ธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กร เทรนด์ AI ติดสปีด “บลูบิค G-Able” โตแรง

พชร อารยะการกุล-ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา
พชร อารยะการกุล-ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา

การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบันตื่นตัว และให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสุดฮอตอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ในมุมมองของ 2 บริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของไทยอย่าง บลูบิค (Bluebik) และจีเอเบิล (G-Able) เห็นตรงกันว่า “AI” เป็นแนวโน้มสำคัญขององค์กรยุคใหม่

AI เทรนด์ทรานส์ฟอร์มองค์กร

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่เสถียรมากขึ้น มีโซลูชั่นใหม่ ๆ เกิดรายสัปดาห์ เช่น Sora โมเดล AI สร้างวิดีโอของ OpenAI และมีกรณีศึกษาในการงานใช้ AI เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการทำงานซ้ำซ้อน เช่นกันกับการยกระดับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ตีคู่กันมา

“ธุรกิจเรามีความพิเศษตรงที่สร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นได้ด้วยโซลูชั่นใหม่ ๆ เช่น HumanOS แพลตฟอร์มจัดการประสิทธิภาพองค์กรมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่ใช้มากในเอสเอ็มอี ก็ขยายมาที่เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นโอกาสที่เราจะลงทุนและพัฒนาเป็นโซลูชั่นใหม่ได้อีกมาก”

หรือโซลูชั่นเกี่ยวกับ AI ก็มีความต้องการอีกมาก แต่ละอุตสาหกรรมมีระดับการประยุกต์ใช้ต่างกัน แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1.เป็นผู้ช่วย 2.ใช้ในการคิดคำนวณ 3.เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และ 4.สร้างนวัตกรรมใหม่จาก AI ซึ่งองค์กรในไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 1-2 ส่วนองค์กรที่จะเข้าสู่ระดับ 3-4 ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องดาต้า และโครงสร้างพื้นฐานมาอยู่แล้ว

ด้าน ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดให้คำปรึกษาหรือช่วยองค์กรทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มมีผู้เล่นมาก แต่เชื่อว่าความต้องการของตลาดยังมีอยู่ และปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

“สิ่งที่ทุกคนทุกองค์กรจับตามอง คือเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เรามองว่าองค์กร ต้องพัฒนาระบบการทำงานของตนให้เป็น AI Ready Organization ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานไอทีบนคลาวด์การทำระบบ Data Analytics ผ่านซอฟต์แวร์ Big Data Platform รวมถึงการวางระบบ Cybersecurity ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกระบบในองค์กรทั้ง Front Office Back Office มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคต”

และ G-Able กำลังเจรจากับบริษัทซอฟต์แวร์ HCM (Human Capital Management Software) รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีผู้ใช้ 65 ล้านคน เพื่อให้บริการลูกค้าองค์กรในไทยเพียงผู้เดียว คาดว่าจะปิดดีลได้ในปีนี้

“การหาพาร์ตเนอร์ จะขยายความสามารถ Capability ใน Business Application หากมองเรื่อง AI แอปสำหรับการบริหารจัดการมนุษย์ หรือ HCM น่าจะนำมาใช้งานได้อย่างดี เนื่องจากนำฐานข้อมูลการทำงาน ประวัติ และอื่น ๆ เป็น Big Data และ AI มาใช้ทำ Talent Analytics, Skill Management และสร้าง Productivity และ Efficiency ของพนักงานแต่ละส่วนงาน วิเคราะห์และนำไปสู่การวางแผนเรื่องค่าตอบแทน เรื่องการพัฒนาทักษะ และอื่น ๆ”

รวมถึงโปรแกรม ERP ที่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว เพราะทรัพยากรที่สำคัญ คือ “คน” จากข้อมูลของการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า การเติบโตเฉลี่ยของตลาดซอฟต์แวร์ HCM ในอีก 3 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 18%

ธุรกิจให้คำปรึกษาโตแรง

นายพชรเปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2566 ด้วยว่า มีรายได้อยู่ที่ 1,313 ล้านบาท โตขึ้น 133% มากกว่าเป้าหมาย มีกำไรสุทธิ 303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% ทำสถิติกำไรนิวไฮ ส่วน Backlog หรือยอดสะสมของงาน ณ สิ้น ธ.ค. 2566 มีมูลค่าราว 863 ล้านบาท ในจำนวนนี้มาจากบลูบิค 709 ล้านบาท และบริษัทร่วมทุนอีก 154 ล้านบาท เตรียมรับรู้รายได้ในปีนี้ 579 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้หลังปี 2567 ส่วนในบริษัทร่วมทุนจะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้

“การเติบโตของบลูบิคปีที่แล้ว มาจากความต้องการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นผ่านการเติบโตในส่วนงานด้านบริการที่ปรึกษาเชิงลึกด้านดิจิทัล และพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กร และบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง รวมถึงความสำเร็จในการดำเนินแผนยุทธศาสตร์การสร้าง Synergy ระหว่างบริษัทในเครือ ที่ทำให้บริษัทรับงานได้มากขึ้น”

ด้าน นางสาวรวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหารสายงานการเงิน และกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินการ 5,338 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 13% กำไรสุทธิ 253 ล้านบาท มี Backlog สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระดับ 4,544 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2566 ราว 16%

“แม้จะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบทั้งความผันผวนของปัจจัยระดับมหภาคและอุตสาหกรรมมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่จีเอเบิลยังเติบโตสวนกระแสเป็น Double Digit ได้ในทุกส่วนธุรกิจ ทั้ง Enterprise Solution, Value Added Distribution และ Software Platform”

เปิดแผนธุรกิจปี 2567

นายพชรกล่าวว่า รายได้กว่า 90% มาจากภาคเอกชน แต่ปีนี้จะเพิ่มน้ำหนักงานภาครัฐมากขึ้น เพราะเห็นโอกาสจากการผลักดันนโยบายด้านดิจิทัล มีธุรกิจแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.Consulting Services 60% 2.Digital Platforms 30% และ 3.ธุรกิจต่างประเทศ 5% ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10-15%

ทั้งประมาณการว่าการลงทุนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในไทยยังเติบโต 10-11% ซึ่งบริษัทพยายามสร้างการเติบโตแบบ Organic โดยบูรณาการการทำงานระหว่างบริษัทในเครือ เช่น Bluebik Titan ที่ทำเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์, Bluebik Vulcan ทำเรื่องการพัฒนาระบบหลังบ้าน และ Innoviz พัฒนาระบบ ERP เพื่อสร้าง Economy of Scale และขยายการบริการในกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมกับสร้างการเติบโตแบบ In-Organic ที่เกิดจากดีลควบรวมกิจการใหม่ ๆ

“2-3 ปีที่ผ่านมา มีดีล M&A และร่วมทุนราว 8 ดีล อย่าง ก.พ.ปีนี้ เราก็เข้าไปถือหุ้นใน Innoviz เพิ่มอีก 30% คิดเป็นมูลค่าที่ใช้เข้าซื้อหุ้นราว 230 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันถือหุ้นใน Innoviz 85% ปีนี้คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจาก Bluebik Vulcan และ Innoviz แม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจ ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุน แต่ก็มองว่าเป็นข้อดีที่ช่วยให้เกิดดีล M&A หรือการตัดสินใจขายบริษัทกับเราง่ายขึ้น”

ดร.ชัยยุทธกล่าวว่า กลยุทธ์ใน 2567 นี้ G-Able น่าจะเป็นผู้เชื่อมต่อระบบกับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระดับโลกที่ยังไม่เข้ามาเปิดในไทย แต่มีความสำคัญและเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบงานในองค์กร ซึ่งต้องการทั้งการหาพาร์ตเนอร์ และการไปลงทุนในผู้พัฒนา Business Application รายใหม่ ๆ เสริมธุรกิจหลัก ประกอบด้วย Data Analytics, Cloud, Cybersecurity, Application Development และ Managed Tech Services รวมกับ IP Platform ของตัวเอง

“การโตจากข้างล่างด้วยเแพลตฟอร์ม-ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ของเราอาจไม่เพียงพอ เราจึงสนใจที่จะลงทุนในบริษัทที่ทำ Business Application ที่ตอบโจทย์ธุรกิจของเรา ที่สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้จากเงินทุน 600 ล้านบาท ที่คงเหลือจากการ IPO ภายใต้กรอบที่มุ่งเน้น 3 เรื่อง คือ 1.Right Product Right Technology 2.Win-Win Business Synergy และ 3.Right Price Right Value”

การขยายตลาดต่างประเทศ

นายพชรกล่าวว่า บลูบิคมีสำนักงานใน 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินเดีย และสหราชอาณาจักร มีพนักงานรวม 900 กว่าคน ปีนี้จะขยายทีมเป็น 1,000 คนรองรับการเติบโต 80% เป็นทีมนักพัฒนาและดูแลระบบ ส่วนที่เหลือเป็นทีมวางแผนธุรกิจ ซึ่งการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มจะมองตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

“เราไปต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีก่อน เริ่มที่สหราชอาณาจักร เพราะมีพาร์ตเนอร์เป็นคนในพื้นที่ เน้นที่การขาย ชูจุดเด่นโซลูชั่นราคาย่อมเยา ออฟฟิศเราที่นั่นจะลีนมาก ส่วนออฟฟิศในอินเดียเป็น Technology Center ไม่เน้นการขาย แต่เวียดนามจะคล้าย ๆ ไทย มีทั้งออฟฟิศสำหรับขาย และพัฒนาโซลูชั่น”

ดร.ชัยยุทธกล่าวว่า ธุรกิจไอทีที่จะไปทำตลาดต่างประเทศได้ ต้องเป็น Software as a Services หรือ SaaS โดยประเทศที่น่าสนใจ คือประเทศที่มีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่กำลังจะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม แน่นอนว่าสิงคโปร์ เป็นตลาดที่มีความเสถียรแล้ว อยู่ระหว่างพูดคุยที่จะเข้าไปให้บริการ ขณะที่ตลาดลูกค้าองค์กรในเวียดนามก็ร้อนแรง เช่นกันกับ อินโดนีเซีย และด้วย SaaS มีลักษณะการให้บริการที่ข้ามพรมแดนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ต้องส่งคนไป ซึ่ง G-Able มีซอฟต์แวร์ที่ให้บริการองค์กรเป็น IP ของตนเองมากกว่า 3 แพลตฟอร์ม จึงขยายออกไปได้ง่าย

“การที่ G-Able เป็นเจ้าของ IP Software Platform สำหรับภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในหลายด้าน ถือเป็น Growth Engine สำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนรายได้ประจำที่ได้จาก 3 แพลตฟอร์มที่เป็น IP ของเราเอง คิดเป็น 2.4% หรือร้อยกว่าล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 5.3 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา”