4 หอการค้า บี้กระตุ้นเศรษฐกิจปี’67 อัดอีเวนต์เมืองรอง-สร้างรายได้

แรงงาน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในหลายจังหวัดที่อึมครึม ซบเซาในปีเก่า 2566 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหลายภาคส่วน ยังมีความกังวลมากมายในการก้าวเดินต่อไปในปีมะโรง 2567 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์หอการค้า 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจส่วนหนึ่ง ซึ่งได้มาสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละภาคที่มีบริบทแตกต่างกัน

รวมถึงนำเสนอสิ่งที่อยากฝากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยเฉพาะมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นมา ทั้งในเมืองหลัก และเมืองรองซึ่งคาดว่าหลังปีใหม่จะซบเซาต่อเนื่อง

หอการค้าภาคใต้ ชูทุเรียน Soft Power

นายวัฒนา ธนาศักดิ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มี 3 เรื่องหลักที่อยากฝากรัฐบาล 1.การอนุรักษ์ และส่งเสริมการทำตลาดทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นที่รู้จัก และได้ราคาขายที่ดี เช่น ทุเรียนพันธุ์สาลิกา ของจ.พังงา รสชาติหวานมัน กลิ่นหอม แต่กลิ่นไม่ฉุน และอีกหลายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหลายคนยังไม่รู้จัก

“ภาคใต้ปลูกทุเรียน 500,000-600,000 ตันต่อปี ต่ำกว่าภาคตะวันออกไม่เท่าไหร่ แต่เป็นทุเรียนที่ปลูกส่งออก 20-30% มีทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง 60-70% จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันหาตลาดในประเทศให้ และสามารถผลักดันเป็น Soft Power ได้ เช่น คนจีนที่ชื่นชอบทุเรียน หากอยากมากินทุเรียนสาลิกา ต้องมากินที่จ.พังงา เท่านั้น”

วัฒนา ธนาศักดิ์
วัฒนา ธนาศักดิ์

2.การต่อยอดงานวิจัยยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เอกชน สตาร์ตอัพนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

3.การเร่งจัดสรรงบประมาณโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะ1.โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. วงเงิน 36,128 ล้านบาท และ 2.โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ระยะทาง 79 กม. วงเงิน 18,102 ล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากครม.นานแล้ว แต่ยังไม่มีงบประมาณลงมา

ถ้า 2 โครงการนี้เสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางในพื้นที่อันดามันได้สะดวก

หอการค้าภาคเหนือ ชงกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ค่อนข้างเงียบเหงา กำลังซื้อชะลอตัวลงมาก ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

ทั้งนี้ เมื่อดูจากอัตราการจองห้องพักของโรงแรมในเมืองรองอย่างจังหวัดน่าน ซึ่งปี 2565 อัตราการเข้าพัก (Occupancy) อยู่ที่ 75-80% แต่ปีนี้อัตราการจองห้องพักไม่ถึง 40% คาดว่าเมืองรองหลาย ๆ เมืองจะได้รับผลกระทบคล้าย ๆ กัน

สมบัติ ชินสุขเสริม
สมบัติ ชินสุขเสริม

อยากเสนอให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกันควรนำออกมาขับเคลื่อนอีกครั้ง เพื่อดึงกำลังซื้อ

ขณะเดียวกัน อยากให้นำงบประมาณด้านท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองให้มากขึ้น เพื่อให้แต่ละเมืองจัดอีเวนต์กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

หอการค้าตะวันออก จี้แก้โครงสร้าง

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก

เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 อยากฝากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลง และถดถอยในหลายเรื่อง โดยรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายออกมาให้ชัดเจน บางเรื่องไม่สามารถแก้เป็นจุดได้

ปรัชญา สมะลาภา
ปรัชญา สมะลาภา

“ตอนนี้รัฐบาลไปเน้นแก้ไขปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น คนไม่มีเงินจับจ่าย ไปช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าครองชีพเบื้องต้น แต่ไม่ได้แก้เรื่องระยะยาวพวกนี้เลย หากแก้แต่ปัญหาระยะสั้น อีกไม่นานปัญหาจะวนกลับมา”

หอการค้าอีสานชี้เร่งสร้างงาน-รายได้

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีใหม่ 2567 อยากฝากรัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ปัญหาความยากจนในภาคอีสานเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะการเร่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจซบเซามาก

“แม้ในพื้นที่ภาคอีสานจะมีนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย เหมือนคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวภาคอีสาน แต่มีการใช้จ่ายกันอย่างประหยัดมากขึ้น การจ่ายอย่างฟุ่มเฟือยลดลง” นายสวาทกล่าว

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

นายสวาทกล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องแรงงานที่กลับจากอิสราเอล อยากให้รัฐบาลเข้ามาฟื้นฟู ไม่อยากให้รัฐบาลใช้คำว่าเข้ามาเยียวยา โดยการเพิ่มเติมศักยภาพให้แรงงานเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

หรือเมื่อกลับไปทำงานในต่างประเทศ ก็สามารถปรับระดับการทำงานที่ใช้ความชำนาญสูงขึ้นได้ จะทำให้ได้รับค่าจ้างเงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้น