บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ นับหนึ่ง “ควบรวม” อีกครั้ง

แนวคิดการควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ใกล้ความจริงมากสุดคือ ในรัฐบาล “คสช.” ที่มีมติให้ควบรวมเป็น “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” โดยเมื่อ มิ.ย. 2562 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้นำรายละเอียดทั้งหมดเสนอเข้า ครม. เป็นรอบสุดท้ายเพื่อกดปุ่มเริ่มควบรวมทันที แต่ต้องหยุดชะงักเมื่อรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น ระบุว่าควรให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

แต่เมื่อ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีกระทรวงดีอีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ได้ระบุว่า “จะยังไม่นำเรื่องเข้า ครม.” จนกว่าจะมีแผนรองรับในทุกมิติอย่างชัดเจน เพราะยังมีอีกหลายประเด็น

ที่ยังไม่มีรายละเอียด อาทิ การจัดการทรัพย์สินของแต่ละฝ่าย แผนธุรกิจในอนาคต ที่จะต้องครอบคลุมในทุกมิติ

“การควบรวมทีโอทีแคท ยังอยู่ในช่วงการศึกษาข้อมูล ทรัพย์สิน บุคลากรของแต่ละองค์กรจะบริหารจัดการอย่างไร อยากให้มองที่ผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แล้วค่อยหยิบแต่ละประเด็นมาแก้ให้เรียบร้อย ขั้นตอนนี้ต้องมีแผนรองรับให้ชัด ก่อนที่จะนำเรื่องเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง ถ้าไม่มีก็ยังไม่เอาเข้า เพราะผมจะไม่สามารถตอบคำถามกับ ครม.ได้”

ขณะที่ “งานแรก” ที่รัฐมนตรีดีอีคาดหวังให้ “แคท” เร่งดำเนินการ คือ การให้บริการคลาวด์กลางของภาครัฐ ที่จะรองรับบิ๊กดาต้า ซึ่งแคทได้มีโครงการ GDCC ที่เริ่มศึกษาไว้อยู่แล้ว และจะขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนเบื้องต้นจากกองทุนดีอี แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อวางกรอบในการอนุมัติเงินกองทุนให้โปร่งใส ชัดเจน

“จะประสานรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ที่เพิ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกองทุน ทราบถึงวาระที่รอพิจารณา และโครงการที่รออนุมัติอยู่ รวม ๆ กว่า 800 ล้านบาท”

แต่เบื้องต้นโครงการ GDCC น่าจะเข้าเกณฑ์ของกองทุน เพราะไม่ได้แสวงหากำไร และเปิดให้หน่วยงานรัฐได้ใช้บริการเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น มีระบบงานที่มีมาตรฐานเดียวกันในการเก็บข้อมูล โดยน่าจะใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท มี 80 หน่วยงานภาครัฐที่แจ้งความจำนงขอใช้บริการแล้ว และเฟสแรกจะพร้อมดำเนินการได้ภายใน 2 เดือน หลังได้งบประมาณ ซึ่งจะรองรับได้ 40 หน่วยงานเร่งด่วนก่อน

“บิ๊กดาต้าเป็นหลายเรื่องที่คนคาดหวัง และเกี่ยวข้องกับกระทรวงดีอี ซึ่งหลายหน่วยงานราชการยังต้องการความช่วยเหลือด้านเทคนิค ให้เกิดบิ๊กดาต้าได้ ขณะที่แคทมีบริการที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลให้มีความปลอดภัย ทั้งคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ จึงจะผลักดันให้เกิดการจัดทำบิ๊กดาต้าตามแต่ละยุทธศาสตร์ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประมวลผล ทั้งในแง่การพัฒนา การจัดทำงบประมาณ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งภาครัฐ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล”

และเมื่อค่อย ๆ เริ่มต้นจากทีละยุทธศาสตร์จะนำไปสู่การรวมข้อมูลของประเทศในภาพใหญ่ได้ง่ายขึ้น ขณะนี้ขอเวลาในการหารือเพื่อเลือกยุทธศาสตร์ที่จะใช้นำร่องโครงการ

นอกจากนี้ยังอีกหลายมิติที่แคทจะต้องทำในด้านธุรกิจ การขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่การแข่งขัน อย่างสมาร์ทซิตี้ ธุรกิจไอทีซีเคียวริตี้ ที่แคทมีต้นทุนที่ดีกว่าจากโครงข่ายที่ครอบคลุม รวมถึงจุดให้บริการที่มีอยู่เดิม บุคลากรที่เข้าใจพื้นที่อยู่แล้ว

“ที่ผ่านมา แคทให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก การออกไปแข่งขันกับภาคเอกชนและประชาชนยังน้อย ก็ต้องขยายฐานของตัวเองไป แต่แคทเองมีหมวก 2 ใบ ที่ต้องดำเนินการ คือมีทั้งหมวกที่ดูแลประชาชน โดยไม่ได้มุ่งที่กำไรเป็นหลัก แต่อีกหมวกก็ต้องมีรายได้เลี้ยงองค์กร ซึ่งการบาลานซ์ไม่ง่าย เพื่อให้อยู่รอดได้ในการแข่งขันยุคปัจจุบัน”