เสียงสะท้อนธุรกิจภูธร นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์-ปรัชญา สมะลาภา-สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย-ก้องศักดิ์ คู่พงศกร
จุลนิตย์ วังวิวัฒน์-ปรัชญา สมะลาภา-สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย-ก้องศักดิ์ คู่พงศกร

เครือมติชนเดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งสำคัญกับ “มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย” โดยจับมือกับ 5 พันธมิตร ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์” และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีที่ 4 “เสียงประชาชน : นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ”

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อน และข้อเรียกร้องจากตัวแทนภาคธุรกิจในแต่ละภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มานำเสนอ เพื่อส่งต่อไปยังพรรคการเมืองที่กำลังนำเสนอนโยบายและหาเสียงอยู่ในช่วงเวลานี้ ว่าจะมีแนวทางตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการในด้านต่าง ๆ อย่างไร เพื่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
จุลนิตย์ วังวิวัฒน์

เหนือจี้แก้ฝุ่นพิษกระทบเศรษฐกิจ

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่ต้องการให้แก้ไข คงไม่พ้นเรื่องหมอกควัน หรือ PM 2.5 ซึ่งถือเป็นปัญหาต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง ตั้งแต่โควิดปัญหารุนแรงมากขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน กระทบทั้งในเรื่องสุขภาพ และการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ผลกระทบจาก PM 2.5 ในภาคการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าไม่ต่ำ 1,000 ล้านบาท

และที่น่าสนใจก็คือ ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้สำรวจ และพบว่า เชียงใหม่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ในระดับประเทศมีค่าเฉลี่ยที่ 20 คนต่อประชากร 1 แสนคน จึงเห็นได้ว่าปัญหา PM 2.5 ของเชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือ ได้เริ่มทำลายสุขภาพของประชากรในพื้นที่

ภาคเอกชนมีความพยายามผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดให้รัฐบาลประกาศใช้ และให้ภาครัฐปรับกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมา กฎหมายและการทำงานของภาครัฐเองไม่มีการบูรณาการกัน บางกระทรวงมีการใช้กฎหมายทับซ้อนกัน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงาน กระทรวงคมนาคมดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ

หรือกระทรวงพลังงานดูแลเรื่องคุณภาพน้ำมัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องระดับมลพิษทางอากาศ ซึ่งกฎหมายบางอย่างทับซ้อนกัน ทำให้ไม่สามารถหาเจ้าภาพโดยตรงได้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบูรณาการ และปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องเข้ามาหารือกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดที่ไทยประเทศเดียว

ส่วนนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองปล่อยแคมเปญหาเสียงกันอย่างมากมาย สิ่งหนึ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือการหาเสียงในเชิงประชานิยม พรรคการเมืองใช้วิธีการเติมเงินเข้าไปในโครงการต่าง ๆ เช่น การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเพิ่มเงินการจ้างงาน การขึ้นค่าแรงต่าง ๆ น่ากังวลเพราะจะทำให้งบประมาณการคลังในระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะปัจจุบันมีการกู้เงินเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จึงอยากให้ทางพรรคการเมืองออกนโยบายที่จับต้องได้จริง และเข้าถึงระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำ จะเห็นได้ว่าตอนนี้หลาย ๆ ภูมิภาคเศรษฐกิจเหมือนจะดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขทางนโยบายอยู่ทั้งเรื่องต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น และเรื่องทุนต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่

ภาครัฐต้องมีมาตรการรองรับ และปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งเรื่องภาษี เรื่องของกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายลงโทษนอมินี โดยเฉพาะคนไทยที่ไปสนับสนุนให้การลงทุนต่างชาติ อยากจะให้ภาครัฐให้น้ำหนักในเรื่องนี้

รวมถึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูเรื่องการปราบปรามการทุจริต เช่น ทุนสีเทา หรือธุรกิจของทางภาครัฐเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ อยากให้มีกฎหมาย และมีการตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้

ปรัชญา สมะลาภา
ปรัชญา สมะลาภา

ตะวันออกเร่งกระจายอำนาจ

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัญหาหลักในโซนภาคตะวันออกที่ต้องแก้ไขแบบเร่งด่วนคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงช่วงมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ของพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้ความต้องการแรงงานตามฤดูกาลมากยิ่งขึ้น ทำให้มีปัญหาลุกลามเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประชาชน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจต้องมาควบคู่กับการแข่งขันกับคนอื่นได้ ทั้งนี้ ภาครัฐต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ส่วนภาคเอกชนจะดูแลด้านการส่งเสริม เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นความหวังของประเทศสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้

ขณะเดียวกัน นโยบายการขึ้นค่าแรง มองว่าสอดคล้องกับการขาดแคลนแรงงาน ถ้าหากธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ค่าแรงจะขึ้นเองตามซัพพลายดีมานด์ อย่างไรก็ตาม หากขึ้นค่าแรงโดยไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในภาวะลำบาก และโอกาสที่จะฟื้นตัวยาก เพราะมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากระทบ เช่น ต้นทุนของค่าแรงที่สูงขึ้น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย การเงิน เป็นต้น

การแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ต้องดูเป็นภาพองค์รวม การจะขึ้นค่าแรง เพื่อหวังพัฒนาให้คนกินดีอยู่ดี แต่ต้องดูศักยภาพของผู้ประกอบการด้วย ต้องให้ทุกคนวินหมด ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน แต่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลในฐานะผู้ขับรถที่จะพาทุกคนไปถึงจุดหมายปลายทางได้

นอกจากนี้ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายให้สถาบันการเงินผ่อนผันการจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยออกไป พอครบกำหนดผู้ประกอบการต้องนำเงินทั้งก้อนไปคืนทันที ถ้าคืนไม่ได้ต้องติดแบล็กลิสต์ ซึ่งปัจจุบันยังมี SMEs ที่ยังไม่มีความพร้อม เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไข

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลใหม่ปรับโครงสร้างการกระจายอำนาจเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้แต่จังหวัดต่าง ๆ ควรกระจายอำนาจให้ทางส่วนภูมิภาคได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจร่วมกัน เพราะปัจจุบันการตัดสินใจเรื่องงบประมาณจะขึ้นตรงกับภาครัฐส่วนกลาง ซึ่งเป็นคำสั่งให้ทำตาม

ตอนนี้งบประมาณทั้งประเทศที่กระจายลงมายังจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 28,000 ล้านบาท เฉลี่ยจังหวัดละ 100-200 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดิมมานานเป็น 10 ปีแล้ว จึงคิดว่าเรื่องการกระจายอำนาจตัดสินใจโครงการต่าง ๆ หากพรรคการเมืองไหนเสนอก็มีส่วนในการกระตุ้นการพัฒนาประเทศไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เรื่องการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องเตรียมความพร้อมแรงงานที่มีความสามารถ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา

ถ้ารัฐบาลสามารถกระจายอำนาจให้ทางจังหวัดมีพื้นที่อิสระเพิ่มขึ้นจากเดิมในเรื่องการพัฒนาการศึกษา คิดว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น ท้ายที่สุดถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาสิ่งแรกที่อยากให้ทำคือ เรื่องคอร์รัปชั่น ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนประชาชนมองเป็นเรื่องปกติยอมรับได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

เพราะเรื่องนี้สำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมีเรื่องคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องส่งผลให้การปรับปรุงพัฒนาประเทศลดลง

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

อีสานดันขับเคลื่อน NeEC

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานถูกมองว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งและมีความยากจนสูง มักจะเห็นแรงงานไปขายแรงที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งที่แท้จริงแล้วมีศักยภาพความพร้อมในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ซึ่งทางหอการค้าก็พยายามขับเคลื่อนอยู่ตลอด

โดยหลายพรรคการเมืองด้อยค่าในศักยภาพของพื้นที่ ออกนโยบายหาเงินทุนเข้ามาใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ ในเชิงการเมือง สร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความจนและจนลงไปอีก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่เอกชนอยากให้เกิดการลงทุนเพื่อมาเติมเต็ม ดึงแรงงานกลับบ้าน และเกิดการพัฒนามากกว่า

“สังเกตได้ว่าทุกพรรคการเมืองมักจะพูดและเสนอเรื่องค่าแรงเป็นหลักในการหาเสียง แต่ผู้ประกอบการยังไม่มีปัญญาจ่ายได้ เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินกว่าสภาพความจริง ทำให้มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ไม่มีพรรคการเมืองไหนใดบอกว่าจะพัฒนาทักษะของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ทั้งที่การพัฒนาจะสามารถสร้างเงินและสร้างรายได้มากกว่าจำนวนเงินที่ออกมาหาเสียง”

ทั้งนี้ หลายโครงการที่พรรคการเมืองเสนอลงมาในพื้นที่ภาคอีสาน มักจะเป็นแรงขับให้คนออกจากพื้นถิ่นเดิมไปทำงานที่อื่นมากกว่า ทั้งที่แรงงานมีความสามารถ มีฝีมือเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก มีความชำนาญในงานที่ทำมากกว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

เรื่องเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ที่อยากให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกหรือรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำทันที เพื่อให้เกิดการสร้างเงินสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดโควิด-19 ระบาด ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจไปมาก

เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงก็เกิดผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไปทั่วโลก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเข้ามาซ้ำเติม ฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและอยากเสนอให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยคิดช่วยขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งรัดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) โดยให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยคิด ช่วยทำให้เกิดการสร้างเงิน สร้างรายได้ในพื้นที่ได้ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะเป็นหัวใจสำคัญมากกว่า ซึ่งภาคอีสานมีพื้นที่ทำกินเป็นจำนวนมาก เก่งเรื่องการทำเกษตร สามารถต่อยอดได้

อยากให้รัฐมองไปยังบริบทโลกและเข้ามาช่วยสนับสนุนการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าวแทนที่จะปลูกเพียงฤดูกาลเดียว ให้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สร้างเงินได้ตลอดปี เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้คนอีสานไปขายแรงต่างถิ่นน้อยลง ทั้งยังลดปัญหาครอบครัวแตกแยกที่จะกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคตด้วย

“ที่จริงแผนงานต่าง ๆ ภาคเอกชนเราพูดมาตลอด เรื่องเดิม ๆ ไม่ต้องมาศึกษาอีกทีหลัง เพราะหลายอย่างไม่มีข้อแตกต่างกันมากนัก ฉะนั้นรัฐบาลใหม่เข้ามาต้องทำงานได้ทันที ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลแล้วต้องมานั่งศึกษาโครงการนั้น ๆ กันใหม่กว่าจะเริ่มงานได้

คุณไม่มีเวลามานั่งฮันนีมูน เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว ต้องแก้ไขเรื่องต่าง ๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อได้ทันที อยากให้คิดแบบเอกชน บรรดากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคมีความยุ่งยากเอาไว้แก้ทีหลัง ผมว่าการทำงานไม่น่ามีปัญหา”

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร
ก้องศักดิ์ คู่พงศกร

ใต้เร่งเชื่อมเครือข่ายอันดามัน

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ด้านดีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าความคาดหมาย แต่ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย

เพราะยังไม่มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ปัญหาการจราจร รถติด เพราะถนนตั้งแต่อดีตไม่ได้มีการพัฒนาเท่าที่ควร จึงอยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาจราจรตามแผนที่มีอยู่ 3-4 โครงการอย่างเร็วที่สุด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 รวมถึงการเร่งโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟรางเบา ที่เรียกร้องกันมากว่า 30 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ในระยะยาวจังหวัดภูเก็ตอยากได้ความมั่นคงเรื่องน้ำ ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำหรือแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมบนเกาะ เพราะปัจจุบันมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่กักตุนได้เพียง 3 แหล่ง คือ เขื่อนบางวาด คลองกะทะ และบางเหนียวดำ ซึ่งไม่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี อาจจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 4 และ 5 ต่อไป และโครงการผันน้ำมาจากเขื่อนเชี่ยวหลาน ระยะทางเกือบ 200 กม.ผ่านจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งสามารถรองน้ำไว้ใช้ได้ตามเส้นทางผ่านเป็นความยั่งยืนเรื่องประปามากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีโครงการสูบน้ำเหลือใช้จาก จ.พังงาส่งมาให้ จ.ภูเก็ตใช้ในหน้าฝน

เรื่องสุดท้ายที่ภูเก็ต เรื่องให้ภาครัฐกระจายอำนาจให้ จ.ภูเก็ต หรือจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมทั้งการกระจายรายได้ให้เพียงพอตามการสร้างรายได้ของจังหวัด เพื่อจะได้มีงบประมาณมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องการ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวที่อยู่อาศัยระยะยาวประมาณ 1 ล้านคน มีประชากรแฝง 7 แสนคน มีประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ 3.5 แสนคน ดังนั้น จึงได้รับงบประมาณตามจำนวนประชาชนในทะเบียนบ้าน

เห็นหลายพรรคพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ที่จะให้ภูเก็ตเลือกตั้งผู้ว่าฯเอง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีการเรียกร้องมาอย่างยาวนาน และพูดคุยกับหลายกระทรวงก็มีอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ก็ไม่แน่ใจว่า พรรคการเมืองใดที่จะเข้ามาจัดตั้งหรือเป็นแกนนำรัฐบาล จะสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างจริงจังหรือไม่ เพราะปัจจัยที่จะให้จังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าฯได้เอง เป็นเรื่องที่ต้องไปแก้อำนาจระบบระเบียบต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย

เมื่อได้รัฐบาลแล้ว อยากให้เร่งเชื่อมโยงภูเก็ตทั้งทางบกและทางน้ำอย่างใกล้ชิดกับพังงาและกระบี่ อาจต่อยอดไปถึงสตูลและตรังด้วย อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มเขตการท่องเที่ยวอันดามัน และพัฒนาโครงการระยะยาว แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคในภูเก็ต เชื่อว่าอาจเติบโตไปถึง 1 ล้านล้านได้ ถ้ามีการเชื่อมโยงไปยังพังงา กระบี่ จะทำให้คลัสเตอร์จากปัจจุบันมีเพียง 6-7 แสนล้านบาท จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทได้

เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะพร้อมและยินดีที่จะลงทุนเพียงแค่ 50,000-1 แสนล้านที่จะพัฒนาถนนหนทาง น้ำ ความสะดวกสบาย การขยายสนามบินต่าง ๆ รัฐบาลต้องมาคุยกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงถ้าสามารถจัดตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการเขตการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันขึ้นมา ทำงานกันอย่างจริงจัง