เปิดประวัติผู้สมัครกรรมการ กสทช. 2 รายที่ไม่ผ่านการคัดเลือก

เปิดเรื่องราวก่อนการลงคะแนนเสียงแต่งตั้ง กรรมการ กสทช. เหตุที่ “กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ” และ “ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ” กลายเป็น 2 บุคคลที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ พร้อมประวัติ

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 กรณี มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา

ภายหลังการตรวจสอบประวัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯเป็นกรรมการ กสทช. ทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย

  1. พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  2. ศ.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์)
  3. นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม)
  4. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
  5. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  6. ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ก) ด้านกฎหมาย
  7. รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)

ผลปรากฏที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบทั้งหมด 5 คน ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และ ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ไม่ได้รับความเห็นชอบเป็น กรรมการ กสทช.

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติและเรื่องราวของ 2 บุคคล ที่ไม่ได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในบอร์ด กสทช.

กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ

นายกิตติศักดิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (วศ.บ.) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) ก่อนไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2561 นายกิตติศักดิ์ เป็น 1 ใน 14 รายชื่อที่ผ่านการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.

ซึ่งต่อมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า ที่ประชุม คสช. ระบุถึงปัญหาที่เกิดกับกระบวนการสรรหา และจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. (ฉบับที่ 2)

ส่วนรอบล่าสุด นายกิตติศักดิ์ เจอตออีกครั้ง เมื่อ พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญ กองทัพบก ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ยื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรื่อง ผู้สมัครเป็น กสทช. ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

กล่าวหาว่านายกิตติศักดิ์เป็นบุคคลที่เคยถูก คสช. สั่งให้พ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลปรากฏในประวัติการสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ว่า นายกิตติศักดิ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้แก่ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด หลังออกจาก กสท แล้ว แต่คาดว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นจริง เพราะเพลย์เวิร์คไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ทั้งยังพบว่า ทำงานด้านบริหารธุรกิจตลอดมา

ดังนั้น ระยะเวลาการทำงานในด้านกิจการโทรคมนาคม จึงขาดตอน ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมแล้วไม่ถึง 10 ปี อีกทั้งเป็นผู้ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานด้านโทรคมนาคม ตามที่ลงสมัครแต่อย่างใด

ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ

ร้อยโท ธนกฤษฏ์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นตัวเต็งจาก 78 ผู้สมัครในแต่ละด้าน ซึ่งผู้ผ่านคัดเลือกของกรรมการสรรหา กสทช. รอบก่อนที่ถูกยกเลิกไปทั้งหมด 14 คน เช่นเดียวกับนายกิตติศักดิ์

ร้อยโท ธนกฤษฎ์ จบปริญญาตรี (นบ.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยออกแลนด์ นิวซีแลนด์ และปริญญาเอกด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันในอังกฤษ

อดีตตัวเต็งผู้นี้เคยเป็นอัยการฝึกหัดมาก่อน ต่อมาเข้ารับราชการเป็นนิติกร 5 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านการดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้ากลุ่มงานความรวมมืออาเซียน เอเปค และจีน

นอกจากนี้ยังเคยเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ รวมถึงอาจารย์พิเศษและกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิด้า มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนรับตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ในหนังสือที่ พล.ต.สุพิชาติ ยื่นร้องเรียนต่อประธานวุฒิสภา มีการกล่าวหา ร้อยโท ธนกฤษฎ์ ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร้อยโท ธนกฤษฎ์ มีตำแหน่งเทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในระดับ 8 เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่รองหัวหน้าหน่วยงานใด ๆ จึงเห็นได้ว่าเป็นบุคคลผู้ที่ขาดคุณสมบัติ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ 2 ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ที่ได้รับเสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ 124 คะแนน พลาดเก้าอี้ กรรมการ กสทช. ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบ 7 ด้าน และหากมีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหาของกรรมการต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าวก็จะไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น