เชียงใหม่ ค่ามลพิษสูงสุดอันดับ 1 โลก ฝุ่น PM2.5 คลุมทึบเมือง

แฟ้มภาพ

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่วิกฤต จากข้อมูลเว็บไซต์ IQ AIR ขึ้นอันดับ 1 ของโลก จากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศแล้งจัด การสะสมของเชื้อเพลิงสูง การเร่งเผาก่อนประกาศห้าม ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ วอนรัฐเตรียมความพร้อมเชิงป้องกัน ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลเว็บไซต์ IQ AIR จัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษล่าสุดของวันนี้ จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นรั้งอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศสีแดง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเป็นอันตรายกับสุขภาพที่ระดับ 100 +

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง ภาพรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ พุ่งขึ้นสูงอยู่ในระดับสีม่วงเข้มอีกครั้ง

มีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถึง 511 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) คุณภาพอากาศอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ช่วงเช้าที่ผ่านมามีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถึง 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) คุณภาพอากาศไม่ดีอย่างยิ่ง

โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องงดกิจกรรมกลางแจ้งแจะต้องจัดเตรียมห้องสะอาด-หน้ากากอนามัยให้กับนักเรียน ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมนอกอาคาร รวมถึงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและเวลานาน ส่วมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เหมาะสมกับใบหน้าอย่างมิดชิด

เชียงใหม่อากาศแย่

นายชัชวาลย์กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นควันในขั้นอันตรายครั้งนี้ เกิดจากหลายปัจจัยคือ

1.สภาพอากาศที่แล้งจัด ไม่มีฝน เมื่อเทียบระยะเดียวกันจาก 2 ปีที่แล้ว ที่มีฝนตก ทำให้ฝุ่นควันไม่วิกฤตมากนัก

2.ปริมาณการสะสมของเชื้อเพลิงในช่วงระยะ 2 ปีที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ไม่มีการเผาไหม้ในพื้นที่ป่า

3.การออกประกาศวันห้ามเผาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2566 ส่งผลให้เกิดการเร่งเผาก่อนที่จะเข้าสู่มาตราการทางกฎหมายบังคับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบว่าพื้นที่การเผาที่หนักหน่วงรุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเผาในพื้นที่ป่าของรัฐ ซึ่งเชียงใหม่มีปริมาณป่าไม้ 7 ล้านไร่ (ป่าผลัดใบ) ส่วนการเผาในพื้นที่เกษตรแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะเริ่มเผาราวเดือนเมษายน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักในช่วงเวลานี้คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ ที่ไม่สามารถควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ ขณะที่จำนวนบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่มีค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอที่จะสามารถควบคุมพื้นที่ไฟในป่าแปลงใหญ่ได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงอยากให้รัฐบาลให้น้ำหนักในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเชิงป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า 80% และควรให้น้ำหนักการเตรียมเผชิญเหตุแค่ 20% แต่ปัจจุบันรัฐบาลให้น้ำหนักการเตรียมป้องกันเพียง 20% และให้น้ำหนักการเผชิญเหตุถึง 80% ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืน

ฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่