เศรษฐีนครสวรรค์นำธง “รพ.ศรีสวรรค์” ทุ่ม 1,000 ล้าน บุก กทม.

นพ.ชวลิต วิมลเฉลา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ขณะที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว หลังโควิด-19 ลดระดับความรุนแรงลง ทำให้มีกลุ่มทุนจากส่วนกลางขยายการลงทุนไปหัวเมืองหลักทั่วประเทศ แต่ในทางกลับกัน ทุนภูธรอย่าง “กลุ่มโรงพยาบาลศรีสวรรค์” จาก จ.นครสวรรค์ กลับมองว่า กทม.เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีประชากรจำนวนมาก

และมีกำลังซื้อสูงจึงได้ทุ่มเงินถึงกว่า 1 พันล้านบาทเข้ามาตั้งโรงพยาบาลใน กทม. “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายแพทย์ชวลิต วิมลเฉลา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล “ศรีสวรรค์” ถึงมุมมองและแผนการลงทุนทั้งใน กทม.และนครสวรรค์

ปักหมุด รพ.ศรีสวรรค์ใน กทม.

กลุ่มบริษัท โรงพยาบาลศรีสวรรค์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ และดำเนินกิจการธุรกิจ “โรงพยาบาลศรีสวรรค์” จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี 2539 มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลาที่เปิดให้บริการ 26 ปี

ล่าสุดได้ขยายการลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ไปยังกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลศรีสวรรค์” กรุงเทพมหานคร มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลในเครือแห่งที่ 2 โดยโครงการตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบรมราชชนนีและทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

ทั้งนี้ ปัจจัยผลักดันให้มีการขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลศรีสวรรค์ แห่งที่ 2 ไปยังกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.ศักยภาพและความพร้อมด้านการลงทุนของโรงพยาบาลศรีสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ทุกปี

2.ศักยภาพและความพร้อมของโรงพยาบาลศรีสวรรค์ด้านมาตรฐานการรักษาและบริการทางการแพทย์ระดับสากล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI และมีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาครอบคลุมทุกโรค

3.กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีประชากรจำนวนมาก และมีกำลังซื้อสูง โดยทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ทางกลุ่มตัดสินใจขยายการลงทุนไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นอีกทางเลือกของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล

ซึ่งทางกลุ่มมองเห็นโอกาสและต้องการส่งต่อความคุ้มค่าให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯที่เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางที่จะได้รับบริการการรักษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล และเข้าถึงง่าย

นายแพทย์ชวลิตกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลศรีสวรรค์ กรุงเทพมหานคร เป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ กล่าวคือมีศักยภาพในการรักษาพยาบาลขั้นสูง สามารถบริการรักษาโรคเฉพาะทาง โรคที่รักษายาก เป็นต้น โดยกำหนดแผนลงทุนไว้ในระยะ 5 ปี บนพื้นที่ทั้งหมด 9 ไร่ ขนาด 300 เตียง

โดยเริ่มลงทุนเฟสที่ 1 บนพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 60 เตียง ซึ่งจะเปิดบริการเดือนพฤศจิกายน 2565 และหลังจากนั้นในปี 2566 จะเริ่มพัฒนาเฟสที่ 2 ต่อเนื่อง บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยในเฟสนี้จะมีจำนวนเตียงเพิ่มเป็น 200 เตียง และเฟสที่ 3 จะมีการลงทุนเพิ่มเป็น 300 เตียง ซึ่งการลงทุนจะครบตามเป้าหมายภายใน 5 ปี

รพ.ศรีสวรรค์รายได้พุ่งพันล้าน

ปัจจุบันโรงพยาบาลศรีสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนดาวดึงส์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ ขนาด 200 เตียง มีบุคลากรทางการแพทย์และพนักงานราว 900 คน โดยมีทีมแพทย์จำนวน 150 คน บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานอีกกว่า 700 คน เพื่อให้การรักษาและบริการประชาชนในเขตจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง 5-6 จังหวัด

ทั้งนี้ มีจำนวนคนไข้นอกที่มาใช้บริการเฉลี่ยต่อปีราว 180,000 คน และมีจำนวนคนไข้ในที่เข้ามารับบริการรักษาราว 150 คนต่อวัน

โรงพยาบาลศรีสวรรค์ผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) อยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commission ซึ่งเป็นสถาบันของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โดยทางโรงพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ให้การรักษาผ่าตัดขั้นสูง เช่น ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดทรวงอก ส่องกล้องผ่าตัดสวนหัวใจขยายเส้นเลือดหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

โดยเฉพาะการรักษาคนไข้โรคหัวใจ ผ่าตัดสวนหัวใจ ที่ทางโรงพยาบาลศรีสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. คนไข้โรคหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัดสวนหัวใจขยายเส้นเลือดหัวใจ สามารถใช้สิทธิบัตรทองของ สปสช.กับทางโรงพยาบาลศรีสวรรค์ได้ โดยมีการรักษาคนไข้ไปแล้วกว่า 10,000 คน

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไข้โรคหัวใจเข้าถึงการรักษา เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ที่ไม่มีงบหรือมีรายได้น้อย

นายแพทย์ชวลิตกล่าวอีกว่า ผลประกอบการของโรงพยาบาลศรีสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2564 มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท และครึ่งปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) รายได้อยู่ที่ราว 600 ล้านบาท โดยรายได้ปี 2565 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10% หรือมีรายได้อยู่ที่กว่า 1,100 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564

ปั้นเวลเนสบูติคโฮเทล 300 ล้าน

ขณะนี้ทางกลุ่มมีแผนการลงทุนขยายธุรกิจบริการสุขภาพในจังหวัดนครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมรีโนเวตอาคารโรงแรมไอราวัณ ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่อายุราว 80 ปีของตระกูลวิมลเฉลา ที่ในอดีตเคยดำเนินกิจการโรงแรม

ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครสวรรค์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อยู่ใกล้กับต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารด้านหน้าของโรงแรมหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ในย่านตลาดการค้าเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์กลางเมืองนครสวรรค์

โดยจะปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เป็นโรงแรมที่เน้นให้บริการด้านสุขภาพ (IRAWAN Wellness Boutique Hotel By Srisawan) ซึ่งถือเป็นการแตกไลน์สู่ธุรกิจโรงแรม ที่วางจุดขายให้เป็นโรงแรม wellness โครงการจะพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีนี้ มีมูลค่าการลงทุนราว 200-300 ล้านบาท

นายแพทย์ชวลิตกล่าวต่อว่า IRAWAN Wellness Boutique Hotel By Srisawan จะมีรายละเอียดมากกว่าโรงแรมทั่วไป นอกเหนือจากการให้บริการห้องพักแล้ว จะมุ่งเน้นบริการ 3 ส่วนหลัก คือ 1.ศาสตร์การแพทย์แบบองค์รวม (holistic wellness) ที่เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน อาจเพิ่มแพ็กเกจการดูแลสุขภาพเข้ามาให้บริการภายในโรงแรม โดยเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลศรีสวรรค์ด้วย

2.personal care บริการดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวมด้วยธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย 3.holistic care การดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ทั้งด้านการดูแลสุขภาพ จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ wellness เป็นเทรนด์สำคัญในยุคหลังโควิด-19 เป็นตลาดที่น่าสนใจมากและมีอัตราการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง การแตกไลน์ธุรกิจของกลุ่มโรงพยาบาลศรีสวรรค์สู่โรงแรมเวลเนสครั้งนี้ ทางกลุ่มมองว่าคือ โอกาสที่จะรองรับตลาด wellness tourism ที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดัน ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง เพราะคนในยุคนี้หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันจังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ของภาคเหนือตอนล่าง มีดีมานด์กำลังซื้อทั้งคนในพื้นที่นครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง 5-6 จังหวัดที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงคนที่เข้ามาติดต่อธุรกิจการค้าและท่องเที่ยวในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจะส่งผลให้จังหวัดนครสวรรค์กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ (medical hub) ในภาคเหนือตอนล่างได้เร็วขึ้นในอนาคต