พาณิชย์ กางแผนเจรจา FTA ปี 2566 เดินหน้าเคลียร์ FTA เก่า-ใหม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนการเจรจา FTA ปี 2566 เร่งเดินหน้าเคลียร์ FTA ที่ค้างให้จบภายในปีหน้า เตรียมลุยเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ทั้งสหภาพยุโรป อังกฤษ กลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) ตั้งเป้าให้ FTA สร้างแต้มต่อให้สินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก

วันที่ 19 ธันวาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยในปี 2566 ว่า กรมจะเร่งเดินหน้าเจรจาปิดรอบ FTA ที่ค้างอยู่โดยเร็ว ทั้ง FTA ระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ที่เริ่มเจรจากันรอบแรกเมื่อปี 2564 โดยจะผลักดันประเด็นสำคัญให้มีความคืบหน้ามากที่สุดภายในปี 2566 เพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปี 2567

รวมถึง FTA กับตุรกี ศรีลังกา ปากีสถาน และเอฟตา ที่อยู่ระหว่างเตรียมจัดหารือรอบต่อไปช่วงต้นปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าให้การเจรจาคืบหน้าและสามารถหาข้อสรุปได้ภายในปี 2566

สำหรับการเปิดเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ ไทยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สหราชอาณาจักร (ยูเค) กลุ่มประเทศแอฟริกา และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance)

โดยขณะนี้การหารือกับอียูเพื่อทำความเข้าใจประเด็นที่จะเจรจากันใน FTA มีความคืบหน้าไปมาก และยังมุ่งมั่นที่จะเปิดการเจรจากับอียูโดยเร็ว ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในการประชุม กรอ.พาณิชย์

สำหรับประเทศอื่น ๆ กรมอยู่ระหว่างศึกษาผลดี-ผลเสีย จัดรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ เรื่องการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยมีเป้าหมายที่จะให้ FTA ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยกับประเทศคู่ FTA จากร้อยละ 63.5 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 80 ภายในปี 2570

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งใช้บังคับเมื่อต้นปี 2565 ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย และ RCEP พร้อมเปิดรับสมาชิกใหม่ ตั้งแต่กลางปี 2566 ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายพันธมิตรทางการค้าให้ไปยังประเทศใหม่ ๆ ให้กว้างขึ้น

สำหรับในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2565) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 305.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.6 โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 146 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์