เชื่อม Digital Identity ภารกิจ NDID ก้าวสำคัญสู่ 4.0

เริ่มนับหนึ่งการใช้ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล (digital identity) สำหรับให้บริการการทำธุรกรรมทางการเงินกับประชาชนอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า ภายใต้แพลตฟอร์มของ NDID บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

“บุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NDID ระบุว่า กระบวนการจากนี้ 30 บริษัท ทั้งกลุ่มธนาคาร กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ทำความร่วมมือกันกับ NDID คือ บริษัทที่ได้ร่วมทดลองทดสอบและผ่านเกณฑ์พร้อมจะให้บริการจริง จากกว่า 150 บริษัทที่สมัครเข้ามาโดยบริการแรกๆ ที่ประชาชนจะได้เริ่มใช้คือ การเปิดบัญชีทำธุรกรรมการเงินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคาร บัญชีหลักทรัพย์ ประกันภัย และกำลังขยายไปที่บัญชีสินเชื่อ

“เพิ่ง MOU กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้กับการให้บริการตาม พ.ร.บ.ปฐมภูมิสุขภาพ ที่กำหนดให้แต่ละครอบครัวต้องมีแพทย์ประจำ และแพทย์จะสามารถดูข้อมูลการรักษาของคนไข้ในความดูแลของตัวเองได้ ไม่ว่าจะไปรักษาที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย ซึ่งระดับของ NDID จะเข้าไปช่วยทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า การอนุญาตให้สิทธิ์กับแพทย์เกิดขึ้นโดยบุคคลเจ้าของข้อมูลจริง ๆ หรือไม่ และเชื่อมกับระบบของโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มนำร่องไปก่อน 3-4 ร.พ. เพราะฐานข้อมูล ร.พ.เป็นเรื่องยากกว่าแค่เป็น digital identity”

เป้าหมายเฟสแรกที่อยากเห็นได้ในปีหน้า คือการเชื่อมต่อการเปิดบัญชีธุรกรรมต่าง ๆ ด้วย digital identity ทั้งในภาครัฐกับเอกชน และตอนนี้ก็กำลังจะตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันในส่วนของ digital identity นิติบุคคลด้วย แต่ก็คงต้องค่อย ๆ ทำไป เพราะฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับนิติบุคคล ยังไม่ได้เป็นดิจิทัล การจะแปลงให้มาสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องง่าย

“การผลักดันก็ต้องเข้าใจบริบทด้วยว่า ทุกอย่างไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนการทำงานเบื้องหลังหลายอย่าง สะสางกับของเดิม แต่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งลงมือทำด้วย เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่รู้จะเริ่มได้วันไหน”

ขณะที่อุปสรรคสำคัญคือ การเปลี่ยนฐานข้อมูลเดิมที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ให้เป็นดิจิทัล และธนาคาร หน่วยงานที่เข้ามาเชื่อม ต่างมีระบบยืนยันตัวตนอยู่แล้ว ก็ต้องให้ได้มาตรฐานเดียวกันและแม้ระบบของ NDID จะไม่ได้ลงทุนหลักหลายร้อยล้านหรือพันล้านบาท เพราะการฟอร์มระบบขึ้นมา มีทั้งส่วนที่เป็นอาสาสมัคร และมีทีมเทคนิคที่กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งขึ้นมาสนับสนุนในการโค้ดดิ้ง แต่ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเข้ารหัส จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

และหากเลวร้ายสุดถูกเจาะระบบจะเจอแต่ timestamp log ทั้งระบบของ NDID ยังจะถูกกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เนื่องจากเป็นระบบดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับล่าสุดส่วนความท้าทายสำคัญจากนี้คือ การประสานงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า การเข้ามาร่วมจับมือกันมีโครงสร้างเดียวดีกว่าต่างคนต่างทำ