ย้ำจุดยืน “เกม-D.I.Y” J.I.B ลุยขยายสาขากรุยทาง SET

สัมภาษณ์

เป็นหนึ่งในตำนานนักสู้แห่งวงการไอที ที่มักจะแชร์ประสบการณ์ดิ้นรนของเด็กบ้านนอกจนได้ “คอมพิวเตอร์” มาเปลี่ยนชีวิต “สมยศ เชาวลิต” จากมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ กลายเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด หลังจากตัดสินใจกำเงิน 2 แสนบาท เปิดร้าน J.I.B สาขาแรกที่ Zeer รังสิต เมื่อปี 2544 มาบัดนี้ J.I.B มีสาขาแล้ว 150 แห่ง รายได้ปีล่าสุดกว่า 9,000 ล้านบาท

กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ยังมีแผนจะขยายสาขาอีก 15 แห่ง และยังคงเป็นเจ้าของเองทั้งหมด ไม่เปลี่ยนใจไปใช้แฟรนไชส์ในการขยายสาขา เพราะ J.I.B มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การให้บริการ ทั้งก่อนและหลังการขาย อาทิ มีทีมเซอร์วิสถึงบ้าน บริการส่งฟรี 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เปิดให้สั่งซื้อออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมงอย่างเดียว

เดินหน้าขยายสาขา

ขณะเดียวกัน การลงทุนเปิดสาขาใหม่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้เงินลงทุนมากเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่สำคัญที่ต้องสเกลให้สอดคล้องกับทราฟฟิกและกำลังซื้อในแต่ละพื้นที่

“เปิดใหม่ 15 สาขา ไม่มากไปหรอก บางปีผมเคยเปิดถึง 45 สาขา จะเน้นไปตามห้างที่เปิดใหม่ พวกคอมเพล็กซ์ต่าง ๆ เร็ว ๆ นี้จะมีที่พัทยาเพิ่มแต่ในบางทำเลที่เงียบเหงาก็ต้องพิจารณาปิดสาขาลง อย่างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ที่มี 9 สาขา ก็อาจจะปิดสัก 2-3 สาขา”

และคู่ขนานไปกับการเพิ่มสาขา J.I.B ก็ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีนี้ที่เห็นได้ชัดว่า ผู้บริโภคกังวลในการออกจากบ้าน รวมถึงเทรนด์ของการ work at home ที่มีเพิ่มขึ้น

ออนไลน์แข็งแกร่ง

“ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ต้นปี ยอดขายโตขึ้น 40% ทำให้ชดเชยกับยอดขายหน้าร้านที่ตกลงจากปัญหาไวรัสโควิด-19”

ที่สำคัญ คือ การเติบโตใน “ช่องทางออนไลน์” ของ J.I.B นั้น แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่มักจะหมายถึงการขายบนอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ในตลาด เพื่ออาศัยพลังของแบรนด์อีมาร์เก็ตเพลซเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก

แต่สำหรับ J.I.B แล้ว ยอดขายผ่านอีมาร์เก็ตเพลซมีสัดส่วนแค่ 13% ของรายได้จากออนไลน์ทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลือมาจากเว็บไซต์ของ J.I.B เองล้วน ๆ

นี่คือสิ่งที่ “สมยศ” ระบุว่า ถือว่าโชคดีที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มา 5-6 ปีแล้ว จนลูกค้าเชื่อมั่น แต่ก็จะไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างจุดเด่นด้านโลจิสติกส์ให้เพิ่มขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่การันตีส่งฟรีภายใน 3 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในปีนี้ตั้งเป้าจะการันตีที่ 2 ชั่วโมง

“เราเปิดร้านบนอีมาร์เก็ตเพลซก็เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางออนไลน์ แต่ไม่ใช่จะมีสินค้าทุกชิ้นไปวางขายเหมือนในเว็บของเราเอง ต้องเลือกให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม และต้องดูมาร์จิ้นหลังหักค่าคอมมิสชั่นที่ต้องจ่ายให้อีมาร์เก็ตเพลซแล้วด้วยว่าเราอยู่ได้ อย่างอะไรที่ขายดีอยู่แล้วบนหน้าเว็บ เราก็จะไม่เอาลงในอีมาร์เก็ตเพลซ”

ทั้งยังคงเน้นการให้บริการแบบ “ออมนิแชนเนล” เชื่อมต่อหน้าร้านกับช่องทางออนไลน์แบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางไหน

ไม่ทิ้งจุดยืน “เกม-D.I.Y”

แต่ถึงจะให้บริการหลากหลายช่องทาง แต่จะไม่ขยายไลน์สินค้าให้หลุดไปจากจุดยืนที่ J.I.B โฟกัสมาตลอด คือ “เกมเมอร์-คอมพ์ D.I.Y” ต่างกับผู้ค้าไอทีปัจจุบันที่มักให้ความสำคัญกับการขาย “สมาร์ทโฟน-แก็ดเจต” มากกว่าคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กไปแล้ว

“สมาร์ทโฟนเราไม่วางขายหน้าร้านเลย บนออนไลน์ก็มีนิดหน่อย พอไว้รองรับลูกค้าของเราเท่านั้น เราไม่กระโดดลงตลาดนี้เพราะมีเจ้าใหญ่ในตลาดอยู่เยอะมากอยู่แล้ว” กรรมการผู้จัดการ เจ.ไอ.บี.กล่าวและว่า

ขณะนี้เลยยุคที่ผู้บริโภคคิดจะใช้สมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทดีไวซ์มาใช้แทนคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กไปแล้ว เพราะผู้บริโภคได้เห็นแล้วว่า แต่ละอย่างเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน และจำเป็นจะต้องมีทั้ง 2 อย่าง เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

2 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

และเมื่อมองไปถึงทิศทางข้างหน้า ตลาดเกมจะยังเป็นแรงผลักดันสำคัญในตลาดไอที ซึ่งเห็นได้ชัดจากยอดขายของ J.I.B ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ประกอบหรือโน้ตบุ๊ก ก็มาจากบรรดาเกมเมอร์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก

แต่ด้วยหลาย ๆ ปัจจัยที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิด-19 ที่กระทบซัพพลายเชนของสินค้า สภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ทำให้ปีนี้ต้องปรับเป้าจากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้เติบโตมากขึ้น เป็นการ “คง” รายได้ให้เท่ากับปีที่แล้ว

“เป้าหมายในระยะยาวก็มองถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ จังหวะยังไม่เหมาะ อาจจะอีก 2 ปีข้างหน้า ที่อยากเอาเข้าก็เพื่อให้บริษัทมีมาตรฐานที่จะดึงคนเก่งคนมีฝีมือเข้ามาทำงานได้มาก ๆ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา”