คุยกับ “ณัฐวัตร ตัณศิริเสถียร” มือปั้นขนมจีบป้าพิณ สู่ OTOP 5 ดาวเมืองตรัง

วันนี้หากใครมาเที่ยวเมืองตรัง หรือเมืองแห่งคนช่างกิน ต้องไม่พลาดของฝากสุดฮิต “ขนมจีบป้าพิณลำภูรา” ติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่ชื่อเสียงจะขจรขจายอย่างวันนี้ น้อยคนจะรู้ว่าผู้ที่ปลุกปั้น คือ “ณัฐวัตร ตัณศิริเสถียร” วัย 44 ปี เจน 3 ของขนมจีบป้าพิณลำภูรานั่นเอง

ณัฐวัตรเล่าว่า เกิดและเติบโตในครอบครัวร้านขายของชำเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง คลุกคลีช่วยงานที่บ้านตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะการทำขนมจีบ ซึ่งเป็นขนมพื้นเมือง โดยยายเป็นผู้เริ่มทำขาย สูตรที่ได้มาจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย จากนั้นรุ่นพ่อ แม่ ก็สืบทอดทำกันต่อ ๆ มา

“สมัยก่อนในละแวกหมู่บ้าน จะมีการทำขนมสำหรับรับประทานกับกาแฟในตอนเช้าหลายอย่าง ที่มีชื่อเสียงมาก คือ ขนมเค้ก ซึ่งมีต้นกำเนิดที่ตำบลลำภูรา นั่นคือขนมเค้กขุกมิ่ง แต่ก็มีขนมอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานมาพร้อม ๆ กับขนมเค้ก แต่ไม่มีชื่อเสียงเท่าที่ควร นั่นคือขนมจีบ”

ในฐานะที่เห็นการทำขนมจีบทุกขั้นตอน ทำให้รู้วิธีทำขนมจีบอย่างดีแม้ว่าช่วงหนึ่งที่ขนมเค้กโด่งดังมาก คนเริ่มลืมเลือนขนมจีบ แต่ ณัฐวัตรเห็นว่าน่าจะมีการสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ จึงไม่ทิ้งการทำขนมจีบขายอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะศึกษาจบปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ก็เลือกสานต่อธุรกิจเต็มตัว

โดยการขายจะมีทั้งหน้าร้าน และส่งขายไปตามร้านของชำ ร้านกาแฟต่าง ๆ ทั้งในหมู่บ้าน และละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง อาศัยการไปฝากขาย เริ่มจากการทำขนมจีบวันละ 20-30 ชิ้น แจกจ่ายให้กับชาวบ้านใกล้เคียงได้ชิมกัน จนได้รับเสียงตอบรับว่ารสชาติอร่อยจึงเริ่มทำขายอย่างจริงจังในราคาชิ้นละ 5 บาท

กระทั่งปี 2537-2538 เศรษฐกิจไม่ดี แต่มองว่าลงทุนทำขนมจีบจริงจังน่าจะไปได้ จนขยายตลาดไปหมู่บ้านอื่น ๆ และเพิ่มปริมาณการผลิตในแต่ละวันมากขึ้น ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานขนาดเล็กเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ใช้ชื่อว่าขนมจีนป้าพิณ ซึ่งเป็นชื่อแม่ ลักษณะพิเศษ คือ เป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณรอบขนม อีกด้านมีการทำเป็นกลีบสวยงาม ไส้สังขยาทำจากไข่เป็ดไล่ทุ่งเป็นหลัก ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมของครอบครัวที่สังขยาจะต้องอยู่บนเตาไฟถึง 3 ชั่วโมง

จุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง คือ ช่วงปี 2547-2548 ได้รับโอกาสจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง เข้ามาแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแพ็กกิ้ง และการทำตลาด พร้อมกับนำเข้าสู่หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ของจังหวัดตรัง มีการพัฒนาจนได้รับการพิจารณาให้เป็น OTOP ระดับ 5 ดาวของจังหวัดตรังมาจนถึงปัจจุบันนี้

“เราเริ่มมียอดการขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเพิ่มกำลังการผลิตกว่าวันละ 2-3 พันชิ้น ในปี 2550 จึงได้ทำการลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ขยายโรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และโรงงานแล้วเสร็จในปี 2551 จึงทำการผลิตได้มากกว่าวันละ 5-6 พันชิ้น และบางช่วงที่พีกสุด ๆ มีออร์เดอร์ที่ต้องผลิตได้ถึงวันละกว่า 1 หมื่นชิ้น”

ปัจจุบันขนมจีบป้าพิณลำภูราวางจำหน่ายทั้งภายในโรงงานที่ทำเป็นศูนย์จำหน่ายที่มาตรฐาน สามารถเลือกซื้อหา พร้อมนั่งรับประทานกับกาแฟได้อย่างสะดวกสบาย และนำออกจำหน่ายไปตามอำเภอต่าง ๆ ตลอดจนต่างจังหวัดทั่วประเทศ ในราคาชิ้นละ 20 บาท โดยขนมจีบป้าพิณมีอายุ 7 วัน หากเก็บในตู้เย็นสามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือน

ณัฐวัตรบอกอีกว่า สำหรับในปี 2561 นี้ ได้มีการจดทะเบียนขนมจีบป้าพิณเป็นนิติบุคคล ในนามป้าพิณกรุ๊ป โดยมีโครงการขยายกิจการออกไปอีกด้วยงบประมาณเบื้องต้นกว่า 5 ล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มกำลังคน จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 30 คน โดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะเน้นขยายไปทั่วประเทศ ผ่านช่องทางโอท็อปเทรดเดอร์ โมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตขนมทุกชนิด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตที่วันละ 10,000 ชิ้น ยอดขาย 100 ล้านบาทภายในปี 2563 นี้

นอกจากธุรกิจส่วนตัว หมวกอีกใบของณัฐวัตร คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรังโอท็อป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด เป็นคนกลางในการนำสินค้า OTOP จากทั่วประเทศเข้าสู่ตลาดโดยการสนับสนุนของกรมพัฒนาชุมชน พร้อมกับเป็นประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดตรัง ที่มีการขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่องในทุกมิติ จนได้รับการยอมรับจากสมาชิกในเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง

“ในส่วนของการพัฒนา OTOP นั้น ผมเน้นใน 3 เรื่อง คือเน้นการพัฒนาคน ให้เข้าใจงาน มีประสบการณ์ทำงานอย่างมืออาชีพ มีความรู้ตั้งแต่ระดับต้นจนพัฒนาสู่ OTOP ระดับจังหวัด คือ ทำให้คนผลิตสินค้าได้ ขายเป็น และมีรายได้เพียงพอ ด้านผลิตภัณฑ์ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช่น อายุผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้มาตรฐานสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก”

สำหรับจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียน OTOP จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,000 ราย มียอดขายในปี 2560 ที่ผ่านมามูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท สำหรับสิ้นปีนี้ตั้งเป้ายอดขายต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25% จากยอดขายของปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ด้านการตลาดสินค้า OTOP จะทำโดยเปิดตลาดตามอีเวนต์ต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ จับมือกับการบินไทย นำ OTOP ขึ้นจำหน่ายบนเครื่องบิน รวบรวม OTOP ที่ผ่านมาตรฐานเปิดตลาดจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายหลักในปีนี้ คือ ประเทศจีน และสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งตัวแทน OTOP ของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คนเป็นคนกลางในการรวบรวมสินค้า OTOP ของแต่ละจังหวัดที่มีอยู่กว่า 1 แสนราย นำเข้าสู่ส่วนกลาง โดยในปี 2562 จะมีการเปิดศูนย์บรรจุภัณฑ์กลางขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่จะเป็น outlet ของไทย ที่จะรองรับคนทั่วโลกให้มาดูงาน OTOP ที่นี่ นอกจากนี้ยังร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการจำหน่ายสินค้า OTOP จากทั่วประเทศ

ในส่วนของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ OTOP ก็ได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน SME BANK หาเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้ พร้อมแนะนำการจัดทำแผนธุรกิจให้อีกด้วย