AI ทำงานแทนคน บริษัทเทคทยอยเลิกจ้าง

AI ทำงานแทนคน
Image by Freepik

สำรวจสถานการณ์จ้างงานของบริษัทเทคโนโลยี ในวันที่ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยมือดีในองค์กร หลายแห่งวางแผนลดการจ้างงาน ฝ่ายสนับสนุน มอง AI ช่วยให้เกิดการทำงานแบบอัตโนมัติได้

วันที่ 12 มกราคม 2567 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา AI ได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการลดเวลาในการทำงาน จนหลาย ๆ บริษัทตัดสินใจนำโซลูชั่นเกี่ยวกับ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านการใช้ AI เป็นผู้ช่วยมือดี

แน่นอนว่า AI เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณประโยชน์มหาศาล แต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของ “มนุษย์” เช่นกัน

ถ้า AI เก่งขึ้นกว่านี้ มนุษย์ยังจำเป็นกับการทำงานหรือเปล่า ?

AI จะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์หรือไม่ ?

แม้หลายฝ่ายจะแสดงความเห็นว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ในการทำงานเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วภาพของผลกระทบจากการเข้ามา “แทนที่” ของ AI ก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ตามเวลาไทย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า แพลตฟอร์มเพื่อการฝึกภาษา “Duolingo” ตัดสินใจลดการจ้างพนักงานสัญญาจ้างจำนวน 10% เนื่องจากบริษัทได้นำ generative AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบบริการและฟีเจอร์การใช้งานบนแพลตฟอร์ม  ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานชั่วคราวที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกันเท่าแต่ก่อน

ตัวแทนของ Duolingo กล่าวว่า การลดจำนวนพนักงานครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการนำ AI เข้ามาแทนที่โดยตรง แต่เป็นการลดความซ้ำซ้อนของตำแหน่งของพนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งพนักงานประจำของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม Duolingo ได้เริ่มนำ generative AI เข้ามาใช้งานในบริษัทเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

“ลูอิส วอง แอน” (Luis von Ahn) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Duolingo กล่าวในจดหมายที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นว่า บริษัทกำลังใช้ generative AI ในการสร้างเนื้อหาใหม่บนแพลตฟอร์ม เช่น บทเรียนหรือการสนทนาที่ใช้ในการสอนภาษา ซึ่งช่วยให้พนักงานของเราทำงานเร็วขึ้นจากเดิมมาก

“บริษัทยังใช้ AI ในการสร้างสื่อการสอนด้วยเสียงภายในแอป และได้เปิดตัว Duolingo Max หรือบริการระดับพรีเมี่ยมที่มาพร้อมการให้คำแนะนำและการสนทนาในภาษาอื่น ๆ ที่สร้างโดย AI”

และไม่ได้มีเพียง Duolingo เท่านั้นที่นำ AI เข้ามาใช้ในองค์กร จนสามารถลดความซ้ำซ้อนในการจ้างพนักงานได้ แต่ยังมี “Chegg” แพลตฟอร์มที่ให้บริการสอนทำการบ้านออนไลน์ ที่ตัดสินใจลดการจ้างพนักงาน 4% และนำ AI มาใช้ในการสอน เนื่องจากนักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียนรู้กับแชตบอตมากขึ้น

อีกทั้งในเดือน พ.ค. 2566 “อาร์วินด์ กริชนา” (Arvind Krishna) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IBM กล่าวว่า บริษัทจะหยุดการจ้างงานในตำแหน่งที่คิดว่าจะถูกแทนที่ด้วย AI ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประมาณ 30% ของงานฝ่ายสนับสนุนในออฟฟิศ เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่เครื่องมือ AI จะสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ รายงานการประชุมของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เผยแพร่ในเดือน เม.ย. 2566 เปิดเผยว่า AI อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้การนำ AI มาใช้ในองค์กรจะเป็นผลดีต่อนายจ้างที่แสวงหาพนักงานที่มีทักษะด้านเทคนิคมากขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบกับการปรับตัวและการพัฒนาทักษะของคนทำงานเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงบิ๊กเทคที่ลงทุนและพัฒนาโซลูชั่นเกี่ยวกับ AI อย่างเข้มข้น เช่น “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ด้วย ซึ่ง Microsoft ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับสหภาพแรงงานและสภาองค์กรอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย สหภาพแรงงาน 60 สหภาพ ที่เป็นตัวแทนของคนงาน 12.5 ล้านคน เพื่อจัดฝึกอบรมและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งาน AI อย่างถูกต้องกับสมาชิกในสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ “แบรด สมิธ” (Brad Smith) รองประธานของ Microsoft กล่าวในงานประกาศความร่วมมือกับสหภาพแรงงานว่า “ผมไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า AI จะไม่เข้ามาแทนที่ในตำแหน่งงาน เพราะ AI ได้รับการออกแบบมาเพื่อกำจัดการทำงานที่น่าเบื่อหน่าย และใช้แรงคนโดยไม่จำเป็น”