“เพชปุระ” กลุ่มผ้าทอ จ.เพชรบูรณ์ ขยายตลาด ปักหมุดส่งออก

เพชปุระ

“เพชรบูรณ์” หนึ่งในจังหวัดที่มีเอกลักษณ์การทอผ้าเฉพาะถิ่น เรียกว่า “ไทหล่ม” มีความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ ทั้งผ้าถุง ผ้าซิ่น ถุงย่าม แต่นับวันสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้จะสูญหายไปเรื่อย ๆ

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ใน 3 อำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์จึงรวมตัวกัน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าไว้ ในนาม “กลุ่มเพชปุระ” ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“นิชาภา แซมลำเจียก” ประธานกลุ่มเพชปุระ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า กลุ่มเพชปุระ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขา 2.กลุ่มทอผ้าบ้านวังร่อง 3.กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษา 4.กลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย 5.กลุ่มผ้ามัดย้อม ผ้าทอไทหล่มบ้านพร้าว 6.กลุ่มภูมรินท์ผ้าไท และ 7.กลุ่มเฮือนธนัชชา มีสมาชิกประมาณ 90 คน

ผู้ประกอบการทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อําเภอเขาค้อ อําเภอหล่มสัก และอําเภอหล่มเก่า เป็นคนรุ่นใหม่ มีทักษะด้านการออกแบบ มีความชำนาญด้านการทอผ้า เหตุผลหลักที่มารวมกลุ่ม เพราะว่าอยากอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมและรักษาภูมิปัญญางานผ้าของจังหวัดเพชรบูรณ์เอาไว้ โดยเฉพาะลวดลายผ้าโบราณต่าง ๆ ภายใต้กลุ่มชื่อ “เพชปุระ”

สําหรับผ้าพื้นเมืองมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ผ้าทอพื้นเมืองไทหล่ม (ผ้ามุกและผ้าหัว แดงตีนก่าน หรือหมี่คั่นน้อยไทหล่ม) 2.ผ้าชาวเขาผ้าปัก ชาวเขาเผ่าม้ง และ 3.ผ้ามัดหมี่ เป็นผ้าทอกี่กระตุก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเฮือนธนัชชาได้รับแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน จํานวน 3 ลาย คือ 1. ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง 2.ท้องทะเลไทย และ 3.ป่าแดนใต้ เพื่อนําไปประชาสัมพันธ์เป็นต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดขยายผล เพิ่มมูลค่า ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น

ตร.ส่งออกผ้าทอ

“เพชปุระเป็นการรวมอัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งแบ่งไปตามประเภทผ้าพื้นเมือง โดยการต่อยอดและจะมีการพัฒนาตั้งแต่วัตถุดิบ โดยเฉพาะเส้นใย อาทิ เส้นฝ้าย เส้นไหม เส้นใยกัญชง นำมาย้อมสีธรรมชาติและมีการออกแบบให้ทันสมัยและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น”

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในกลุ่มเพชปุระมีผลงานได้รับรางวัลมากมายเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาทิ ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ได้รับตรานกยูงพระราชทาน จากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ของสินค้ากระเป๋าเอกสารผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ จากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยนํานวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์ด้านการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบผลิตภัณฑ์

การผลิตสินค้าจะเน้นเรื่องคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการนําผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีความหลากหลายมาพัฒนาและต่อยอดผสมผสานให้เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งสามารถเป็นสินค้าที่แข่งขันได้ในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าผืนลวดลายต่าง ๆ อาทิ ผ้าซิ่นหมี่คั่นน้อย ผ้าซิ่นมุก ผ้าทอแปรรูป เช่น เสื้อ กางเกง กระเป๋าถือ และกระเป๋าสตางค์ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3,500 บาท มูลค่ารายได้รวมทั้ง 7 กลุ่ม ประมาณ 10 ล้านต่อปี

ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายสินค้ามีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ หน้าร้าน Pino late เขาค้อ ห้างโมเดิร์นเทรด King Power เพจ Facebook Line และ Instagram นอกจากนี้ยังมีการออกบูทงาน OTOP MIDYEAR และ OTOP CITY เป้าหมายหลักตอนนี้คือ ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมากลุ่มเพชปุระได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าในงาน “FTA Fair นำสินค้าไทย สู่ตลาดการค้าเสรี” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2565 จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผ้าทอของกลุ่มขิดโฆษาและกลุ่มเฮือนธนัชชา ได้ผลการตอบรับดีมากและมีคู่ค้าสนใจติดต่อซื้อผ้ากับทางกลุ่ม

“หลังจากกรมเจรจาการค้าระหว่างเปิดโอกาสให้กลุ่มเพชปุระได้นำสินค้าไปแสดงในงาน FTA Fair ทำให้คู่ค้าต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น รู้จักผลิตภัณฑ์มากขึ้น ในอนาคตวางเป้าหมายส่งออกไปยังต่างประเทศ”

สำหรับปี 2565 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลง FTA กับประเทศคู่ภาคีในสินค้าผ้าทอ (ไหม/ฝ้าย) และสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าทอ เป็นมูลค่า 73.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าในปี 2564 มูลค่า 65.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 11.77 ประกอบด้วย 1.ผ้าไหมทอ มูลค่า 0.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงกว่าในปี 2564 (มูลค่า 0.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ 38.21

2.ผ้าฝ้ายทอ มูลค่า 55.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าในปี 2564 (มูลค่า 47.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ 15.31 3.เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าทอ มูลค่า 18.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากขึ้นกว่าในปี 2564 (มูลค่า 17.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ 3.18