แอป “หมอชนะ” คืออะไร ใช้งานอย่างไร ทำไมต้องโหลดติดมือถือ

ทำความรู้จัก แอป “หมอชนะ” ใช้งานอย่างไร มีการเก็บข้อมูลบุคคลหรือไม่ โหลดติดมือถือไว้ ติดโควิดไม่ถูกปรับ

วันที่ 7 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุว่า หากพบว่าใครป่วยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ไม่มีแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ในโทรศัพท์มือถือ จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอป “หมอชนะ” ดังนี้

“หมอชนะ” คือ

หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เช่น ไทยชนะ เพื่อเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ  ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยหมอชนะจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานที่มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

แอปฯ หมอชนะ ใช้งานอย่างไร

แอปฯ หมอชนะจะคอยส่งบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ  โดยแอปฯ จะทำการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยงของผู้ใช้งานหากมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย  Covid-19 ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงจะได้รับข้อความแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องจากกรมควบคุมโรค ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน ทั้งนี้ แอปพลิเคชันถูกออกแบบไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของผู้ใช้งานและระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

แอปฯ หมอชนะ มีการเก็บข้อมูลบุคคลหรือไม่

แอปฯ หมอชนะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปเท่าที่จำเป็นเกี่ยวข้องและพอเพียงต่อขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19  โดยจะมีการเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังโทรศัพท์มือถือและบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งาน เพื่อที่จะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนและคำแนะนำในการปฏิบัติตนไปยังแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือในกรณีที่ผู้ใช้งานมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย  Covid-19

แอปฯ หมอชนะ เป็นของหน่วยงานใด

แอป “หมอชนะ” เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ”  โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก