“ดีป้า” แจงทุกเม็ด 3 ข้อเรียกร้อง TTSA

แฟ้มภาพ

หลังจากบรรดาสตาร์ตอัพแถวหน้าของไทยพร้อมใจกัน facebook live ถึงผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และ Thailand Tech Startup Association (TTSA) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ขอมาตรการเยียวยาเทคสตาร์ตอัพ ใน 3 ประเด็น

1.ขอให้มีการออกมาตรการสนับสนุนและผลักดันให้ใช้บริการของสตาร์ตอัพไทย เพื่อช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19

2.ขอให้มีมาตรการในการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เช่น การให้เงินทุนสนับสนุน (grant) เงินกู้ผ่อนปรน (soft loan) กรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขตามระดับความจำเป็นและความเหมาะสมเฉพาะธุรกิจเป็นราย เนื่องจากรูปแบบโมเดลธุรกิจอาจไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ผ่อนปรนแบบปกติได้ คุ้มครองพนักงานและจ่ายเงินเดือนจ้างพนักงานที่มีทักษะสูง

3.ขอให้มีการออกเครื่องมือเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการควบรวมในธุรกิจเทคสตาร์ตอัพ จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุน และผู้ร่วมลงทุน

“ดีป้า” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ได้มีแอ็กชั่นทันที

โดย “ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ ระบุว่า ดีป้าได้สนับสนุนเทคสตาร์ตอัพไทยมาอย่างต่อเนื่องทุกมิติ และได้ส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนตาม depa Digital Transformation Fund และ depa Mini Transformation Voucher เพื่อช่วยขยายฐานลูกค้า

ขณะที่ในเชิงนโยบาย ดีป้าได้จัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งทางบอร์ดดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ 10 เม.ย. เห็นชอบแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ส่วนเรื่องเงินทุนนั้น ดีป้าได้ปรับงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือ พร้อมร่วมทำงานกับบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้กองทุน InnoBridge Fund มูลค่า 50 ล้านบาท ที่จะร่วมลงทุนในลักษณะการออกหุ้นกู้ ทั้งกำลังจะหารือกับธนาคารในกำกับของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และ SME Bank ผลักดันให้เกิดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพิ่มเติม

และหารือกับทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุน และผู้ร่วมลงทุน ซึ่งอาจส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง holding company ที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันในกลุ่มเทคสตาร์ตอัพ และส่งเสริมให้เกิดการพิจารณาควบรวม แลกหุ้น (share swap) หรือลงทุนร่วมกันเอง เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงของคนไทยให้สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศได้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลฯ ที่ผ่านมายังมอบหมายให้ดีป้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งการสร้างมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเทคสตาร์ตอัพ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและทำธุรกิจในประเทศไทย เร่งกระบวนการพิจารณาและผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด

และการแก้ไขเงื่อนไขในหุ้นบุริมสิทธิและให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการในการจัดตั้ง regulatory sandbox สำหรับธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลรายอุตสาหกรรม