ทุเรียนไทยแข่งเดือด “เวียดนาม” ผลผลิตทะลักแย่งตลาดจีน หวั่นราคาตก

ส่งออกทุเรียนไทยแสนล้าน เจอศึกหนักเวียดนาม ผู้ส่งออก-ชาวสวนประสานเสียง 2567 ปียากที่สุดของทุเรียนไทย เหตุฤดูทุเรียนเวียดนาม ออกชนทุเรียนภาคตะวันออกช่วงพีกเดือน พ.ค. หวั่นกระทบยอดขายและราคา ชี้เวียดนามได้เปรียบหลายเด้ง ขนส่งรวดเร็วชายแดนติดจีน ต้นทุนผลิตต่ำกว่า เผยเวียดนามใช้เวลาปีเดียวแย่งส่วนแบ่งตลาดจีนไปถึง 34.5% จับตาปีนี้มาเลย์เตรียมส่งทุเรียนสดเข้าจีนอีกราย เรียกร้องทุกฝ่ายประสานความร่วมมือรักษาคุณภาพ ทั้งแก้ปมโลจิสติกส์-ด่านตรวจ ชาวสวนเผยปีนี้สภาพอากาศแปรปรวนกระทบหนักผลผลิต แถมเจอทุเรียนคู่แข่งออกมาชน หวั่นกระทบโครงสร้างราคา

“Prachachat In depth” ep2 รายการเสวนาเจาะลึกประเด็น “ทำอย่างไร ..ทุเรียนเไทย ยืน 1 ตลาดโลก” ขณะที่ตลาดส่งออกทุเรียนไทย เติบโตก้าวกระโดดด้วยมูลค่าส่งออกปีละกว่า 1 แสนล้านบาท โดยที่ตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดสำคัญ ทำให้บรรดาคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งพัฒนาพันธุ์ทุเรียนและชิงส่วนแบ่งตลาดจีน โดยเฉพาะเวียดนามที่พัฒนาการปลูกทุเรียนแบบอุตสาหกรรม

ทั้งยังมีความได้เปรียบการขนส่งที่อยู่ใกล้ประเทศจีน ทำให้ใช้เวลาน้อยกว่าและต้นทุนถูกกว่า โดยเวียดนามเพิ่งได้รับอนุญาตส่งทุเรียนสดเข้าจีนเมื่อกลางปี 2565 แต่เพียงปีเดียวสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนได้ถึง 35%

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับเกียรติจาก นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนและผลไม้รายใหญ่ของไทย และ นายภานุศักดิ์ สายพานิช เจ้าของสวนทุเรียน “รักตะวัน” จ.จันทบุรี อดีตนายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) ร่วมวงเสวนาเจาะลึกความท้าทายและโอกาสทุเรียนไทย ยืน 1 ตลาดโลก

ณธกฤษ เอี่ยมสกุล
ณธกฤษ เอี่ยมสกุล

เจอศึกใหญ่ทุเรียนเวียดนาม

นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เปิดประเด็นว่า การส่งออกทุเรียนปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย ตอนนี้ไทยมีคู่แข่งที่ส่งออกไปตลาดจีน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย กำลังจะส่งทุเรียนผลสดเข้าไป แต่คู่แข่งหลักสำคัญของไทยตอนนี้คือ “เวียดนาม” เพราะฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้ จะไปชนกับทุเรียนเวียดนามตอนต้นฤดูในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณทุเรียนไทยออกมากที่สุด ประมาณ 900 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน

ขณะที่เวียดนามได้เปรียบไทย คือระยะทางการขนส่งใกล้กับประเทศจีน ทำให้ใช้เวลาและต้นทุนการขนส่งน้อยกว่า ส่งผลให้เวียดนามสามารถตัดทุเรียนผลแก่ได้มากกว่าทุเรียนไทย เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ไทยจะสู้ได้คือการรักษาคุณภาพที่ดี เพราะข้อดีของทุเรียนไทย หอมกว่า รสชาติของทุเรียนไทยอร่อยกว่า จะสามารถขยายตลาดไปได้อีกหลายมณฑลของจีนที่ยังต้องการสินค้าทุเรียน

โลจิสติกส์-โจทย์ใหญ่

นอกจากนี้ การส่งออกทุเรียนไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่ง เริ่มตั้งแต่ความล่าช้าในการตรวจปล่อยสินค้าทั้งหน้าด่าน รวมถึงความไม่เพียงพอของตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้นจึงอยากให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อม

“สิ่งที่ท้าทายมากคือ โลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก โดยปีที่ผ่านมาจะมีปัญหาการตรวจสอบสินค้าผ่านแดนล่าช้าจะทำให้รถติดยาว เป็นคอขวด ขณะที่การขนส่งทางเรือต้องเตรียมเรือมารองรับ และต้องมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอ หากการขนส่งมีปัญหา ล้งก็ต้องหยุดรับซื้อทุเรียนจากสวน กระทบทั้งห่วงโซ่ ขณะที่ทุเรียนบนต้นสุกไปทุกวันไม่สามารถรอได้ ราคาก็จะลดลง”

นายณธกฤษกล่าวว่า ภาคตะวันออกฝั่งผลิตสวนทุเรียน และจำนวนล้งมากกว่าพันราย สามารถบรรจุทุเรียนพร้อมส่งออกได้จำนวนมาก ขณะที่ตลาดจีนปลายทางก็มีความต้องการรองรับ แต่ปัญหาคือความพร้อมของช่องทางการขนส่ง ปัญหาทั้งเรื่องระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจปล่อยสินค้าทุกล้ง และควรขยายเวลาการตรวจหน้าด่านเป็น 24 ชม. เพราะถ้าช่วงพีกจะมีทุเรียนถึง 900 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน

“ผมว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย เป็นปีที่ข้อสอบยากที่สุดแล้วตั้งแต่ทำมา แล้วมาเจอคู่แข่งแบบเวียดนามที่ทำเป็นอุตสาหกรรมทุเรียน แต่เราก็ต้องหาข้อได้เปรียบ ซึ่งสิ่งเดียวที่ไทยจะสู้ได้คือ การรักษาคุณภาพที่ดี เพราะตอนนี้ประเทศจีนเศรษฐกิจไม่ดี จำกัดการใช้เงิน การซื้อสินค้าก็คิดมากขึ้น แต่ก่อนรายได้ดี วันนี้ลองกินทุเรียนไทย พรุ่งนี้กินทุเรียนเวียดนาม แต่ตอนนี้คนจีนจะเลือกซื้อทุเรียน 1 ลูกต่อสัปดาห์ ในราคาที่เท่ากันจะเลือกซื้อทุเรียนประเทศไหนดี คือจะกินทุเรียนไทย หรือทุเรียนเวียดนาม” นายณธกฤษกล่าว

อย่างไรก็ดี ทุเรียนหมอนทองไทยได้เปรียบกว่า คุ้มค่ากว่าทุเรียนเวียดนาม คือ 1.กลิ่นหอมกว่า 2.ความหวาน รสชาติทุเรียนไทยอร่อยกว่า 3.ทุเรียนหมอนทองไทย เนื้อเยอะกว่าหมอนทองเวียดนาม
ดังนั้น ปีนี้ถ้าไทยทำคุณภาพทุเรียนได้ดี และสามารถบริหารจัดการเรื่องโลจิสติกส์ได้ดี ถ้าผ่านปีนี้ไปได้ เเล้วเรายังชนะ เชื่อว่าอนาคตจะสบายไปอีก 10 ปี

รับมือเวียดนามบุกหนัก

นายณธกฤษฉายภาพคู่แข่งทุเรียนเวียดนามว่า แม้ว่าเวียนดนามจะเพิ่งเริ่มส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้เมื่อปี 2565 แต่เพียงปีเดียวก็สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนจีนได้ถึง 35% เพราะเวียดนามปลูกทุเรียนลักษณะเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ไม่ได้เริ่มปลูกทุเรียนไว้กินในประเทศเหมือนไทย ดังนั้นเวียดนาม จึงมีการเตรียมพร้อมเรื่องใบอนุญาต GAP และทุกอย่างพร้อม การส่งออกก็เร็ว ไปถึงปลายทางได้เร็วกว่าไทย

เพราะฉะนั้น เวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมทุกภาคส่วน แน่นอนกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและออกใบ GAP มีน้อย ก็ต้องส่งเสริมเรื่องการออกใบ GAP รวมถึงขยายผู้ตรวจสอบ และสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ให้คล่องตัวกว่านี้ รวมถึงพิธีศุลกากร

ส่วนตัวตอนนี้ก็แจ้งให้บริษัทโลจิสติกส์ให้เตรียมตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงการเจรจากับทางจีน ซึ่งเป็นลูกค้าให้เตรียมเรือมารองรับ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ให้กระจายเร็วที่สุด เพราะถ้าเรากระจายสินค้าต้นทางออกไปได้เร็ว ราคาทุเรียนที่จะลงก็จะไม่มาก แต่ถ้าไปช้า ทุเรียนเต็มตลาดแล้ว ราคาก็อาจจะไม่ดีเท่าช่วงแรก

บริหารจัดการเส้นทางขนส่ง

ซีอีโอแพลททินัม ฟรุ๊ต กล่าวว่า ตอนนี้ช่องทางการขนส่งมีอยู่ 3 เส้นทาง ส่วนทางรถไฟตัดทิ้งเพราะการขนส่งยังไม่สะดวก ตอนนี้ก็ใช้เฉพาะทางรถ เรือ และทางบก ซึ่งทางบกมี 2 เส้นทาง คือออกทางด่านเชียงของ ออกไปทางลาว และด่านนครพนม ออกไปทางเวียดนาม แต่ทั้ง 2 ด่านมีจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสินค้าผ่านแดนจำกัด และไม่ได้เปิดตลอด 24 ชม. ทำให้เป็นข้อจำกัดในการขนส่ง

โดยด่านเชียงของตรวจสินค้าได้เต็มที่สุด 250-300 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ด่านนครพนมตรวจได้สินค้าไม่เกิน 250 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ถ้ามีการติดขัดจะต่อคิวยาวไปเรื่อย ๆ ส่วนทางเรือขนส่งได้มากหน่อย แต่ความเร็วในการขนส่งสู้ทางบกไม่ได้

นอกจากนี้ขนส่งทางบกปีนี้ก็มีประเด็นต้องระวังเพิ่ม กรณีออกไปทางด่านนครพนม ที่ต้องไปเปลี่ยนรถที่เวียดนาม ต้องเอารถหัวลากเวียดนามมาเปลี่ยนที่ชายแดนจีน ซึ่งปีนี้ทุเรียนเวียดนามออกช่วงเดียวกับทุเรียนไทย ก็อาจทำให้มีปัญหารถเวียดนามก็ไม่มารับทุเรียนไทย เพราะก็จะไปรับทุเรียนของเวียดนาม ดังนั้นช่องทางออกไปทางนครพนมอาจจะมีผลกระทบ

จี้แก้ปัญหาสวมใบ GAP

ส่วนปัญหาเรื่องการทำพิธีสารส่งออกทุเรียน นายณธกฤษระบุว่า ตอนนี้จีนให้ความสำคัญกับเรื่องใบอนุญาต GAP ของสวนที่เป็นการยืนยันเรื่องมาตรฐานการส่งออก แต่เนื่องจากปัจจุบันสวนทุเรียนเกิดขึ้นเร็ว มีสวนใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ใบอนุญาต GAP ไม่พอ ทำให้เกิดการสวมสิทธิใบ GAP

โดยสวนที่ผลผลิตทุเรียนออกก่อนจะนำใบ GAP ของคนอื่นไปสวม พอท้ายฤดูใบ GAP ถูกใช้ไปหมดแล้ว ทำให้สวนที่ได้รับใบ GAP ที่ยังไม่ได้ตัดทุเรียน แต่โดนสวมสิทธิไปใช้แล้ว ก็ทำให้ทุเรียนสวนนั้นส่งออกไม่ได้ ทำให้ราคาก็ตก อย่างกรณีที่เกิดการฟ้องร้องจนมีคดีความที่ภาคใต้

ดังนั้นอยากให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและออกใบ GAP ขยายเรื่องผู้ตรวจสอบเรื่องการสวมสิทธิ รวมถึงเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการตรวจปล่อยสินค้าทุกล้งก่อนส่งออก

ขณะที่ในด้านของสวนทุเรียนที่เกิดใหม่ ก็ควรทำมาตรฐานและขอใบอนุญาต GAP ด้วย เพราะถ้าสวนไม่ทำใบ GAP จะมีปัญหาตามมาเรื่องการส่งออก ผู้ส่งออกไม่สามารถรับซื้อได้ อย่างนโยบายของบริษัท ถ้าไม่มีใบ GAP ก็ไม่สามารถซื้อได้

ระวังล้งใหม่แข่งกันซื้อ

สำหรับปีนี้ที่พบว่ามีล้งเปิดเพิ่มขึ้นจำนวนมากในภาคตะวันออก ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ ก็ถือว่าทำให้มีการเเข่งกันซื้อ ชาวสวนได้ประโยชน์ แต่การที่มีพ่อค้าเข้ามามาก แข่งกันซื้อ แข่งกันขาย ก็ต้องให้ช่วยกันรักษาคุณภาพการส่งออกด้วย ไม่นำทุเรียนอ่อนไปขายผู้บริโภค ทั้งนี้ หากมีการนำทุเรียนด้อยคุณภาพไปขายจีน ผลกระทบเป็นมวลรวมของประเทศ คนจีนจะแห่ไปกินทุเรียนเวียดนาม และทุเรียนมาเลเซียแทน

นอกจากนี้ การที่มีล้งจำนวนมากเกิดขึ้น ชาวสวนต้องระมัดระวังเรื่องการซื้อการขาย แนะนำให้ชาวสวนต้องรับเงินสด เพื่อจะได้ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้มีชาวสวนไปร้องเรียนกับทางราชการว่า ถูกล้งติดหนี้ไม่จ่ายเงินตั้งแต่ปีที่เเล้วจำนวนพอสมควร

ภานุศักดิ์ สายพานิช
ภานุศักดิ์ สายพานิช

อากาศแปรปรวนกระทบผลผลิต

ด้านนายภานุศักดิ์ สายพานิช เจ้าของสวนทุเรียน “รักตะวัน” จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากที่สุดตั้งแต่เคยทำสวนทุเรียนมาหลายสิบปี เพราะปัญหาการแปรปรวนของสภาพอากาศ อากาศร้อนจัด มีช่วงอากาศเย็นสั้น ทำให้การออกดอกติดผลไม่ดี บางคนพ่นสารไป 6-7 รอบ ทุเรียนยังออกดอกไม่ดี พอติดผลแล้ว แตกใบอ่อนอีก ทำให้ผลอ่อนทุเรียนร่วงไม่หยุด ทำให้ปีนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าปริมาณทุเรียนที่เหลือจริง ๆ จะอยู่ที่เท่าไร

“ยังไม่นับปัญหาภัยแล้ง เพราะปีนี้อากาศร้อนมาก ทุเรียนต้องการน้ำมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เกษตรกรมีการซื้อน้ำมารดทุเรียนเเล้ว ทั้งที่อีกหลายเดือนกว่าจะเก็บเกี่ยว จะมีปัญหายืนต้นตายตามมา ส่วนปัญหาที่จะมีอีก เช่น เรื่องลมมรสุม ที่พัดเข้ามาก่อนหน้านี้ก็ทำให้ใบร่วง หากเกิดลมมาอีกจะทำให้ลูกหลุดร่วง และมีโอกาสที่ทุเรียนอ่อนจะหลุดเข้าสู่ตลาดด้วย จะกระทบต่อภาพลักษณ์ทุเรียน และราคาทุเรียนต่อไปอีก”

ชนเวียดนาม-มาเลย์แข่งราคา

นอกจากนี้ สิ่งที่กลัวในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ เป็นปีที่มีการแข่งขันสูงขึ้นแน่ เพราะปี 2565 ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยในจีนอยู่ที่ 95% ทุเรียนเวียดนาม 5% พอมาปีที่แล้ว 2566 ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยเหลือแค่ 65% ทุเรียนเวียดนามได้ส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 34.5% เหลืออีกเพียง 0.3% เป็นของฟิลิปปินส์ แล้วปีนี้มาเลเซียกำลังจะส่งทุเรียนสดเข้าไปตลาดจีนได้ เท่ากับคนจีนมีตัวเลือก ถ้าทุเรียนไทยไม่รักษาคุณภาพทั้งผลสดและเเช่เเข็ง จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปอีกมาก

“ที่สำคัญ หากผลผลิตทุเรียนไทยออกมาชนกับเวียดนาม จะกระทบกับราคาได้ เพราะต้นทุนการผลิตของเวียดนามจะได้เปรียบกว่าไทย ทั้งเรื่องต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่า เพราะชายแดนติดกับประเทศจีน แรงงานของเวียดนามถูกกว่าและหาได้ง่ายกว่า ทำให้ต้นทุนการจัดการของทุเรียนเวียดนามถูกกว่าทุเรียนไทย ซึ่งเกษตรกรไทยต้องหาทางเอาตัวรอด และอยู่ให้ได้ในภาวะที่จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น”

ขณะที่ปีนี้มาเลเซียจะสามารถส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายในตลาดจีนได้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนหลายแสนตันของมาเลเซียก็จะไปปะทะกับทุเรียนไทย สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรายืน 1 ได้อย่างยาวนานคือ ภาพลักษณ์ทุเรียนไทย ภาพลักษณ์ย้อนกลับมาเชื่อมกับเรื่องคุณภาพ กับการผลิต และการทำการตลาดที่มาผสมกัน

แห่ปลูกทุเรียนทั่วไทย

เจ้าของสวนทุเรียน “รักตะวัน” กล่าวว่า ขณะที่ในประเทศไทยมีการขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนมากขึ้น ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยผลผลิตของทุเรียนไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปี 2560 ไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 839,000 ไร่ แต่ผ่านมา 5 ปี พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มมาเป็น 1,340,000 ไร่ คือเพิ่มขึ้นมา 5 แสนไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่า และภายใน 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า และยังมีทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านอีก

“เมื่อมีปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้น แน่นอนหลักเรื่องดีมานด์-ซัพพลาย เพราะฉะนั้น โครงสร้างราคาอาจจะได้รับผลกระทบ ต้องลดราคาลงเพื่อให้ผู้บริโภครายได้ต่ำลงมาสามารถรับประทานได้”

ขณะที่ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกได้เป็นการส่งออกประมาณ 70% ของผลผลิต ซึ่งมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือจากปี 2560 มูลค่าส่งออกทุเรียน 22,000 ล้านบาท จนปี 2565 เพิ่มขึ้นมาเป็น 110,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 5 เท่าเลย

“อย่างไรก็ดี ในการทำสวนทุเรียนอยากแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจสวนตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่การปลูกก็มีวิธีคำนวณที่แตกต่างกัน นำความรู้ด้านเกษตรแม่นยำมาใช้ เกษตรแม่นยำคือ การให้ปุ๋ย ให้ยา ให้น้ำ การจัดการทรงพุ่มให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อจะลดต้นทุน และยกระดับทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพของทุเรียน ถึงจะสามารถแข่งขันได้”

จี้รัฐโปรโมตหมอนทองไทยที่ 1

นายภานุศักดิ์กล่าวว่า การที่จะให้ทุเรียนไทยยืน 1 ตลาดโลกได้นั้น นอกจากการทำทุเรียนให้มีคุณภาพและอร่อยแล้ว ต้องทำการตลาดควบคู่กันไปด้วย สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนคือ สร้างอัตลักษณ์ของทุเรียนไทย ให้ชัดเจน ให้เห็นว่าแตกต่างจากทุเรียนประเทศอื่นอย่างไร

ยกตัวอย่าง รัฐบาลมาเลเซียที่โปรโมตทุเรียนพันธุ์มูซานคิง ตอนนี้ไปถามผู้บริโภคชาวจีนบางกลุ่ม ถามว่าทุเรียนอะไรมีคุณภาพดีที่สุด คนจีนจะบอกว่าเป็นทุเรียนของมาเลเซีย เนื่องจากการทำการตลาดที่ดีของรัฐบาลมาเลเซีย

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเร่งทำประชาสัมพันธ์ทุเรียนไทยให้เป็น Soft Power โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อมากระตุ้นตลาดควบคู่กันไป เช่น พอนึกถึงทุเรียนหมอนทอง คุณภาพเบอร์ 1 ต้องนึกถึงทุเรียนหมอนทองของไทย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไทยส่งออกมากที่สุด

“เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา ต่างก็นำพันธุ์ทุเรียนหมอนทองของไทยไปปลูกเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่เราควรเตรียมพร้อมก่อนที่จะเกิดปัญหา” นายภานุศักดิ์กล่าว

คุมคุณภาพล้ง-คุณภาพทุเรียน

นายภานุศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาเรื่องใบอนุญาต GAP เท่าที่ทราบทางกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตรกำลังแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม สำหรับโซนของภาคตะวันออกปัญหาเรื่องใบ GAP คงไม่มาก เพราะสวนทุเรียนในตะวันออกมีพื้นที่ให้ผลผลิต ประมาณ 420,000 ไร่ แต่มีพื้นที่ได้ใบรับรอง GAP แล้วประมาณ 390,000 ไร่ ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียงสวนทุเรียนที่ปลูกใหม่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐอาจจะต้องช่วยสนับสนุนให้มีใบ GAP ที่เพียงพอ เพื่อทำให้การส่งออกราบรื่น

ส่วนกรณีที่มีล้งจีนเข้ามาเปิดให้บริการในภาคตะวันออกจำนวนมากในปีนี้ ก็มีข้อดีช่วยในแง่โครงสร้างราคาเพราะเข้ามาแข่งกันซื้อ เงินที่เข้ามาถึงเกษตรกรไทยมากขึ้น และช่วงที่ทุเรียนออกมาก ถ้ามีล้งจำนวนมากก็จะกระจายตรงจุดนี้ได้ ทำให้ไม่เกิดคอขวดในการขนส่ง จะเป็นประโยชน์กับทั้งห่วงโซ่ทุเรียนไทย

รวมทั้งผู้ประกอบการล้งรายใหม่ ๆ ก็จะมีการส่งออกทุเรียนไทยไปพื้นที่ใหม่ ๆ ในประเทศจีน เพราะไม่อยากชนกับตลาดพ่อค้าเดิม ๆ แต่การมีล้งจำนวนมากก็มีข้อเสีย ถ้าล้งทำไม่ดี ทำให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพหลุดออกไป ก็จะกระทบทั้งราคาที่ตลาดปลายทาง และทำให้เสียภาพลักษณ์ทุเรียนไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญก็จะต้องมีการตรวจสอบควบคุมล้งด้วย

3 องค์ประกอบทุเรียนไทยยืน 1

เจ้าของสวนทุเรียน “รักตะวัน” กล่าวว่า กล่าวสรุปว่าการจะทำให้ทุเรียนไทยเป็นเบอร์ 1 ของโลก ต้องประกอบกัน 3 อย่างตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ต้นทางคือคุณภาพให้ตรงตามเทรนด์ นอกจากไม่ตัดทุเรียนอ่อนแล้ว เกษตรกรต้องผลิตทุเรียนที่อร่อยขึ้น เช่น การให้ปัจจัยการผลิตที่ถูกช่วงเวลา รวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้ผู้บริโภคปลายทางรู้ว่า ทุเรียนลูกนี้มาจากสวนใคร ถ้าใครทำดีก็ได้ราคาสูงขึ้น จะได้เป็นแรงจูงใจและช่วยยกระดับได้

ส่วนกลางทาง คือการทำให้การส่งออกราบรื่น ไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดในการขนส่ง และปลายทาง สำคัญมากเป็นจุดอ่อนของไทยอยู่ ภาครัฐควรทำการตลาดในคนจีนรู้ว่าทุเรียนไทย มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์ชัดเจน แตกต่างจากทุเรียนประเทศอื่น

ตรงนี้จะช่วยทำให้ราคาขาย และความต้องการของตลาดปลายทางเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทุเรียนปีหนึ่งทำรายได้ให้ประเทศแสนกว่าล้านบาท ถ้ารวมผลไม้ไทยหลาย ๆ ตัวรวมกันก็หลายแสนล้านบาท ถ้าภาครัฐลงทุนในการทำตลาดควบคู่กับคุณภาพก็จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนกับทุเรียนไทย