เชียงใหม่ปลุกเทศกาล “ยี่เป็ง” ดันเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับสู่เทศกาลนานาชาติ อัด 5 บิ๊กอีเวนต์ดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศ คาดเงินสะพัด 400 ล้านบาท
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่เตรียมจัดงานเทศกาล “ยี่เป็งเชียงใหม่” อย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566 นี้ โดย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น
และเทศกาลยี่เป็งถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลสําคัญ ในการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาวของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็น Soft Power ที่สำคัญจนทำให้เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
จากศักยภาพดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่จึงร่วมกับทุกภาคส่วน ใช้งานเทศกาลเป็นหนึ่งในกลยุทธสําคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยในปีนี้ได้ยกระดับการจัดเทศกาลยี่เป็งสู่สากล และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาต่อยอดเทศกาลยี่เป็ง
อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่มีมาตรการเข้มข้นในการปล่อยโคมลอยช่วงเทศกาลยี่เป็ง โดยกำหนดการปล่อยโคมเฉพาะเขตที่สามารถปล่อยได้เท่านั้น และต้องเป็นโคมที่ได้มาตรฐานรับรองเท่านั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการฝ่าฝืน จะดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบว่ามีการขาย หรือปล่อยโคมลอยในพื้นที่ห้ามปล่อยก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ในปีนี้จะมีความแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา โดยได้เน้นแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่คือ การใช้กลไกเทศกาล 12 เดือน 12 เทศกาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Lanna Soft Power ผลักดันเทศกาลยี่เป็งสู่เทศกาลแห่งแสงไฟ ที่จะยกระดับสู่เทศกาลนานาชาติ
สำหรับกิจกรรมงานเทศกาลประจำเมือง “ยี่เป็ง เชียงใหม่ 2566” ภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว (Visit Lanna) ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- การออกแบบช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านระบบออนไลน์ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้ง่าย
- ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ผลักดันเทศกาลยี่เป็งสู่เทศกาลนานาชาติ
- เจาะตลาดการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะที่สนใจเดินเล่นชมสถานที่สำคัญในตรอกซอยที่มีการประดับไฟ
- การคัดเลือกสินค้าเด่น อาทิ สปา อาหาร ที่มีความโดดเด่นที่มีเฉพาะในช่วงเทศกาลยี่เป็ง
- ร่วมมือกับบริษัท ไนแอนติก ซึ่งเป็นเจ้าของ ผลิตภัณฑ์เกม Pokémon GO เป็นเกมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในการพัฒนาเส้นทางพิเศษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในเกม Pokémon GO ที่จะเปิดให้บริการในช่วงเทศกาลยี่เป็งในปีนี้
ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่และเทศกาลยี่เป็งจะเป็นสถานที่แรกที่เกม Pokémon GO จะมาร่วมสร้างการผสมผสาน การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับเทศกาลดั้งเดิมของเมือง เป็นนวัตกรรมและปรากฏการณ์ใหม่ครั้งแรกในการจัดงานเทศกาลประจําเมืองในประเทศไทย
ทั้งนี้ ความพิเศษที่แตกต่างของเทศกาลยี่เป็งในปีนี้ คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 5 หมื่นคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเชียงใหม่ราว 400 ล้านบาท
นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว กล่าวว่า การร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดเทศกาลยี่เป็งในปีนี้ โดยการใช้กลไกเทศกาลซึ่งถือเป็น Soft Power ของจังหวัดเชียงใหม่ จะส่งผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะสามารถยกระดับสู่เทศกาลนานาชาติต่อไป