สภาเกษตรถกปมภาษีที่ดิน ทุเรียนป่วนซ้ำรอยสวนยาง

ทุเรียน

การเก็บภาษีที่ดินตามเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงการคลัง-มหาดไทยวุ่นหนักทั่วประเทศ หลังชาวสวนยางนำร่องฟ้องศาลปกครองขอให้ยกเลิกประกาศ เหตุไม่มีใครปลูกพืชได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเสียภาษีที่ดินเพิ่ม ซ้ำเติมรายได้จากพืชผลทางการเกษตรที่ผันผวนอยู่แล้ว ผู้ปลูกทุเรียน-มะม่วง-ลำไย-ปาล์ม-กาแฟรายย่อยทำไม่ได้ บางแห่งติดปลูกพืชผสมผสาน แถมยังไม่รู้ว่ามีประกาศออกมา วอนรัฐขอให้คำนึงถึงความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ พร้อมเดินหน้านำเรื่องเข้าหารือในสภาเกษตรแห่งชาติ

ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 มกราคม 2563 ที่มีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดอัตราขั้นต่ำในการปลูกพืชเกษตร 57 ชนิต่อไร่บัญชีแนบท้าย ก.) เพื่อกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้สร้างความสับสนและเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ทั้งกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชตามอัตราขั้นต่ำต่อไร่ตามที่กำหนดไว้ได้ และยังรวมไปถึงเกษตรกรไม่ทราบมาก่อนว่า ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว

โดยความเดือดร้อนที่จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราที่สูงกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชในอัตราขั้นต่ำตามที่บัญชีแนบท้าย ก. กำลังขยายวงจาก “ยางพารา” ไปยังพืชเกษตรชนิดอื่น ๆ หลังจากที่สมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย ยื่นร้องศาลปกครอง

เกณฑ์ทุเรียนต่อไร่วุ่น

นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับเกษตรกรตามอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ ตามประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กำหนดการปลูกทุเรียน 20 ต้น/ไร่ ในภาคใต้นั้น “ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง”

เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกทุเรียนกันที่ 16-18 ต้น/ไร่ เนื่องจากการปลูกระยะห่างทำให้เติบโตได้ดี ควบคุมทรงพุ่มได้ บริหารจัดการโรคพืช แมลงได้ แต่ถ้าปลูกถี่ ต้นจะสูง ได้รับแสงแดดน้อย ผลผลิตไม่ค่อยได้ผล อัตราผลตอบแทนต่ำกว่า สอดคล้องกับ นายศิริ เห่าสกุล นายกสมาคมทุเรียนใต้ กล่าวว่า การปลูกทุเรียน ระยะที่เหมาะสมคือ 10×10 เมตร 1 ไร่ ปลูกได้ 15-16 ต้นเท่านั้น

“การจัดเก็บภาษีขั้นต่ำตามจำนวนชนิดพืชที่ปลูกนั้น เจ้าหน้าที่รัฐควรเข้ามาสำรวจพื้นที่สวนของเกษตรกรจริง เพราะพืชแต่ละชนิดแต่ละโซนต่างกัน สวนทุเรียนภาคใต้จะรับลมแรงต่างจากภาคตะวันออก การปลูกทุเรียนระยะชิดมาก 20 ต้น/ไร่ สวนยางพาราก็เหมือนกัน

ภาคใต้จะปลูกในอัตรา 66 ต้น/ไร่ จากบัญชีแนบท้าย ก. ที่กำหนดให้ปลูก 80 ต้น ซึ่งไม่มีใครทำได้ ถ้าจะทำเรื่องที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นโยบายของรัฐควรเก็บภาษีที่ดินที่ว่างเปล่าดีกว่าจะมาจัดเก็บภาษีในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งควรประเมินจากความเป็นจริง” นายศิริกล่าว

พืชต่างกันไม่ควรเก็บภาษีเท่ากัน

จากการสอบถามเจ้าของสวนผลไม้แบบผสมผสาน อ.เขาสมิง จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า บัญชีแนบท้าย ก. ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำของการปลูกพืชต่อไร่ของกระทรวงมหาดไทย-คลังนั้น “ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง” 3 ประการ คือ 1) มูลค่าของพืชที่ปลูกต่างกัน เช่น หมาก กก.ละ 3 บาท กับทุเรียน กก.ละ 100-120 บาท ต้นทุนและรายได้ของพืชแต่ละชนิดก็ไม่เท่ากัน

2) สวนที่ปลูกพืชผสมหลายอย่าง จำนวนพืชแต่ละชนิดที่ปลูกไม่เป็นไปตามที่กำหนด และ 3) การจัดเก็บภาษีพืชบางอย่างต้องคิดรายได้เฉลี่ย เช่น มังคุด กว่าจะประเมินรายได้ต้องประมาณ 5 ปี ต้องคิดเป็นรายได้เฉลี่ย เพราะผลผลิต รายได้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายแต่ละปีไม่เท่ากัน

“สวนแต่ละแห่งก็ต่างกัน บางรายทำสวนอินทรีย์ แบบรายทำสวนผสมผสาน ไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้นจำนวนต้นและไร่ที่รัฐบาลกำหนดออกมาจึงเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ละสวนมีรายได้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างกัน”

ด้านนายศิริไพบูลย์ วัฒณวงศ์ชัย สมาชิกสภา อบจ.สระแก้ว เขต 2 ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว และเกษตรกรชาวสวนลำไย จ.สระแก้วกล่าวว่า ส่วนใหญ่ชาวสวนลำไยจะปลูก 20-25 ต้น/ไร่ แต่เมื่อต้นโตพุ่มใหญ่ขึ้น ต้องตัดออกให้เหลือไร่ละ 10-15 ต้น

ขณะที่ประกาศแนบท้าย ก. กำหนดอัตราปลูกลำไยขั้นต่ำไว้ที่ 20 ต้น/ไร่ ซึ่งหมายถึงชาวสวนลำไยจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราที่สูง เพราะปลูกได้ไม่ถึงจำนวนที่กำหนด ส่งผลให้ชาวสวนลำไยเดือดร้อนจากภาษีที่ดินที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้น

“ประกาศฉบับนี้เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนลำไย เราปลูกลำไยยังไม่รู้ว่า ปีนี้จะมีกำไรหรือไม่ อย่างบางปีลำไยราคาตกลงมาเหลือ กก.ละ 20 บาท ต้นทุน กก.ละ 25 บาท แต่ต้องถูกเก็บภาษีที่ดินในราคาแพง

ดังนั้นการเก็บภาษีในรูปแบบนี้ อัตราเสียภาษีจะมากหรือน้อย เราก็ไม่เห็นด้วย ถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ที่สำคัญการกำหนดจัดเก็บภาษีที่ดินรูปแบบใหม่นี้ เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปรับรู้น้อยมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่า มีประกาศแบบนี้ออกมาบังคับใช้แล้ว” นายศิริไพบูลย์กล่าว

ส่วนเจ้าของแปลงใหญ่พริกไทยที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี กล่าวว่า อัตราการปลูกพริกไทยของเกษตรกร อยู่ในอัตรา 400 ต้น/ไร่ ระยะปลูก 2×2 เมตร ด้วยพื้นที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ เสียภาษี บภท.5 เป็นการเสียภาษีรวมให้ อบต.แก่งหางแมว เรียกว่า “ภาษีดอกหญ้า” แต่ อบต.ไม่ได้เก็บมาระยะหนึ่งแล้ว 2-3 ปี และยังไม่ทราบว่ามีการประกาศจัดเก็บภาษีการปลูกตามอัตราขั้นต่ำด้วย
กระทบเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ

นายจิระวัฒน์ ภักดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนระโนดกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด อ.ระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองระโนด ได้ส่งเสริมปลูกกล้วยหอมทอง 200 ต้น/ไร่, กาแฟพันธุ์โรบัสต้า 150-170 ต้น/ไร่ และพันธุ์อราบิก้า 533 ต้น/ไร่ ในพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย-กระทรวงการคลัง

แต่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบกรณีที่ปลูกพืชเชิงซ้อน หรือสวนผสมผสานที่ปลูกร่วมกัน โดยเฉพาะสวนรายย่อย สวนตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งจะปลูกพืชไม่ได้ตามกำหนด เช่น ยางปลูกร่วมกับหมาก-กาแฟ ปลูกสละรวมโกโก้ และปลูกพืชอื่นร่วมกับไม้เศรษฐกิจ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางร่วมกับพืชอื่น ๆ ประมาณ 50,000 ไร่/ปี และขณะนี้ผ่านไป 2 ปีได้ส่งเสริมการปลูกไปแล้วประมาณ 100,000 ไร่

“ประกาศฉบับนี้น่าจะมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน และผู้ที่มีดินไว้ครอบครองเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าเป็นที่ดินว่างเปล่าก็จะต้องเสียภาษีมาก และถ้าปล่อยทิ้งร้างก็จะเสียภาษีสูงขึ้น และจะถูกปรับ ดังนั้นหลายรายจึงปล่อยให้มีการเช่าทำเกษตรกรรม แต่เมื่อมาปลูกพืชไม่ได้ตามกำหนดก็จะต้องถูกจัดเก็บภาษีอีก”

นายนัด ดวงใส อนุกรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ เกษตรกรทั่วประเทศยังไม่รับทราบอย่างทั่วถึงและมีความเข้าใจ

เพราะจากการประชุมชุมนุมสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 “ก็ยังไม่มีการพูดคุยกัน” ที่สำคัญ การกำหนดจำนวนการปลูกพืชแต่ละชนิดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ ถือว่ามีความขัดแย้งในหลักของสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศด้วย

ยกตัวอย่าง การปลูกกาแฟ ทางภาคใต้จะปลูกพันธุ์โรบัสต้า เกษตรกรรายใหญ่แถบ จ.ชุมพร จ.ระนอง ประเภทแปลงใหญ่เชิงเดี่ยวสามารถปลูกได้ตามกำหนด 150-170 ต้น/ไร่ ซึ่งมีไม่เกินร้อยละ 10% ส่วนเกษตรกรอีก 90% จะปลูกเชิงซ้อนผสมผสานยางกับกาแฟ ปาล์มน้ำมันกับกาแฟ และทุเรียนกับกาแฟ ที่อาจจะทำตามประกาศไม่ได้

เจ้าหน้าที่คลังก็ยังไม่ทราบเรื่อง

นายอาทิตย์ เกษมศรี เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะม่วงราว 50-60 ไร่ เฉลี่ยไร่ละ 45 ต้น ซึ่งโดยปกติได้เสียภาษีที่ดินอยู่แล้วทุกปี แต่เกณฑ์การเก็บภาษีที่ดินตามประกาศฉบับใหม่มีอัตราการจัดเก็บเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็จะทำให้ภาระต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การปลูกมะม่วงของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาโดยตลอด จึงมองว่าหากรัฐบาลมีการปรับขึ้นภาษีที่ดินในหลักเกณฑ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน

ด้านเจ้าหน้าที่ส่วนการคลัง เทศมนตรีตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ ซึ่งในพื้นที่อำเภอสารภี มีพืชเกษตรคือ ลำไย ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีที่ดินในการทำเกษตรมีอัตราการจัดเก็บเดิมอยู่ที่ 0.01% แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีที่ดินของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เนื่องจากมูลค่าของราคาที่ดินรวมทั้งหมดของการปลูกลำไยไม่ถึง 50 ล้านบาท จึงได้รับการ “ยกเว้น” การเสียภาษี

เรื่องถึงสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ล่าสุด นายพันธ์ศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2566 ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะนัดประชุมกัน ตนจะนำเรื่องประกาศกระทรวงการคลัง-กระทรวงมหาดไทยฉบับนี้เข้าไปหารือในที่ประชุม ว่าแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกันอย่างไร เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ในพื้นที่ จ.กระบี่ มีเกษตรกรปลูกทั้งปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องประกาศที่ออกมา การปลูกปาล์มน้ำมันปกติประมาณ 20-22 ต้น/ไร่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่การปลูกปาล์มน้ำมันบางพันธุ์ที่มีใบยาวมาก ต้องปลูกเพียง 18 ต้น/ไร่ ที่ผ่านมาเกษตรกรขายปาล์มน้ำมันก็เสียภาษีรายได้อยู่แล้ว ยังจะต้องมาเสียภาษีที่ดินอีก “เกษตรกรตายอย่างเดียว”

ขณะเดียวกัน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบเรื่องที่ชาวสวนยางได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินที่สูงขึ้นแล้ว จึงได้ทำหนังสือถึง รมว.การคลัง และ รมว.มหาดไทย เพื่อขอให้พิจารณาปรับอัตราขั้นต่ำการปลูกยางจาก 80 ต้น/ไร่ เหลือ 25 ต้น/ไร่

เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการจัดเก็บภาษี ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านภาษีให้กับเกษตรกร และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ที่ได้กำหนดนิยามของคำว่า สวนยาง หมายถึง “ที่ดินปลูกต้นยางเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่า 10 ต้น โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น”