ศบค.จับตาโควิดเชียงใหม่ ระบาดวงกว้าง เข้าชุมชน-ครอบครัว-ที่ทำงาน

แพทย์หญิงสุมนี - ศบค.
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.จับตาโควิดเชียงใหม่ ชี้ระบาดเป็นวงกว้าง เข้าชุมชน-ครอบครัว-ที่ทำงาน-แรงงานต่างด้าว ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ยังพบหลายจังหวัด ทั้งแคมป์ก่อสร้าง หอพัก งานศพ เรือนจำ และทหารเกณฑ์ที่ชลบุรีติดเชื้อถึง 30 ราย แจงเด็กหญิงฉีดไฟเซอร์ อาการดีขึ้น ชี้ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ขณะที่เปิดประเทศ 3 วัน พบผู้เดินทางเข้าประเทศติดเชื้อแค่ 6 ราย

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,679 ราย หายป่วยแล้ว 1,791,037 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,906,579 ราย และ เสียชีวิตสะสม 19,300 ราย

 

วันนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 97,585 ราย อยู่ใน รพ. 41,972 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 55,613 ราย อาการหนัก 2,205 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 483 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,818,463 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,935,442 ราย เสียชีวิตสะสม 19,394 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 56 รายในวันนี้ เป็นชาย 28 ราย หญิง 28 ราย เป็นผู้มีอายุ 6 ปีขึ้นไปจำนวน 42 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง 12 ราย รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 95%

“วันนี้ 16 รายมาจากภาคใต้ 14 รายมาจากภาคกลางและตะวันออก 6 รายมาจากภาคเหนือ 10 รายมาจากภาคอีสาน และอีก 10 รายมาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล (กทม. 7 ราย)”

สำหรับแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ที่ 4,399 ราย สัดส่วน 62% ชายแดนใต้ 1,471 ราย คิดเป็น 20% กทม.และปริมณฑล 1,266 ราย สัดส่วน 18% ซึ่งลดลงทุกพื้นที่

ส่วนผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 267,117 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 485,778 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 35,081 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 77,014,092 โดส

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 248,277,684 ราย อาการรุนแรง 73,468 ราย รักษาหายแล้ว 224,965,772 ราย และเสียชีวิต 5,028,499 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 46,999,026 ราย 2.อินเดีย จำนวน 34,306,177 ราย 3.บราซิล จำนวน 21,821,124 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 9,130,857 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 8,593,200 ราย สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 จำนวน 1,935,442 ราย

คลัสเตอร์ใหม่ทหารเกณฑ์ทัพเรือ-แคมป์ก่อสร้าง

10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อทุกจังหวัดยังไม่ถึงพันราย โดยอันดับ 1 ยังเป็น กทม. 772 ราย ลดลงจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 789 คน รองลงมาเป็นปัตตานี 484 ราย และสงขลา 454 ราย

“อันดับที่ 2, 3, 4, 7, 9, และ 10 ยังเป็นจังหวัดจากภาคใต้ ซึ่งถ้าเราไปดูจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันใน 4 จังหวัดภาคใต้จะเห็นทิศทางโดยรวมลดลง แต่ถ้าแยกเป็นจังหวัดจะเห็นว่า ยะลา นราธิวาส และสงขลา ลดลงชัดเจน ในขณะที่ปัตตานียังทรง ๆ อยู่ ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดและเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า

ส่วนอันดับที่เหลือมีอันดับที่ 5 ชลบุรี อันดับที่ 6 เชียงใหม่ อันดับที่ 7 ตรัง อันดับที่ 8 สมุทรปราการ ซึ่งในจังหวัดเหล่านี้ได้มีการรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เช่น ที่ จ.ชลบุรี มีรายงานการติดเชื้อเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพเรือพบ 30 ราย เชียงใหม่พบรายงานการติดเชื้อที่เป็นแคมป์ก่อสร้าง 17 ราย ศูนย์พัฒนาการสวัสดิการผู้สูงอายุ 8 ราย มีการตรวจเชิงรุกในชุมชนอีก 35 ราย

นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์การติดเชื้อในงานศพ คลัสเตอร์ที่เป็นหอพักของนักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คลัสเตอร์เรือนจำใน จ.สุรินทร์ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร และก็ยังพบผู้ติดเชื้อที่มีการลักลอบข้ามแดนมาที่จันทบุรีอีก 4 ราย

แจงเด็กหญิงฉีดไฟเซอร์ อาการดีขึ้น

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับผลการฉีดวัคซีนวันนี้เพิ่มขึ้น 787,976 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 มีจำนวน 77.01 ล้านโดส โดยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนในเดือน พ.ย.นี้ให้ครบ 100 ล้านโดส ล่าสุดวันนี้เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 42.8 ล้านราย ครอบคลุมประชากรแล้ว 59.4% และฉีดครบ 2 เข็มอยู่ที่ 44% ของจำนวนประชากร และเข็มที่ 3 อยู่ที่ 3.4%

และถ้าแยกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 64.6% และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นเป็น 69.3% ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อายุ 12-17 ปี อยู่ที่ 55.4% ทั้งนี้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสำหรับเด็กนักเรียนที่เรียนหนังสือแล้วกลับบ้านและอยู่ร่วมกับผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุจะต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

เช่น เมื่อกลับถึงบ้านแล้วต้องรีบอาบน้ำให้เรียบร้อย ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่น ๆ และผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการทางเดินหายใจของบุตรหลานในครอบครัวด้วย รวมถึงไข้ ไอ น้ำมูกด้วย ถ้าสงสัยให้รีบตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK

ส่วนกรณีผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 12 ปี 3 เดือน หลังได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้วพบว่ามีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ขณะนี้ได้รับการรักษาแล้วที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ผลพบว่าไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาการดีขึ้นแล้ว

 เปิดประเทศ 2 วัน พบต่างชาติเข้าไทยติดเชื้อ 6 ราย

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์นักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 ที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันที่ 3 แล้ว มียอดผู้เดินทางเข้าประเทศจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 2 พ.ย. เข้ามาทั้งหมด 2,013 ราย ในจำนวนนี้เข้าระบบการไม่กักตัว หรือ Test and Go 1,769 ราย เข้าระบบแซนด์บอกซ์ 79 ราย และเข้าระบบที่มีการกักกัน 165 ราย รวมผู้เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา 4,510 ราย

สำหรับประเทศที่เข้ามา 5 อันดับแรก อันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น รองลงมาเป็น สิงคโปร์ เยอรมนี กาตาร์ และจีน โดยในรายที่เข้ามาได้มีการตรวจคัดกรองด้วย PCR พบว่ามีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาแบบ Test and Go หรือไม่กักตัว 3 ราย คิดเป็น 0.07% ของกลุ่มที่เดินทางประเภท Test and Go ทั้งหมด และจากระบบกักกันอีก 3 ราย คิดเป็น 0.94% ของผู้เข้ามาในระบบกักกัน

ฉีดวัคซีน 17 จังหวัดสีฟ้าเกือบครบ

ส่วนการฉีดวัคซีนของพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า17 จังหวัด แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เกินครึ่งตามเป้าหมายเกือบทุกจังหวัดแล้ว  เหลือเพียง “หนองคาย” จังหวัดเดียว ที่ฉีดได้ 47.3% จึงขอให้พี่น้องประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนกันให้มากขึ้น

ส่วนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่นำร่องสีฟ้าฉีดวัคซีนไปแล้วเฉลี่ย 77% ส่วนครบ 2 เข็ม ฉีดไปแล้ว 63.1% ซึ่งตามเป้าหมายจะต้องฉีดให้ได้ 80%

เฝ้าระวัง “เชียงใหม่”  ชี้ระบาดวงกว้าง

สำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า 1 ในจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง คือ “เชียงใหม่” ซึ่งวันนี้ติดอยู่อันดับ 6 ของจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ มีจำนวน 322 ราย โดยเชียงใหม่เปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้ามี 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคได้ลงไปประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ของเชียงใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลพบว่าการระบาดในเชียงใหม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง มีการระบาดในระดับชุมชน ในระดับครอบครัว พบการระบาดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม

“โดยเริ่มระบาดจากในครอบครัว ชุมชน ใน 4 ตลาดที่มีข่าวก่อนหน้านี้ ได้แก่ ตลาดเมืองใหม่ ตลาดวโรรส ตลาดประตูเชียงใหม่ และตลาดสันป่าข่อย และมีการระบาดในพื้นที่ทำงาน รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มความเข้มงวด และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้จำนวน 700,000 โดส ภายใน 3 สัปดาห์ มีการตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK วันละ 3,000-5,000 ราย รวมถึงห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หรือภัตตาคาร รวมถึงจำกัดเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อหลัง 21.00 น. ซึ่งจะเข้มกว่ามาตรการที่ ศบค.กำหนด

นอกจากนี้ยังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมในโครงการมาตรฐาน SHA+ ด้วย ซึ่งพนักงานในสถานประกอบการนั้น ๆ จะต้องได้รับวัคซีนร้อยละ 70 รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

และในเดือนนี้จะมีประเพณีที่สำคัญของคนไทยที่กำลังมาถึง คือ งานกฐิน และช่วงปลายเดือนมีลอยกระทง การจัดงานประเพณีต่าง ๆ กิจกรรมต่าง ๆ ช่วงผ่อนคลาย และการเปิดประเทศในช่วงนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตใกล้ปกติ ในชีวิตวิถีใหม่ อยู่กับโควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน

“ขอให้จัดงานให้เหมาะสมภายใต้มาตรการปลอดภัยเคร่งครัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ต่อไปได้ และจะได้ทำตามแผนที่วางไว้จนถึงปีใหม่อย่างราบรื่นและไร้โรค” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย