“สุรพงษ์” ติวแมสทรานซิตเชียงใหม่ สั่งเร่งแผนงาน-เงิน 3 โหมด “ถนน ราง อากาศ”

สุรพงษ์ เชียงใหม่

ทำทันที ไม่ต้องรอ เปิดศักราชปี 2567 กระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วไทย มีคิวเดินสายตรวจเยี่ยมความคืบหน้าแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด รองรับนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่วด่วน ตามนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคม

โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

สุรพงษ์ ปิยะโชติ
สุรพงษ์ ปิยะโชติ

อัพเกรดทางบก-ราง-อากาศ

โดย “รมช.สุรพงษ์ ปิยะโชติ” ระบุว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยนั้น

จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของภูมิภาค มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยนอกวงแหวนรอบเมือง ดังนั้น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงและรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว

โดยพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นแนวทางเช่นเดียวกับโครงข่ายถนน ประกอบด้วย ระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายประเภท ให้บริการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเป็นการพัฒนาที่ไม่กระทบต่อวิถีชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่

ถนนเลี่ยงเมืองแม่ริม-ต้นเปา

โดยมีแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่สำคัญ ดังนี้

1.การพัฒนาทางถนน ประกอบด้วย

1.1 ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 1 (ทางหลวงหมายเลข 11 และทางหลวงหมายเลข 1141) ระยะทางรวม 18.238 กิโลเมตร

1.2 ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทางหลวงหมายเลข 121) ระยะทางรวม 52.957 กิโลเมตร

1.3 แผนพัฒนาทางแยกระดับถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3

1.4 การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองแม่ริม อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ปัจจุบันสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ

และ 1.5 การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา (ชม.3029-ทล.1006) ระยะทาง 16.50 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณจ่ายค่าเวนคืน

ติวรถไฟฟ้าแดง-น้ำเงิน-เขียว

2.แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ (CM-PMAP) โดยมีระบบหลัก (Trunk Route, LRT) ประกอบด้วย

2.1 สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสามัคคี ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี

2.2 สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกศรีบัวเงินพัฒนา ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี

2.3 สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย-ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี

และระบบ Feeder (รถประจำทาง) ประกอบด้วย ระบบรอง จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กิโลเมตร ระบบเสริม จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กิโลเมตร

3.โครงการรถไฟฟ้า (Light Rail Transit : LRT) สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ปัจจุบัน “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” รับมอบหมายดำเนินโครงการในรูปแบบ การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ หรือ PPP-Public Private Partnership และอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการที่เหมาะสม และพิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จ่อคิว

4.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร

ความคืบหน้าปัจจุบัน พันธมิตรฝ่ายญี่ปุ่นศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการแล้วเสร็จ และผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะกลาง (ปี 2571-2575)

สำหรับระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กิโลเมตร ปัจจุบันผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะยาว (ปี 2576-2585)

ข้อสั่งการเร่งแผนงาน-แผนเงิน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) พิจารณาขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในภาพรวม สำหรับดำเนินโครงการเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น หรือจัดลำดับความสำคัญแผนงาน

และจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในระยะเร่งด่วน 3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงโครงข่ายทางถนนให้ต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว

รวมทั้งให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (วทบ.) หาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสรวิทยุการบิน เชียงใหม่ เช่น การใช้เป็นพื้นที่เช็กอิน โหลดสัมภาระ หรือพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสาร โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ International Civil Aviation Organization (ICAO)

รวมทั้งประสานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการร่วมกัน

นอกจากนี้ มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ (รถสี่ล้อแดง) สำหรับบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้เหมาะสมตอบโจทย์การเดินทางผู้โดยสารที่ใช้บริการ

ตั้งเกณฑ์รถขนส่งสาธารณะ EV

สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่น PM 2.5 ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก พิจารณากำหนดมาตรฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ซึ่งจะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศต่อไป