กรมเจรจาฯ หนุนเกษตรกรใช้ FTA ดันชา-กาแฟ ส่งออกตลาดโลก

“เชียงราย” ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีเศรษฐกิจการค้าสําคัญ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงกับตลาดเมียนมาและ สปป.ลาว เข้าสู่ตลาดจีนตอนใต้ อีกทั้งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสําคัญทั้งกาแฟ ชา ผัก ผลไม้เมืองหนาว เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นโอกาสทางการค้าที่ชัดเจน ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าถึงตลาดและแข่งขันให้ได้ โดยใช้ (FTA) มาเป็นกรอบดำเนินงาน

ตลาดกาแฟแนวโน้มโตสูง

“บุณิกา แจ่มใส” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการ จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศคู่ค้า

เพื่อลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าศุลกากรสินค้าให้เหลือร้อยละ 0 หรือน้อยที่สุด จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี เป็นต้น โดยพืชเศรษฐกิจอย่าง ชา กาแฟ โกโก้ มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง

ไร่กาแฟดอยช้าง ที่ จ.เชียงราย ก็เป็นแหล่งผลิตกาแฟอีกหนึ่งแห่งที่มีคุณภาพ และได้ขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มีพื้นที่ทั้งหมด 30,000 ไร่ และผลผลิตที่ออกล้วนมีคุณภาพ

“ตอนนี้เทรนด์การบริโภคกาแฟทั่วโลกมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ กาแฟถือว่าเป็นปัจจัย 5 ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ตอนนี้ผลผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งปี 2566 เป็นปีที่วิกฤตเนื่องจากสภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกาแฟทั่วโลกลดลง ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้้น ราคากาแฟจึงมีราคาค่อนข้างดีและส่งผลดีต่อเกษตรกร”

ชา-กาแฟ

ทั้งนี้ ปี 2564 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟอันดับที่ 15 ของโลก และส่งออกเมล็ดกาแฟไป 18 ประเทศคู่ FTA ในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2565 มูลค่า 2,198,836 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 82.33 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.2 ของการส่งออกเมล็ดกาแฟทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกสำคัญในกลุ่มประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

ชาไทยอันดับ 1 ในอาเซียน

ขณะที่ ปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ชาไทยติดอันดับ 6 ของโลก เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าชาไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่า 12,124,417 ดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 28.23 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของการส่งออกสินค้าชาทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกสำคัญในกลุ่มประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน และจีน

“ชาก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญ ประเทศไทยมีการปลูกชาเยอะมาก อาทิ ชาอัสสัม ชาอู่หลง เป็นต้น ผู้ประกอบการเริ่มดีไซน์แปรรูปให้เข้ากับเทรนด์โลก และได้รับผลการตอบรับจากตลาดดี ต้องยอมรับว่าตลาดการค้าเสรีต้องมีการแข่งขัน

ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ต้นทุนต่ำ ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาประกอบกัน เพื่อได้สินค้าตัวใหม่ ทางกรมได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดส่งออกและพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้”

ชา-กาแฟ

เกษตรกรต้องพัฒนาคุณภาพ

ด้าน “ปณชัย พิสัยเลิศ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ของกรมเจรจาฯ ได้มาพูดคุยกับกาแฟดอยช้างถึงแนวทางการส่งออกว่า ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้มผลผลิตของเกษตรกรน่าจะมีมากขึ้น และการส่งออกก็อาจจะเกิดปัญหา

เพราะกาแฟก็สามารถนำเข้าได้ด้วย จึงกังวลว่ากาแฟจะล้นตลาด อย่างไรก็ตาม ดอยช้างคงไม่มีปัญหาเรื่องการจำหน่าย แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการบางรายต้องปรับตัวให้ได้

ในอดีตบนดอยช้างก็เคยทำการเกษตรที่เป็นลักษณะไร่เลื่อนลอย เหมือนกับในพื้นที่สูงอื่น ๆ ส่งผลให้ในแต่ละปีเกิดการถางป่าเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น จึงได้เกิดโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาวหลากชนิด เพื่อหาพืชทดแทนฝิ่น และเริ่มแจกพันธุ์กาแฟอราบิก้าให้ชาวเขาทดลองปลูกในปี 2526

ต่อมาคุณพ่อ (พิกอ พิสัยเลิศ) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้มาปรึกษาเพื่อนสนิทคือ คุณวิชา พรหมยงค์ ในการนำเมล็ดกาแฟสดมาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบดจำหน่ายในรูปแบบค้าปลีก คุณวิชาจึงเริ่มก่อตั้งบริษัทดอยช้างเฟรชโรสเต็ดคอฟฟี่ ผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟภายใต้ชื่อกาแฟดอยช้าง ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล ในปี 2553

เมื่อคุณวิชาเสียชีวิต ตนและคุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ก็ได้รับช่วงบริหารต่อ พร้อมปรับโลโก้ให้มีความทันสมัยขึ้น และรีแพ็กเกจบรรจุกาแฟคั่วบดให้มีสีสัน กระทั่งสามารถแข่งขันในตลาดได้ในปัจจุบัน

ชา-กาแฟ

ดอยช้างผลผลิตไม่พอส่งออก

“ปณชัย” บอกว่าตอนนี้กาแฟดอยช้างมีพื้นที่การเพาะปลูกอยู่ประมาณ 30,000 ไร่ ได้ขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ผลผลิตก็มีหลากหลายสายพันธุ์ เมื่อนำไปคั่วก็มีความโดดเด่นเรื่องกลิ่น อาทิ เมล็ดกาแฟกลิ่นผลไม้ กลิ่นช็อกโกแลต กลิ่นมะลิ เป็นต้น

แต่ปีนี้เจอปัญหาผลผลิตน้อยเนื่องจากสภาพอากาศ และช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าไปดูแลผลผลิตในสวนได้ ทำให้ปริมาณกาแฟลดลงจากเดิม 3,000-4,000 ตันต่อปี เหลือ 1,000-2,000 ตันต่อปี

“ที่ผ่านมากาแฟดอยช้างสัดส่วนการตลาดจะแบ่งเป็นขายในประเทศ 50% ส่งออก 50% แต่ปีนี้ผลผลิตน้อยมาก ๆ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการบริโภค จึงปฏิเสธการส่งออกต่างประเทศ รายได้ปีนี้ก็ตั้งเป้าไว้ค่อนข้างน้อย และปีนี้มีนักธุรกิจมาติดต่อของซื้อแฟรนไชส์เยอะมาก แต่ก็ต้องปฏิเสธเช่นกัน ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ปีหน้าอาจจะมีการขยายแฟรนไชส์”

สำหรับร้านกาแฟดอยช้างตอนนี้มีทั้งหมด 20 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่สนามบิน อาทิ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินเชียงใหม่ สนามบินอุบลราชธานี สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ฯลฯ และมีแฟรนไชส์ประมาณ 100 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีขายบนห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รวมถึงตลาดออนไลน์