จุดพลุ “เกมไทย” โกอินเตอร์ ชิงเค้กอีสปอร์ต 3 หมื่นล้าน

ต่อบุญ พ่วงมหา
ต่อบุญ พ่วงมหา กรรมการผู้จัดการ ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม และออนไลน์ สเตชั่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยนิวซู (Newzoo) บริษัทรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเกมคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลกปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 60,000 ล้านบาท มีจำนวนผู้เล่นทั่วโลกถึง 3,000 ล้านคน ทั้งที่เพิ่งได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาในการแข่งขันระดับโลก

เช่น เอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เช่นกันกับในประเทศไทยก็เพิ่งประกาศให้เป็นกีฬาอาชีพ ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวข้องเฟื่องฟูขึ้นด้วย ตั้งแต่นักพากย์, ผู้จัดอีเวนต์ยันอินฟลูเอนเซอร์

ธุรกิจเกมบูมทะลุ 3 หมื่นล้าน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) คาดว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทย (แอนิเมชั่น เกม และแคแร็กเตอร์) ปี 2564 มีมูลค่ารวม 49,649 ล้านบาท โตขึ้น 26% จากปี 2563 ที่มีมูลค่า 39,332 ล้านบาท ทั้งคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 59,136 ล้านบาท การเติบโตหลัก ๆ มาจากธุรกิจเกม

เช่น ปี 2563 มีมูลค่า 34,316 ล้านบาท จากตลาดรวมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ 39,332 ล้านบาท แบ่งตามความนิยมในการเล่นจะมาจากสมาร์ทโฟน 21,014 ล้านบาท คอมพิวเตอร์พีซี 8,231 ล้านบาท เกมคอนโซล 4,785 ล้านบาท และเกมตู้ 251 ล้านบาท

ในบ้านเรากลุ่มทรูถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเกมครบวงจร ทำตั้งแต่ผลิตเกมยันจัดงานอีเวนต์ จึงจัดได้ว่ามีความเข้าใจปัญหา อุปสรรค โอกาส และพัฒนาการของธุรกิจนี้ในบ้านเราที่จัดได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

“ต่อบุญ พ่วงมหา” กรรมการผู้จัดการ ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม และออนไลน์ สเตชั่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดเกมอีสปอร์ตในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ, เอกชน, สถาบันการศึกษา, การพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ และผู้จัดการแข่งขัน

ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องการการสนับสนุน คือ การผลิตเกม เพราะถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอีสปอร์ต หากผลิตได้ก็จะสามารถต่อยอดไปยังส่วนอื่น ๆ ได้อีกมาก ตั้งแต่การส่งออกผลิตภัณฑ์เกมกระจายไปยังสโตร์ต่าง ๆ ขายลิขสิทธิ์และจัดการแข่งขัน แต่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ผนึกกำลังสร้างเกมไทย

“การสร้างเกม 1 เกมให้ติดตลาด ครองใจผู้เล่นทั่วโลกไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่สร้างแล้วจบเหมือนภาพยนตร์ เมื่อสร้างแล้วก็ต้องอัพเกรดอยู่ตลอดเพราะเกมมีวันหมดอายุ เมื่อสร้างมาแล้วต้องพยายามรักษาผลิตภัณฑ์นี้ให้อยู่นานที่สุด แม้การสร้างเกมจะเป็นเรื่องยากแต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้”

“ต่อบุญ” ย้ำว่า หากประเทศไทยต้องการผลักดันอุตสาหกรรมอีสปอร์ตให้เติบโตจะต้องพัฒนาเกมออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะเป็นได้แค่ผู้ตาม เพราะมูลค่าที่เกิดขึ้นมาจากการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต สปอนเซอร์โฆษณา อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ของเกมในส่วนที่เป็นมีเดีย

เช่น หากต้องการนำเกมมาถ่ายทอดสด ผู้จัดอีเวนต์หรือผู้จัดการแข่งขันต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เกมให้บริษัทเจ้าของเกมก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้มีการเผยแพร่หรือถ่ายทอดสดได้ ซึ่งตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดด 20-30% ยังไม่มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เกม ดังนั้น ถ้าจะผลักดันให้โตกว่านี้ประเทศไทยต้องก้าวข้ามไปสู่การเป็นเจ้าของเกมให้ได้

อย่างไรก็ตาม การสร้างเกมมีกระบวนการสร้างและพัฒนา ซึ่งต้องใช้ศิลปะพอสมควรเพราะแต่ละเกมที่สร้างขึ้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเอง มีลายเส้นเฉพาะตัว และต้องมีการทดสอบทดลองเล่นจริง ทำให้ต้องใช้พลังในการลงมือทำสูง ทั้งในเรื่องของเงินลงทุนและบุคลากร

ซึ่งการสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านการผลิตเกมอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ปรับปรุง และนำไปต่อยอดตัวเกมได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น ทั้งเมื่อปล่อยเกมลงตลาดแล้วก็ยังต้องทำตลาดต่อเนื่อง

“อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ความอดทน เพราะทุกเกมที่สร้างอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ให้คิดว่าทุกครั้งที่ผิดพลาดหรือล้มเหลวทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น”

Play to Earn เล่นสร้างรายได้

“ต่อบุญ” กล่าวว่า ในต่างประเทศคนเล่นเกมไม่ได้เล่นเพื่อความบันเทิง แต่เริ่มมีโมเดลในการหารายได้จากการเล่นเกม หนึ่งในนั้นคือการหารายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี ในอนาคตคนจะเล่นเกมเพื่อหารายได้ และรายได้นั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วยการเปลี่ยนจากเหรียญดิจิทัลมาเป็นสกุลเงินจริง

“ต่อไปคนจะมีการฝึกฝน เรียนรู้ เพื่อสร้างรายได้มากขึ้นคล้ายกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่หวังกำไรและรายได้ แต่โมเดลการหารายได้รูปแบบนี้อาจยังไม่ชัดนักในไทย เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่มาวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ชัดเจน แต่เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างลงตัวการหารายได้จากโมเดลนี้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ในวงการเกมยังมีการซื้อ-ขายแคแร็กเตอร์ตัวละครในเกม โดยผู้เล่นสามารถฝึกฝนตัวละครหรือแคแร็กเตอร์ในเกมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตัวละครนั้น ๆ หากตัวละครมีระดับความสามารถที่สูงพอผู้เล่นก็สามารถนำตัวละครหรือแคแร็กเตอร์เหล่านี้ไปขายได้ โดยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งยังสามารถนำตัวละครเหล่านี้มาโคลนนิ่งเพิ่มและขายได้ด้วย กลายเป็นระบบธุรกิจแบบใหม่ที่ส่งเสริมให้คนสร้างโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่เล่นหรือรอชมการแข่งขันอย่างเดียว แต่สร้างสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองเพื่อเพิ่มช่องทางทำรายได้มากขึ้น

“กระแสการเล่นเกมแบบ play to earn หรือเล่นเกมบนบล็อกเชน เป็นอีกส่วนที่สามารถสร้างรายได้ได้ ผู้เล่นเกมจะมีไอเท็มในเกม เช่น อาวุธ และเสื้อผ้า โดยเก็บสะสมไอเท็มเหล่านั้นมาเป็นสกุลเงินดิจิทัล และนำมาแลกเป็นเงินจริงได้ผ่านตัวกลางแลกเปลี่ยนได้”

ทรูซุ่มปั้นเกมเจาะตลาดมือถือ

สำหรับกลุ่มทรูปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเกม โดยที่ผ่านมาร่วมกับ Axion Ventures จากแคนาดา ตั้งบริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอกทีฟ จำกัด มีเป้าหมายเพื่อผลิตและพัฒนาเกมที่เป็นของคนไทยจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ

“เป้าหมายหลัก คือ พัฒนาเกมของอินวิคตัส (INVICTUS) โดยเริ่มจากแพลตฟอร์มบนมือถือก่อน เพราะการเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนกำลังได้รับความนิยมก่อนขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ”

“ต่อบุญ” ทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมอีสปอร์ตมีการพัฒนาต่อเนื่อง ถ้าประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาสร้างเกมของตนเองตอนนี้ก็ไม่ถือว่าช้า เพราะเกมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น ปัจจุบันเกมที่ได้รับความนิยมจะเป็นแนว hyper-casual หรือเกมที่เล่นได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เล่นได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้มีฐานผู้เล่นกว้างและแนวเกมก็จะเปลี่ยนไปอีกตามพฤติกรรมผู้บริโภค ฉะนั้น การปรับตัวของเกมค่อนข้างสำคัญจึงไม่มีอะไรสายเกินไป