้างงาน คิดเป็นการแทนที่ตำแหน่งงานเกือบ 8,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ถือเป็นปีที่มีการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอีกครั้ง โดยข้อมูลบน Layoffs.fyi เว็บไซต์ติดตามการเลิกจ้างของบริษัทเทคโนโลยี ณ วันที่ 14 มี.ค. 2567 ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทที่เลิกจ้างพนักงานกว่า 207 แห่ง คิดเป็น 50,158 ตำแหน่ง

โดยบิ๊กเทคชื่อดังระดับโลก เช่น อัลฟ่าเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) และแอมะซอน (Amazon) ก็ร่วมวงการเลิกจ้างระลอกนี้ด้วย เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร ทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลง และทุ่มการลงทุนไปที่กลุ่มธุรกิจ AI ดาวเด่นของวงการเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ทั้งนี้ IBM ยังต้องเผชิญความท้าทายในการแข่งขันด้าน AI เนื่องจากถูกมองว่าตามหลังบริษัทอื่น ๆ ในการพัฒนาโมเดล AI ของตนเอง แต่ในเดือน พ.ค. 2566 IBM ก็ได้ลบคำปรามาสด้วยการเปิดตัว “WatsonX” หรือแพลตฟอร์มที่รวบรวมเครื่องมือในการพัฒนา ติดตั้ง เชื่อมต่อ และจัดการโมเดล AI และข้อมูลภายในองค์กร มาแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งความสามารถในการสร้างรายได้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งคำถามของหลายฝ่าย เมื่อการขับเคี่ยวในสมรภูมิ AI ดูจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ