ไลน์แมนมั่นใจจุดแข็งปูพรมสู่หัวเมืองรับแข่งเดือด

LINE MAN เตรียมขยายสู่หัวเมืองใหญ่รับตลาดแข่งเดือดรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ชูจุดแข็งออนดีมานด์-เรียกใช้ได้เร็วสุด ต่อยอดฐานผู้ใช้แอปแชต 44 ล้านคน โชว์ผลงานปี’61 โต 300%

นายชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการการตลาดและสื่อสารองค์กร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลัง LINE MAN เปิดให้บริการมากว่า 2 ปี ปัจจุบันมี 5 บริการหลัก ได้แก่ บริการสั่งอาหาร, ส่งพัสดุ, เมสเซนเจอร์, สั่งของจากร้านสะดวกซื้อ และบริการเรียกแท็กซี่ โดยมีอัตราการเติบโตทั้งในแง่ของจำนวนการเรียกใช้งานและผู้ใช้งาน ในปีที่ผ่านมาถึง 300% มียอดผู้ใช้งาน 1.5 ล้านรายต่อเดือน

โดยบริการ “สั่งอาหาร-เรียกรถแท็กซี่” ได้รับความนิยมสูงสุด ตามมาด้วยส่งพัสดุ, เมสเซนเจอร์ และสั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ผู้ใช้กว่า 50% อายุ 24-35 ปี ส่วนอายุ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสเติบโต เพราะมีกำลังซื้อและไม่ค่อยมีเวลา ส่วนอายุต่ำกว่า 24 ปี จะค่อย ๆ ตามมา เพราะชินกับการใช้สมาร์ทโฟน

“บริการสั่งอาหาร เติบโต 250% โดยมีจุดแข็ง คือ พาร์ตเนอร์ร้านค้ากว่า 4 หมื่นร้าน มากกว่าคู่แข่ง โดย 80% เป็นสตรีตฟู้ด ระยะเวลารับสินค้า 40 นาที ตั้งแต่สั่งอาหารที่สั่งมากที่สุด ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมู, ข้าวมันไก่, ข้าวเหนียวหมูทอดและข้าวขาหมู และชานมไข่มุกมาแรง” ส่วน “เมสเซนเจอร์” บริการส่งด่วนในกรุงเทพฯและปริมณฑล เรียกได้ 24 ชั่วโมง ปัจจุบันเป็นพาร์ตเนอร์กับลาลามูฟ มีรถมอเตอร์ไซค์ 35,000 คันในการให้บริการทั้ง 2 บริการนี้

ขณะที่บริการเรียก “แท็กซี่” เปิดให้บริการ 6 เดือน เติบโต 330% จุดแข็ง คือ ค่าบริการคิดตามมิเตอร์ มีค่าเรียกเพียง 20 บาท ปัจจุบันมีรถ 9 หมื่นคัน และได้ปรับระบบให้เรียกรถได้เร็วขึ้น ส่วนบริการ “ส่งพัสดุ” เป็นพาร์ตเนอร์กับนินจาแวน ในช่วง 11/11 และ 12/12 เติบโต 4 เท่า โดยจุดแข็ง คือ ราคาใกล้เคียงกับการส่งสินค้าเอง และเข้ารับถึง 4 ทุ่ม ขณะที่คู่แข่งรับถึง 1 ทุ่ม โดยเวลาส่งเฉลี่ย 29 นาที ระยะทางเฉลี่ย 14 กม.

“ตลาดแข่งขันกันเยอะ ซึ่งเชื่อว่าทุกรายมีต้นทุนด้านขนส่งเท่ากัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับใครจะยอมหั่นราคา แต่เชื่อว่าคนเข้ามาใช้ เพราะเขาอยากใช้ ไม่ใช่เพราะโปรโมชั่น เวลาเฉลี่ยในการเรียก LINE MAN ตอนนี้เร็วที่สุดในตลาดที่ 12.3 วินาที จากเดิม 13.9 วินาที

ส่วนบริการอื่น ๆ ที่มีการใช้นอกจากฟังก์ชั่นหลัก ก็ต้องรอดูยอดใช้ ต้องยอมรับว่ามีหลายบริการที่มีโอกาสเพิ่มเป็นฟีเจอร์หลัก อาทิ สั่งซื้อของในโมเดิร์นเทรดได้ ขนาดรถแท็กซี่ที่ใหญ่ขึ้นรองรับกระเป๋าเดินทาง ส่วนกำไรตอนนี้ยังไม่ได้ทำกำไร และยังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะเริ่มได้เมื่อไร ยังอยู่ในช่วงลงทุนเพื่อเติบโต แต่ตั้งเป้าให้เสนอบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ เพราะถ้าทำได้ตรงใจรายได้ก็จะตามมา”

ขณะเดียวกัน ได้วางแผนจะขยายบริการไปในต่างจังหวัด จากเดิมที่บริการหลัก ๆ ยังแค่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะที่ฝั่งบริโภคเริ่มตื่นตัวในการใช้บริการแล้ว รวมถึงการปรับปรุงระบบการขอใบกำกับภาษีให้ทำได้เร็วขึ้น รองรับลูกค้าองค์กร และระบบอีเพย์เมนต์ในการชำระเงินให้ครอบคลุมทุกบริการจากปัจจุบันใช้ได้เฉพาะฟู้ดและแท็กซี่ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนา

“ปี 2562 มั่นใจว่าผู้เล่นในตลาดจะยิ่งมากขึ้น ทำให้ตลาดอย่างร้านสะดวกซื้อที่เป็นพาร์ตเนอร์ก็เริ่มมาส่งสินค้าตรงถึงลูกค้าเอง ซึ่งก็ไม่ได้กังวลเพราะยังเป็นเฉพาะพื้นที่ใกล้ ๆ ร้าน แต่การแข่งขันจะยิ่งทำให้ตลาดโตมากขึ้น ซึ่ง LINE MAN อยู่ในตลาดมานาน จึงทำให้มีข้อมูลอินไซต์ของลูกค้า และด้วยฐานผู้ใช้ LINE กว่า 44 ล้านคน ทำให้มีจุดแข็งที่ได้เปรียบกว่า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา มองว่าจะกลายเป็นข้อดี ที่ทำให้คนสั่งอาหารมากขึ้น เพราะประหยัดค่าเดินทางและไม่ต้องเสียเงินไปกับของที่เดินผ่าน เพียงแต่อาจจะทำให้ตลาดโตน้อยลง ซึ่งตลาดดีลิเวอรี่ในอาเซียนมีสัดส่วนแค่ 5% ขณะที่ในจีนสูงถึง 30% จึงยังโตได้อีกมาก แต่ในไทยกว่าจะไปถึงระดับนั้นอาจต้องใช้เวลาราว 5 ปี”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!