คดีละเมิดสิทธิ์ซอฟต์แวร์พุ่ง บีเอสเอย้ำใช้ผิดเสี่ยงถูกแฮก

สถิติคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทยยังพุ่ง ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.73 ค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกมาก แต่อัตราลดลงดีกว่า 10 ปีก่อน บีเอสเอ ย้ำยิ่งละเมิดองค์กรยิ่งเสี่ยงถูกแฮก

พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ ในปี 2562 มีทั้งหมด 469 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ร้อยละ 18.73 มูลค่าความเสียหายนั้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยรวมมากกว่า 464 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ร้อยละ 29.80

โดยพื้นที่ที่พบปัญหามากที่สุดคือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นจังหวัดชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

ขณะที่ภาคธุรกิจที่พบการละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่ 1) ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 48 2) ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 17 3) ธุรกิจด้านการออกแบบและตกแต่งภายใน คิดเป็นร้อยละ 16 4) ธุรกิจการบริการ คิดเป็นร้อยละ 10 และ 5) ธุรกิจอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 9

โดยซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด ได้แก่ ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านสถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านวิศวกรรม และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในสำนักงาน

“องค์กรส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์ในการทำธุรกิจ และมากกว่าร้อยละ 30 ขององค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีจะเป็นองค์กรที่มีสินทรัพย์มากกว่า 100 ล้านบาท”

ด้านนางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าวว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 66 ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือร้อยละ 36 ในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ร้อยละ 57

“แต่ถือว่าไทยดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วอัตราการละเมิดลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี แต่ก็ยังพบว่าองค์กรใหญ่ยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดประเภท ยังเห็นการนำซอฟต์แวร์ไลเซนส์การศึกษามาใช้ทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีความรู้เรื่องการซื้อสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้องค์กรมีความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งเสี่ยงถูกแฮก และเสี่ยงไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

โดยในปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บก.ปอศ. กรมทรัพย์สินทางปัญญา และบีเอสเอ จะช่วยกันผลักดันการเพิ่มการสื่อสารกับองค์กรต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิ์ในการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทต่าง ๆ และสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์