เอกชน “ภูเก็ต” ชง นายกฯ ยกระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต เสนอแนวทางยกระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 เรื่อง พร้อมร่างข้อเสนอมาตรการระยะเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว (พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน)

วันที่ 11 กันยายน 2566 นายก้าน ประชุมพรรณ์ ผู้บริหารเดอะบีชกรุ๊ป ประธานบริหาร บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด และหัวหน้าโครงการวิจัยกระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (บพท.) เปิดเผยว่า ได้มีข้อเสนอแนวทางการยกระดับเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ขอเพิ่มงบประมาณการพัฒนาสนามบินนานาชาติภูเก็ต เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่า ปี 2567 จะมีปริมาณนักท่องเที่ยวที่ 18,000,000 คน และเสนอโครงการสนามบินแห่งใหม่จังหวัดพังงา ซึ่งมั่นใจว่าอันดามันจะสามารถเป็นฮับทางการบินแห่งใหม่ของทวีปเอเชียได้

2.การปรับใช้กฏหมายเฉพาะกาล ด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต พังงาและอันดามันให้เป็นไปตามบริบท และผลักดันนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและอุตสาหกรรม บริการของรัฐบาล 3.ภูเก็ตเมืองพี่น้องแห่งการลงทุน “Sister City of Investment” ส่งเสริมให้มีนโยบายด้านการเงินการคลัง และการลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากมีนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมีความสนใจที่จะนำเม็ดเงินเข้ามา เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านอสังริมทรัพย์ ภาคบริการ ระบบขนส่งมวลชนและตลาดเงินดิจิทัล

3.“Transit Oriented Development and Land Bridge” ยกระดับการเชื่อมโยงการคมนาคม ในพื้นที่อันดามันแบบบูรณาการ โดยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสร้างแลนด์มาร์กใหม่พร้อมเทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่าง เช่น

ย่านเมืองเก่าภูเก็ตควรจะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้สะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังขอบเขตต่าง ๆ ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมถึงทางเรือควรจะมีโฮมพอร์ต (ท่าเรือ) และแหล่งช็อปปิ้ง ซึ่งกรมโยธาฯพร้อมเป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนกระเช้าลอยฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง แก้ปัญหาเรื่องรถติดและส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่เมืองระดับโลก 5.พัฒนาตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับ Smart City

นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้ร่างข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว (พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน) มาตรการระยะเร่งด่วน คือ

1.ขอขยายระยะเวลาพักชำระหนี้คืนเงินต้นทุนทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน ออกไปอีก 12 เดือน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้รายเดือนให้กับผู้ประกอบการ

2.ขอให้ภาครัฐมอบเงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลและไม่มีการเลิกจ้างแรงงานในธุรกิจตนเอง โดยอาศัยฐานข้อมูลจากหน่วยงานประกันสังคมและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำมาใช้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกรอบวงเงินช่วยเหลือพิเศษให้กับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายเพื่อเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถดูแลพนักงานลูกจ้างในองค์กรได้

3.ขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ Soft Loan อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี 4.ขอให้หน่วยงานภาครัฐจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับเตรียมเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะรายที่ไม่มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยกองทุนสามารถเข้าไปรับซื้อสถานประกอบการร่วมลงทุนซื้อหุ้นและกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นคืนจากกองทุนได้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันกลุ่มนักลงทุนที่ฉวยโอกาสเจรจาต่อรองราคาและเข้าซื้อสถานประกอบการในมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาดจากผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหา

ด้าน นายธนภัทร อุทวราพงศ์ นักวิเคราะห์วิจัย อันดามันพัฒนาเมือง กล่าวว่า การพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (AWC) จะช่วยลดปัญหาทางด้านการเงิน และปัญหาต่าง ๆ ได้ อาจจะทดลองทำในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งภาคเอกชนพยายามผลักดันมาโดยตลอด ถ้าหากทำได้ภูเก็ตจะเป็นจุดศูนย์กลาง มีเม็ดเงินไหลเข้า สำหรับกรอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางสภาพัฒน์เคยทำไว้แล้วแต่ไม่ได้เดินต่อเนื่องจากเขามองเป็นอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้มองเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ขณะที่นายบุญโชติ กิตติสิทโธ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชมรมธนาคารจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การทบทวนนโยบายและช่วยเหลือผู้ประกอบการ Asset Warehouse จากธนาคารแห่งประเทศไทย ควรมีการจัดตั้งกองทุนอื่น ๆ เพื่อที่จะมารองรับช่วยเหลือการเติบโต ของผู้ประกอบการซึ่งสถาบันการเงินของรัฐ ในปัจจุบันสามารถช่วยผู้ประกอบการฐานรากได้ดี ควรจะมีการตั้งกองทุนศูนย์การเงินเกาะภูเก็ต ที่ไม่ต้องไปยื่นเอกสารในการขอเงินกับธนาคาร

ส่วนผู้ค้ำประกันคือบุคคลที่เชื่อถือได้หรือสถาบันการเงินหรือหน่วยงานหรือสมาคม คล้าย ๆ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บสย. เพราะว่ามาตรการซอฟต์โลน มาตรการพักชำระหนี้และมาตรการต่าง ๆ จะสิ้นสุดในปี 2566 ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในระยะเวลา 3-5 ปีถ้าเอากลับมาไม่ได้ รัฐบาลจะต้องช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้ขยายระยะเวลาแก่ผู้ประกอบการ