พิโกไฟแนนซ์ NPL ทะลุ 20% “อีสาน” นำโด่ง แนวโน้มพุ่งต่อ

พิโก

“พิโกไฟแนซ์” หนี้เพิ่มต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลข NPL ทะลุ 20% นายกสมาคมฯ ชี้อีสานหนัก เกษตรกรไม่มีเงินจ่ายหนี้ ภาคตะวันออกไม่น้อยหน้า เฉพาะฉะเชิงเทรา หนักสุดในรอบ 6 ปี ผู้ประกอบการแห่ปรับตัวสกรีนเข้ม-ชะลอปล่อยกู้ ส่วนภาคเหนือได้ท่องเที่ยวช่วยหนุนเงินสะพัด ตัวเลขหนี้ได้ต่ำ

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหากดูเอ็นพีแอลก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน อยู่ที่ 12.54% ของยอดสินเชื่อคงค้าง หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 351 ล้านบาท และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2566 ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.84% หรือคิดเป็น 1,350 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินเชื่ออนุมัติสะสม ณ เดือนมีนาคม 2566 จำนวนบัญชีทั้งสิ้น 3.13 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นจำนวนเงินรวม 3.12 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 4.34 แสนบัญชี เป็นจำนวนเงิน 1.21 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 2.69 ล้านบัญชี เป็นจำนวนเงิน 1.91 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี หนี้เอ็นพีแอลที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ รวมถึงในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ ตลอดจนกลุ่มปศุสัตว์ การเลี้ยงสุกรและโคขุน เพื่อนำไปขายต่างประเทศ พบปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถส่งออกไปขาย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีดอกเบี้ยผิดนัดค้างชำระสะสม แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ปรับดีขึ้น แต่รายได้ยังคงมีไม่เพียงพอชำระหนี้ค้างสะสม

“ยอมรับว่าหนี้เอ็นพีแอลส่วนใหญ่เกิดจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดติดชายแดนที่เป็นกลุ่มเกษตรเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคขุนเพื่อขายให้กัมพูชา แต่พบปัญหาราคาตก ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้ หรือกลุ่มรายได้ประจำที่อยู่ในกลุ่มโรงงาน ภาคตะวันออก ถูกลดโอที ค่าโบนัส ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง หรือกลุ่มผู้มีรายได้ประจำที่ลาออกจากงาน ทำให้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้” นายสมเกียรติกล่าว

อีสาน ลูกค้าเบี้ยวหนี้เพียบ

นายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ พลัส จ.ขอนแก่น กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้ตัวเลข NPL ของบริษัทขยับเพิ่มขึ้นใกล้ 20% แล้ว จากยอดปล่อยกู้สะสมประมาณ 20-30 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ประกอบการธุรกิจค้าขาย กู้เฉลี่ย 1 แสนบาท/ราย และกลุ่มที่กู้เพื่อนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน

ปัจจัยหลักมาจากค่าครองชีพของลูกค้าสูงขึ้น แต่เงินเดือนหรือรายได้เท่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การชำระเงินกู้ของลูกค้าลดน้อยลง แม้กระทั่งเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการก็เริ่มชะลอการใช้หนี้ เพื่อกุมเงินไว้ก่อน เนื่องจากไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจ

“จริง ๆ แล้วดอกเบี้ยของพิโกไฟแนนซ์ยังคงเท่าเดิมมาตลอด ไม่ได้มีการปรับขึ้นเหมือนธนาคาร ของ บูราพาณิชย์ คงอยู่ที่ 2% ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไว้คือ 28% ต่อปี ในกรณีมีหลักทรัพย์ และ 33% ต่อปี ในกรณีไม่มีหลักทรัพย์ ซึ่งลูกค้าเราเป็นลูกค้าที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นโฉนดมากถึง 90% ส่วนที่ไม่มีหลักทรัพย์เพียง 10% เท่านั้น”

เช่นเดียวกับนายนพดล อุบลแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจวัฒนา 99 จำกัด จ.ขอนแก่น ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้ภาพรวมหนี้เสียของพิโกไฟแนนซ์ในขอนแก่นมีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบัน ตัวเลข NPL น่าจะอยู่ที่ 25-26% และมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2565 ที่ผ่านมา จากรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากปริมาณของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับบริษัทเองปัจจุบันปล่อยกู้สะสมไปแล้ว 22 ล้านบาท เกิดหนี้เสียประมาณ 20% จากปีที่แล้วเพียง 10% กว่า ๆ ลูกค้ามาจากหลากหลายอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีเงินเดือนประจำ ทั้งพนักงานค้าปลีก ค้าส่ง โรงงาน โรงพยาบาล เป็นต้น ที่ผ่านมามีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่มีรายได้แล้วแต่ไม่มาใช้หนี้ แต่นำไปใช้จ่ายในครัวเรือน บางคนจงใจเบี้ยวหนี้ ลาออกจากงานประจำแล้วหายไปเลย

“ส่วนใหญ่เราจะปล่อยกู้เฉลี่ยประมาณ 40,000 บาท/ราย สูงสุดไม่เกินรายละ 50,000 บาท และจากนี้ไปจะเพิ่มความเข้มงวดในการวิเคราะห์และปล่อยกู้มากขึ้น เช่น ความน่าเชื่อถือของสถานที่หรือบริษัทที่ลูกค้าทำงานอยู่ รายได้สุทธิต่อเดือนต้องสูง 7,000-8,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น”

ตะวันออก แปดริ้วหนัก

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จ.ฉะเชิงเทรา ยอมรับว่าขณะนี้ภาพรวมของผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในภาคตะวันออกมีตัวเลข NPL ขยับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20% ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าหนักสุดในรอบ 6 ปี

โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือกลุ่มที่ใช้บริการพิโกไฟแนนซ์มีภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ผู้ปกครองที่โรงเรียนเปิดเทอม พนักงานตามโรงงานหลาย ๆ แห่งเริ่มไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) เนื่องจากโรงงานเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ โรงงานบางแห่งลดพนักงาน ลดเงินเดือน หรือบางแห่งปิดตัวไป เป็นต้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าของทรีมันนี่เอง ส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงาน และมีทั้งกลุ่มที่ยังมีการชำระหนี้ตามปกติ ซึ่งสามารถกลับมาขอกู้ใหม่ได้ หรือบางรายก็กู้ไปแก้หนี้นอกระบบแล้วทยอยจ่ายจนหมดและไม่กลับมากู้อีก ส่วนอีกกลุ่มกู้แล้วจ่ายคืนบ้างและไม่จ่ายบ้าง และเป็น NPL บางส่วน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งกู้แล้วไม่ชำระคืนบริษัทก็ต้องฟ้อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับตัวเพื่อป้องกัน NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจะเน้นการปล่อยกู้เฉพาะกลุ่มพนักงานโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นโรงงานผลิตสินค้าระยะยาว ไม่ใช่แค่ชั่วคราว และต้องมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งทำให้บริษัทปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง และครึ่งปีหลังนี้คงหมุนเวียนปล่อยกู้อยู่ในจำนวน 750 ล้านบาท

ขณะที่นายวชิระ โรจน์ทิพยรัก กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลุ่ม ฉัตรฟ้า ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จ.เพชรบูรณ์ และมีเครือข่ายสาขาในจังหวัดภาคเหนือหลายจังหวัด กล่าวว่า หลังจากช่วงโควิด-19 ผ่านพ้นไป การท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์และภาคเหนือเริ่มดีขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้ามาในระบบและมีกำลังซื้อมากขึ้น การชำระหนี้ไม่มีปัญหา ส่งผลให้ตัวเลข NPL กลุ่มฉัตรฟ้าเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เหลือเป็นตัวเลขหลักเดียว หรือประมาณ 15 ล้านบาท จากยอดปล่อยกู้สะสมทั้งหมดกว่า 70 ล้านบาท

และคาดว่าภายในปีนี้ยอด NPL จะเหลือเพียง 5% จากยอดปล่อยกู้สะสมปีนี้รวมมากกว่า 80 ล้านบาท โดยหลัก ๆ บริษัทเน้นปล่อยกู้กับกลุ่มพนักงาน หรือคนที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000-25,000 บาท/ราย ลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มพนักงานเงินเดือนกว่า 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นข้าราชการ