ฮับ-บ้า ในใจสตาร์ตอัพ มากกว่า “Coworking Space”

สัมภาษณ์

หลายปีที่ผ่านมา “Coworking Space” เป็นเรื่องฮิตในบ้านเราที่ใครต่อใครหันมาให้ความสนใจ และ “HUBBA-ฮับ-บ้า” คือหนึ่งในผู้บุกเบิก ปัจจุบันเปิดไปแล้วหลายสาขา

อะไรทำให้ HUBBA แตกต่าง และเป็น “Coworking Space” ในใจบรรดาสตาร์ตอัพทั้งหลาย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อมฤต เจริญพันธ์” ประธานกรรมการบริหาร HUBBA ดังนี้

Q : ตลาด Coworking Space

ยังโตได้อีกแต่ผู้ประกอบการต้องบริหารค่าใช้จ่าย กับการลงทุน และสร้างคอมมิวนิตี้ให้ดี ปัจจัยที่หลายคนลืม คือ 1.พฤติกรรมผู้บริโภค กระแสมาแล้วเรื่องการเปลี่ยนวิถีการทำงาน คนเริ่มทำงานนอกสถานที่ แต่กลุ่มนี้กำลังซื้ออาจไม่ได้สูงมาก ดังนั้นจำนวนเงินค่าบริการที่จะชาร์จได้อาจไม่มากอย่างที่คิดและยังมีคู่แข่งมากมาย มีออฟฟิศให้เช่าที่เลือกรูปแบบได้ จะเอาหรูหรือทำเลแบบไหน อย่างย่านสีลมก็หาได้ทุกระดับราคา จะห้องแถวหรือตึกสำนักงานทำให้ค่าบริการที่ชาร์จได้ต่อคนไม่เยอะมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการ Coworking Space มักพลาดคือ โลเกชั่นต้องดีที่สุด ตกแต่งต้องสวยต้องชิก จะได้ดึงดูดคนเยอะ ๆ ต้นทุนก็สูงตามไปด้วย แต่กลับไม่สามารถชาร์จเงินได้มากจากสมาชิก

วิธีการมี 2 ทางคือ จำนวนคนต้องมากขึ้น กับการหารายได้ทางอื่นการดึงคนต้องสัมพันธ์กับคนที่อยากเป็นฟรีแลนซ์กับสตาร์ตอัพ แต่ด้วยความที่ Coworking Space เพิ่มขึ้น ไปที่ไหนมีตัวเปรียบเทียบ ฉะนั้นเป็นเรื่องชั้นเชิงธุรกิจ จะชูเรื่องราคา โลเกชั่นหรือคอนเน็กชั่น คอมมิวนิตี้ เข้าไปแล้วมีคอนเน็กชั่น มีบรรยากาศ มีการจัดการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง HUBBA มุ่งเน้นเรื่องนี้ เพราะมองว่าราคาห้ำหั่นกันอย่างไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด ต่อไปอาจถึงขั้นฟรีก็ได้

เราอยากให้คนมอง Coworking Space เป็นที่ที่มีคุณค่า และเรื่องโลเกชั่นก็มีที่ดี ๆ เยอะ บางคนชอบอารีย์ ชอบอโศก ตอนทำที่เอกมัย โจทย์คือทำอย่างไรให้คนมาทั้งที่บ้านอยู่ตลิ่งชัน อยู่มหาชัย HUBBA เอกมัย ไม่ใช่เข้าไปง่าย ๆ ต้องสร้างโลเกชั่นให้เป็นจุดหมายปลายทางที่คนอยากไป ต้องหาเหตุผล

เรามีคอมมิวนิตี้ มีการจัดการที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเป็น HUBBA ที่หมายถึงการมีคนเก่ง ๆ อยู่ในนั้น มีผู้เชี่ยวชาญ คนที่เข้าใจเรื่องสตาร์ตอัพ พี่ ๆ หลายคนในวงการที่จะอยู่ที่นั่นพร้อมให้คำปรึกษา รวม ๆ กันจึงเป็น Uniqueness คิดถึงสตาร์ตอัพก็ควรไปที่ HUBBA

Q : จุดอ่อนของรายใหม่

ขาดความชัดเจนว่าจะจับกลุ่มเป้าหมายไหน บางคนอยากเจาะสตาร์ตอัพ แต่ไม่เคยทำสตาร์ตอัพ ไม่รู้จักเรื่องไอที และไม่สนใจ ก็เหมือนคนที่อยากทำร้านกาแฟ แต่ชงกาแฟไม่เป็น ลูกค้าก็ไม่เชื่อเพราะเราไม่สามารถคุยกับลูกค้าให้เข้าใจ และช่วยเหลือเขาได้ มี Coworking Space ประเภทนี้เยอะ

แต่บางคนก็ไม่แคร์ มองแค่ว่าตีกล่องไว้แล้วให้คนมาเช่า เป็นเหมือนเซอร์วิสออฟฟิศที่แต่งหน้าทาปากให้ดูเซ็กซี่ขึ้น

นอกจากบริหารต้นทุนให้สัมพันธ์กับโลเกชั่นกับกลุ่มลูกค้า สร้างจุดขายที่เป็น Uniqueness แล้ว ยังมีเรื่อง Nonmembership Income สถานที่ไม่สามารถอัดคนเข้าไปใช้บริการได้ไม่จำกัด โดยเฉลี่ยหากมี 100 ที่นั่ง จะจุคนได้ราว 160 คน/วัน ทุกคนไม่ได้มาทุกวัน ไม่ได้มาพร้อมกัน ถ้ารับสมาชิกมากไปจะมีรถไฟชนกัน ยังมีเรื่องสัดส่วนพื้นที่ต่อคน ซึ่ง Coworking Space จะใช้พื้นที่ 4-5 ตารางเมตร/คนลดลงจากออฟฟิศเมื่อก่อนที่ต้องมี 20 ตารางเมตรต่อคน

Coworking Space ที่ดีต้องมองว่า ถ้าพื้นที่เต็มแล้วจะหาเงินจากทางไหน เช่น ปล่อยให้เช่าจัดอีเวนต์ จัดสัมมนา บางแห่งมีบริษัทลูกทำอีกธุรกิจคู่กันไป บางคนถนัดเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ทำร้านอาหารเพิ่ม สิ่งสำคัญคือเจ้าของต้องหาตัวตนให้เจอ โดยเฉลี่ย Coworking Space ทั่วโลกที่มีการสำรวจข้อมูล รายได้ครึ่งหนึ่งมาจากการขายสมาชิก ที่เหลือมาจากรายได้อื่น

 

Q : ดีไซน์เก๋ ๆ ยังสำคัญ

ดีไซน์เป็นหัวใจหลักของทุกธุรกิจ เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ทำอะไรอุบาทว์ ๆ แต่คอนเทนต์ดี แล้วคนจะยอมซื้อ เราต้องมองไปว่าเก้าอี้นั่งสบายไหม จัดโต๊ะแบบนี้อยากให้คนคุยกัน ฮวงจุ้ยเป็นอย่างไร หลายอย่างทำไปแล้วแก้ไม่ได้ด้วย ควรทำให้เสร็จในรอบเดียว

Q : รายได้ของ HUBBA

มีทุกช่องทาง คือจากค่าสมาชิก เรามีความเชี่ยวชาญเรื่องสตาร์ตอัพกับจัดอีเวนต์ ก็มี HUBBA อะคาเดมี จัดเวิร์กช็อป 5-10 งาน/เดือน สอนเขียนโปรแกรม การดีไซน์ จับมือกับเทคซอร์ซทำคอนเฟอเรนซ์ สัมมนาเชิญวิทยากร ร่วมกับเทคซอร์ซจัดกิจกรรม

Q : ยังลุยต่อด้วยความสนุก

ทุกธุรกิจเจ้าของต้องหาความสุขจากความทุกข์ทรมานของตัวเองให้ได้ บ้านผมคือชนชั้นกลาง ไม่ได้จน และไม่ได้รวยมาก เอาเงินตัวเอง ขอแม่ขายมรดก ขอเงินเกษียณพ่อมา ช่วงต้นไม่มีลูกค้าเลย จุดไฟเผาเงินทิ้งกับค่าเช่า ค่าแอร์ เดือนละเป็นแสน แต่เราเชื่อว่าจะเวิร์ก