ดีอีพลิกปั้น “ดิจิทัลวัลเลย์” เตรียมโรดโชว์ดึงทุนตปท.

ดีอีปักธง “ดิจิทัลวัลเลย์” ลุยพลิกโฉมโครงการดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา รองรับ tech company แบบครบวงจร จัดครบทั้ง R&D และพื้นที่ธุรกิจ เตรียมโรดโชว์ต่างประเทศหวังดึงเอกชนเข้าลงทุน ฟาก “ดีป้า” ได้เงินเฉียด 1.5 พันล้าน ประเดิม 2 อาคาร ถือฤกษ์ 9-9 ตอกเสาเข็ม 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมยกระดับการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (ดิจิทัลพาร์ค) ให้เป็น “ดิจิทัลวัลเลย์” เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยราวเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จะเดินทางไปโรดโชว์เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหาผู้บริหารพื้นที่ดิจิทัลพาร์คในรูปแบบ PPP (public private partnership) อาจจะปรับ TOR เงื่อนไขทางเทคนิคเล็กน้อย เพื่อดึงดูดเอกชนให้มากขึ้น

“เดิมเน้นเป็น R&D เพื่อวิจัยและพัฒนา โอกาสที่จะดึงเอกชนมาลงทุนก็จะจำกัด เมื่อเป็นดิจิทัลวัลเลย์ก็จะปรับโทนให้พื้นที่ธุรกิจมากขึ้น เพื่อดึง tech company เข้ามาอยู่ให้ได้มากที่สุด การประมูลก็อาจจะดีเลย์ไปนิดหน่อย แต่ทุกอย่างน่าจะลงตัวก่อนปลายปีนี้”

ขณะที่นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะปรับคือพื้นที่ภายใต้การดูแลของดีป้า 30 ไร่ ซึ่งเดิมจะทำเป็น IOT and Digital Innovation Institute พื้นที่รวมกันเกือบ 1 แสน ตร.ม. มีทั้งหมด 4 ตึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา

“จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นจากการเป็นแค่ innovation lab, R&D ก็จะสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดการลงทุนของบริษัทใหญ่ สร้างบรรยากาศของวัลเลย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น แต่ส่วนของสถาบัน IOT, AI, big data, 5G innovation ก็ยังอยู่ ตั้งเป้าให้ tech company ที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว ขยายการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็น innovation base มากขึ้น เช่น นำศูนย์ AI, 3D printing หรืออย่าง Huawei University มาตั้ง ไม่ใช่ให้ไทยเป็นแค่ตลาดซื้อมาขายไป ซึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่มาลงทุนในพื้นที่นี้ เทียบแล้วเชื่อว่าเราสู้กับที่สิงคโปร์ได้”

ส่วนการก่อสร้างจะเริ่ม 2 อาคารก่อน ด้วยวงเงินราว 1,467 ล้านบาท โดยจะเริ่มตอกเสาเข็มอาคารแรก 9 ก.ย.นี้ ส่วนอาคาร 2 จะถัดไปอีกไม่กี่สัปดาห์ โดยพื้นที่ 60% จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ส่วนอีก 40% จะเป็นพื้นที่อินฟราสตรักเจอร์ส่วนกลาง ซึ่งดีป้าจะเป็นคนลงทุนพัฒนา

“รูปแบบการเข้ามาลงทุนมีหลากหลาย อาทิ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์บนพื้นที่แลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขบางอย่าง จะมีการเจรจาเป็นราย ๆ ไป ไม่ใช่ให้ทุกคนมาเช่าพื้นที่เป็นออฟฟิศเท่านั้น ถ้าเขาอยากทำเป็นศูนย์ AI แต่ยังขาดคน ดีป้าก็จะเข้าไปช่วยพัฒนาคนให้ แต่ในทางกลับกัน ทางเอกชนก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย เป็นรูปแบบ G2G (government to government)”