“ไทย-ลาว” ถกเข้มสร้างเขื่อนปากแบงหวั่น 10 หมู่บ้านลุ่มน้ำโขงจมน้ำ

วันที่ 15 มกราคม ที่สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ท่านจันแสวง บุนยง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ดร.แกรม บอยด์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญโครงการสร้างเขื่อนปากแบงในแม่น้ำโขงเขตแขวงอุดมไชย สปป.ลาว นายจาง เชา รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทจีน ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมันต์ จำกัด และ คณะ ร่วมหารือกับเครือข่ายภาคประชาชนนำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของที่คัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยมีหน่วยงานภาครัฐของไทยร่วมสังเกตุการณ์หลายหน่วยงาน

ดร.แกรม ได้แจ้งถึงคุณสมบัติของโครงการว่าเขื่อนใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด คือ แม่น้ำโขงเท่านั้นโดยไม่มีไว้กักเก็บน้ำ โดยระดับน้ำจะสูงสุด 345 เมตรมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,230 เมกะวัตต์ แต่เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ที่อยู่ห่างจากโครงการขึ้นมาเหนือน้ำประมาณ 92 กิโลเมตรจึงปรับลดความสูงเหลือ 340 เมตร ในฤดูน้ำหลากและ 335 เมตรในฤดูแล้งและปรับลดกำลังผลิตลงเหลือเพียง 912 เมกะวัตต์แทนแล้ว

ดร.แกรม กล่าวว่า เขื่อนปากแบงจะสร้างประโยชน์ทั้งด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า เศรษฐกิจ การจ้างงานให้กับคนในภูมิภาคนี้และจะส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย 90% รวมทั้งเป็นเขื่อนน้ำล้นหรือน้ำไหลไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำจึงไม่กระทบมาถึงแก่งผาไดของไทย ส่วนเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ปลามีการทำทางขึ้นลงของปลาควบคู่กับการเดินเรือเอาไว้แล้วด้วย

ท่านจันแสวง กล่าวว่าการใช้แผงโซลาเซลล์นั้นมีข้อจำกัดในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ภาคเหนือของ สปป.ลว เป็นภูเขาสูงซึ่งหาสถานที่ราบเพื่อวางแผงโซลาเซลล์ได้ยากและหากเว้นช่วงแดดออกก็ต้องหาแหล่งพลังงานอื่นทดแทนด้วยต้นทุนที่สูงมาก จึงได้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบงดังกล่าวซึ่งเห็นว่าคุ้มค่ากว่า ส่วนเรื่องผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นทาง สปป.ลาว ให้ความใส่ใจถึงเป็นอย่างมากจึงกำหนดระดับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำขึ้นสูงถึงแก่งผาไดของไทยแน่นอนและมีการใช้เทคโนโลยีใบพัดทางเดินขึ้นลงของปลาที่ทันสมัย ทำให้ปลาขึ้นลงได้ส่วนปลาที่ขึ้นลงไม่ได้ก็มีโครงการร่วมมือกับกรมประมงของไทยในการไปศึกษาวิจัยที่เขื่อนเลยด้วย

ด้านนายนิวัฒน์ กล่าวว่ามีตัวอย่างกรณีเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว ที่เคยบอกว่ามีพันธุ์ปลาผ่านไปมาชั่วโมงละ 100,000 ตัวแต่แท้ที่จริงมีกกว่า 3 ล้านตัว ดังนั้นการทำแม่แบบที่เขื่อนปากแบงนี้จึงไม่ใช่คำตอบ จึงอยากให้ทาง สปป.ลาว ไปศึกษาการใช้แหล่งพลังงานจากแผงโซลาเซลล์ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมริเรตต์ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,230 เมกะวัตต์ด้วยเงินทุน 900 ล้านบาทระยะเวลาแค่ 2 ปีแต่เขื่อนปากแบงใช้เวลาร่วม 5-6 ปีและผลิตกระแสไฟฟ้าได้แค่ 912 เมกะวัตต์ ทั้งเขื่อนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษาเรื่องผลกระทบหรืออีไอเอก็ไม่สมบูรณ์และไม่ด้มาตรฐาน

นายทองสุข อินทวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น กล่าวว่าบ้านห้วยลึกและแก่งผาไดเป็นจุดสุดท้ายของประเทศไทยก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าไปใน สปป.ลาว จึงกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเพราะที่ผ่านมามีเขื่อนในจีนและทำให้ระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่มีการแจ้งผลการศึกษาและชี้แจงให้ละเอียดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะแก้ไขอย่างไร แต่ปรากฎว่าครั้งนี้กลับจะสร้างเขื่อนใต้น้ำอีกทำให้พื้นที่อยู่กลางระหว่างเขื่อนของจีนและ สปป.ลาว ซึ่งหากเขื่อนปากแบงเก็บน้ำสูงถึง 346 เมตรจะท่วมหมู่บ้าน 10 กว่าหมู่บ้านไปจนถึงปากแม่น้ำอิงและเข้าไปยังพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย อีกด้วย

นายเกษม นันชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หล่ายงาว กล่าวว่าทาง อบต.หล่ายงาว เคยดำเนินโครงการรักสุดเขตประเทศไทยที่เกาะกลางแม่น้ำโขงบริเวณตรงแก่งผาไดเพื่อรองรับวันแห่งความรักหรือวาเลนไท์ที่ 14 ก.พ.ของทุกปี โดยทำสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวบนหาดทรายใช้งบประมาณนับแสนบาท แต่ปรากฎเมื่อมีเขื่อนในประเทศจีนในช่วง 2 ปีหลังสุดมานี้น้ำในแม่น้ำโขงได้พัดทุกอย่างหายไปหมดทั้งๆ ที่เป็นฤดูแล้งสร้างความเสียหายอย่างหนักส่วนฤดูน้ำหลากกลับแห้งลงอีก จึงไม่มั่นใจว่าถ้ามีเขื่อนใต้น้ำอีกจะควบคุมได้จริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงท้ายสุดทงท่านจันแสวงแจ้งต่อที่ประชุมว่าทางการ สปป.ลาว ยืนยันว่าเขื่อนปากแบงจะเก็บน้ำในฤดูแล้งไม่ให้สูงถึง 335 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางในฤดูแล้งและไม่เกิน 340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางในฤดูน้ำหลากซึ่งจากการศึกษาแล้วพบว่าระดับนี้จะไม่ส่งผลกระทบถึงแก่งผาไดของไทยแน่นอน อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายภาคประชาชนทั้งนายนิวัฒน์และนายสมเกียรติ เชื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ต่างระบุว่าข้อมูลการันตีระดับน้ำจาก สปป.ลาว ดังกล่าวเป็นการคำนวนจากเขื่อนปากแบงแห่งเดียวแต่สภาพปัจจุบันยังมีเขื่อนในประเทศจีนซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำขึ้นและลงจึงไม่สามารถใช้อ้างอิงได้จึงต้องมีการศึกษาร่วมกันต่อไป ท้ายที่สุดการประชุมจึงยุติโดยทุกฝ่ายจะนำข้อมูลไปสรุปเพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคตต่อไป