“ดีอี”ปักธง 3 เดือนคลอดศูนย์สกัดข่าวปลอมตั้งเป้าภายใน 2 ชั่วโมงเคลียร์ประชาชนให้ชัด “จริง-เท็จ”

“ดีอี”เร่งตั้งศูนย์แก้ปัญหาข่าวปลอม ขีดเส้น 3 เดือนพร้อมลุยเช็คข่าว “จริง-ปลอม”ให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง เตรียมหาทางผนึกกำลัง “เฟซบุ๊ก-กูเกิล-ไลน์” ยืนยันไม่ก้าวก่ายการแสดงความเห็นส่วนบุคคล ไม่พุ่งเป้ากลั่นแกล้งใคร ไม่ยุ่งเรื่องส่วนตัว

นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยความคืบหน้าในการตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ในการประชุมครั้งแรก ทุกคนเห็นตรงกันว่า  การส่งต่อทางโซเชียลมีเดียแพร่ระบาดอย่างมาก และส่งผลเสียหายต่อสังคม  จากนี้จะเริ่มวางกรอบว่า ศูนย์แห่งนี้จะรับผิดชอบในส่วนใด และส่วนใดไม่เข้าข่าย ซึ่งตั้งเป้าจะให้ศูนย์นี้เริ่มทำงานได้ภายใน 3 เดือน

หลักการสำคัญคือจะมุ่งที่ผลกระทบต่อสังคม อาทิ ข่าวปลอมเกี่ยวกับภัยพิบัติ ยาเสพติด ยารักษาโรค

โดยอำนาจหน้าที่จะเน้นที่การทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ข้อมูลหลายๆ ด้าน เป็นข้อมูลเท็จเพราะอะไร  ส่วนการติดตามเพื่อเอาผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะยังอยู่ภายใต้กรอบอำนาจของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานตามกฎหมายเดิม

นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างช่องทางโซเชียลมีเดียให้ประชาชนแจ้งถึงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น และเป็นช่องทางแจ้งเตือนจากทางการรวมถึงรวบรวมข่าวที่ถูกต้องไว้ในเดียวกัน

“จะขอให้แต่ละกระทรวงระบุบุคคลที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้จุดเช็คข้อมูลว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นจริงหรือเท็จอย่างไรเพื่อจะได้รีบแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยควรจะรีบชี้แจงกับประชาชนให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมงว่าเป็นข่าวจริงหรือปลอม และภายใน 3 เดือนข้างหน้าจะพยายามทำให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง”

ทั้งยังได้หารือกับ LINE เพื่อให้แจ้งเตือนในแอปพลิเคชั่นว่า ขณะนี้กำลังมีข่าวปลอมอะไรที่ต้องระมัดระวัง

“Fake News อาจจะไม่ได้เป็นข่าวอย่างเดียว แต่เป็นการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งจะแยกออกจากการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ผู้นั้นระบุชัดเจนและพร้อมจะรับผิดชอบ ซึ่งในส่วนความคิดเห็นส่วนตัว เราจะไม่เข้าไปยุ่ง แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การตัดต่อข้อมูล อ้างอิงส่วนราชการหรือการกล่าวอ้างถึงบุคคลอื่นว่าเป็นคนยืนยันข้อมูล”

อีกหน้าที่ที่สำคัญคือ การให้ความรู้แก่สังคม ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้ประชาชนเสพสื่ออย่างมีภูมิคุ้มกัน อาทิ อาจจะมีถึงขั้นทำเป็นหลักสูตรของสถาบันการศึกษา เหมือนในต่างประเทศที่จะบรรจุวิชาให้รู้เท่าทันสื่อ เป็นการป้องกันและระมัดระวังตัวเองก่อน

“ยืนยันว่าไม่มุ่งเน้นจะทำร้ายใคร เน้นที่เรื่องที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน อาทิ เรื่องภัยพิบัติ การใช้ยารักษาโรค จะเลือกเฉพาะเรื่องที่เป็นกระแส และเฉพาะที่เป็นประเด็นจริงๆ ไม่ได้ตรวจทุกเรื่อง  ซึ่งยิ่งขยายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยตรวจสอบช่วยเช็คข้อมูล จะยิ่งสกัดกั้นได้เร็วขึ้น ไม่ได้เป็นการทำงานที่ซับซ้อนกัน เพราะที่ผ่านมามีหน่วยงานต้องการทำเรื่องนี้เหมือนกัน แต่มีอุปสรรคเรื่องการประสานงานเพื่อตรวจเช็คข้อมูล”

ทั้งการมีศูนย์ฯ นี้ จะทำให้มีข้อมูลชัดเจนว่า เกิดข่าวปลอมและมีการแจ้งแก้ไขแล้ว ณ วันเวลาเท่าไร ซึ่งหากหลังจากนั้นยังมีการแชร์ข่าวปลอม ก็จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ได้ทันที  ทั้งยังเป็นการรวบรวม Fake News เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจค้นได้ตลอดเวลา เพราะ Fake News ส่วนใหญ่จะถูกวนส่งต่อซ้ำๆ

“กูเกิล กับเฟซบุ๊ก ก็จะต้องมีการหารือ เพราะทั้ง 2 รายก็มีหน่วยงานที่ดูแลป้องกันข่าวปลอมของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำได้ตามมาตรฐานที่เขาระบุไว้ ก็จะทำให้เขาบล็อกหรือสกัดกั้นการส่งต่อได้ ซึ่งจะช่วยเราได้เยอะ หรือแม้แต่แค่มีสัญลักษณะที่บ่งบอกได้ว่า ตรวจสอบแล้ว ว่าจริงหรือปลอม  ซึ่งในหลายประเทศก็มีการหารือร่วมกับอยู่แล้ว”