สัญชัย ปุรณะชัยคีรี หวั่นสงครามราคาเปิดฤดู “ทุเรียน” ตะวันออก

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี
สัญชัย ปุรณะชัยคีรี
สัมภาษณ์พิเศษ

ปี 2567 ทุเรียนก้าวสู่ปีทองปีที่ 10 หากจะเริ่มนับตั้งแต่ปี 2558 ที่ราคาทุเรียนสูงขึ้นมาโดยตลอด และตลาดจีนเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนั้นไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนผลสดเข้าไปตลาดจีนได้ โดยเฉพาะช่วง 2561-2566 การส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ปี 2561 ส่งออก 418 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 4,020 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

และคาดว่าปี 2567 จะเพิ่มถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ แม้ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุญาตให้เวียดนาม และฟิลิปปินส์ นำทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ แต่ด้วยศักยภาพทุเรียนไทยในการผลิตและปริมาณการส่งออกยังคงครองตลาดอยู่

ปี 2566 ปริมาณทุเรียนไทยส่งออกไปถึง 928,976 ตัน คิดเป็นสัดส่วนของตลาดทุเรียนผลสดในจีน 65.15% และคาดว่าปี 2567 ปริมาณนำเข้าจะทะลุเกิน 1 ล้านตัน โดยความต้องการของตลาดจีนยังขยายตัวได้ถึงจะมีประเทศคู่แข่ง ในทางกลับกันสถานการณ์ทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 ที่ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนมีนาคมนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อมูลปริมาณผลผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว และมีแนวโน้มจะเกิดสงครามราคาอย่างหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สัญชัย ปุรณะชัยคีรี” นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย และเจ้าของโรงคัดบรรจุส่งออก “ดรากอน เฟรช ฟรุท” จ.จันทบุรี ถึงมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจ “ล้ง” ในภาวะวิฤตของการทำธุรกิจส่งออกทุเรียนปีนี้

ล้งเพิ่มแย่งกันซื้อโอกาสชาวสวน

ปีนี้มีล้งเพิ่มขึ้น 300-400 ล้งในภาคตะวันออก รวมแล้วมีถึง 1,200 ล้ง ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ใน จ.จันทบุรี เนื่องจากทุเรียนเป็นกระแส ทำให้มีคนจีนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำธุรกิจนี้กันมาก ทำให้ทำการค้ายากขึ้นมาก ล้งยิ่งมีจำนวนมากยิ่งต้องแข่งขันสูง ทำให้ต้องทำ “สงครามราคา” กัน

ต่างคนต่างให้ราคาที่เหนือกว่าเพื่อแย่งผลผลิต โอกาสที่ทำกำไรยากในที่สุดขาดทุน ถ้าไม่มีทุนต้องล้มหายตายจากไป ตรงนี้ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเป็นเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย และเป็นโอกาสของชาวสวน เนื่องจากผลผลิตปีนี้ทุเรียนภาพรวมปริมาณไม่ได้ลดลงจากปีก่อน

ส่วนปริมาณที่ลดลงเป็นสวนที่ให้ผลผลิตมายาวนานจะลดเหลือเพียง 60% ของปีก่อน แต่พื้นที่ปลูกใหม่ให้ผลผลิตได้แล้ว ทำให้ปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้น 5-10% ราคาที่พุ่งสูงขึ้นตอนนี้เป็นช่วงที่ทุเรียนเริ่มออกเดือนมีนาคม-เมษายน เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม มิถุนายน จะมีทุเรียนภาคใต้และทุเรียนเวียดนามออกมาชนกับทุเรียนภาคตะวันออก ราคาจะต่ำลง

“ปีนี้การแข่งขันราคากันหนัก ในช่วงต้นฤดูปริมาณทุเรียนมีน้อย เหมาซื้อกันล่วงหน้า ราคาตัดทุเรียนต้น ๆ เดือนมีนาคม เช่น กระดุม 320 บาท/กก. ชะนี 200 บาท/กก. หมอนทอง 270-275 บาท/กก. ราคาเป็นตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย ในเมื่อของมีน้อยจะราคาแพง จะใช่ราคาที่แท้จริงหรือไม่ เพราะส่งออกแค่ 1-2 ตู้ ราคาจริง ๆ ต้องไปดูกันที่การส่งออกทุเรียนชุดแรกที่ส่งออกจำนวนมากถึงวันละ 20 ตู้ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสของชาวสวนที่จะได้ราคาดี”

พ่อค้าสร้างกลไก ตลาดเปลี่ยนแปลงได้ตลอด มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เหมาสวน ให้ราคาตามตลาด จ่ายเงินสด พร้อมรับข้อเสนอตามใจลูกค้า แต่เมื่อถึงเวลาเข้าไปตัด ถ้าพ่อค้าขาดทุนอย่างไร ก็ไม่รักษาสัญญา ปีก่อนพ่อค้าทุเรียนในเวียดนามและภาคใต้ของไทยขาดทุนกันมาก การค้าทุเรียนในภาคตะวันออกปีนี้จึงต้องระมัดระวังตัวกันเต็มที่

พ่อค้ารายใหม่ ๆ สู้ราคาเพราะกลัวไม่ได้ของตามออร์เดอร์ ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด เป็นราคาเรียกลูกค้า เพราะปริมาณที่รับซื้อน้อยมากถ้าเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ แต่เมื่อขาดทุนจะกลับมากดราคากับเกษตรกร หรือการเบี้ยวสัญญาต่าง ๆ นานา เช่นเดียวกับลำไย

ในขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ต้องเปิดราคากลาง จริง ๆ แล้วควรมีการกำหนดราคากลางที่เหมาะสม คิดจากราคาต้นทุนบวกราคาขายควรมีกำไรกี่เท่า ที่เหมาะกับต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ราคาที่แข่งขันกันเกินจริง ซึ่งทุกวันนี้ราคาขายทุเรียนขายเกินราคาต้นทุนหลายเท่าตัว ล้งก็อยู่ไม่รอด ราคากลางจะช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอยู่รอด

ปริมาณผลผลิตตะวันออกไม่ชัด

ปี 2567 ผลผลิตทุเรียนตามข้อมูลโดยคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออกล่าสุดคาดว่า ปี 2567 ภาคตะวันออกปริมาณผลผลิตรวม 823,898 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน (เพิ่มขึ้น 46,984 ตัน หรือ 6.05%) และผลผลิตอาจจะกระจายไปถึง 3 รุ่น คือ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และประมาณว่าทุเรียนจะมีออก 2 รุ่น รุ่นใหญ่คือเดือนพฤษภาคม และชุดรองเดือนมิถุนายน แต่ต้องรอดูคาดการณ์เดือนมีนาคมอีกครั้ง

ในขณะนี้ภาคเอกชนได้รับข้อมูลจากสภาพความเป็นจริงในการลงพื้นที่ว่าจะมีทุเรียนชุดใหญ่ออกในเดือนเมษายนด้วย ซึ่งข้อมูลนี้จังหวัดจันทบุรีต้องมีการประเมินให้ชัดเจนอย่างรวดเร็วภายในเดือนมีนาคม เพราะจะมีปัญหาถึงการประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทอง ที่ประกาศวันกำหนดตัดไว้วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ต้องเตรียมการให้พร้อมเรื่องการนำทุเรียนมาตรวจก่อนตัดที่มีจำนวนมาก รวมทั้งมือตัดที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ

กฎระเบียบอุปสรรคส่งออก

ในภาวการณ์ตลาดที่มีการแข่งขันสูง หน่วยงานภาครัฐไม่ควรออกกฎระเบียบมาเพิ่มความยุ่งยาก และปฏิบัติไม่ได้ ต้องไม่สร้างอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และควรมาช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เช่น 1) ทำให้ระบบการขนส่งรวดเร็ว ไม่ให้รถติดที่ด่านหลายวัน ปกติผู้ประกอบการจะใช้การขนส่งทางรถตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าทางเรือ

แต่การผ่านด่านโหยวอี้กวนที่ผ่านมาใช้เวลานาน ทุกวันนี้รถติดอยู่ที่ด่านของเวียดนาม 2-3 วัน ส่วนทางรถไฟยังมีค่าขนส่งสูง ประมาณ 140,000-150,000 บาท/ตู้ แพงกว่าทางรถยนต์ถึงตู้ละ 30,000-40,000 บาท ซึ่งทางรถไฟเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มองไว้ เพราะสามารถขนส่งได้วันละ 70-100 ตู้ โดยมีกลุ่ม ปตท. และบริษัทของคนจีน 2-3 บริษัทให้บริการ

2) การตรวจปล่อยตู้สินค้าที่ล่าช้า ปกติขั้นตอนการตรวจของทางราชการ เริ่มจากในสวนทุเรียนจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งทุเรียนก่อนตัด เพื่อขอใบรับรอง เจ้าของสวนต้องมีใบรับรอง GAP มาแสดงประกอบการขายให้กับล้ง ล้งต้องใช้ประกอบการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto) เพื่อส่งออก แต่เมื่อถึงขั้นตอนตรวจปิดตู้-ปล่อยตู้

ปัญหาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีน้อย ทำให้ล่าช้า เสียเวลาในการขนส่ง จึงได้เสนอในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ให้พิจารณานำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคน เช่น กล้องวงจรปิด และให้ล้งสีเขียวที่มีประวัติดี มีคุณสมบัติเหมาะสม ตามเกณฑ์ที่ สวพ.6 แบ่งไว้ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบปิดตู้ได้เอง โดยสร้างมาตรฐานให้ชัดเจน จัดอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ เพราะถ้ามีปัญหา สำนักงานศุลกากรของจีน GACC จะแจ้งกลับและมีบทลงโทษรุนแรง

3) ใบรับรอง GAP เป็นใบรับรองมาตรฐานคุณภาพ ปลอดภัย ที่เกรงว่าจะมีการสวมสิทธินั้น ทางจีนไม่ได้เข้มงวดกับใบรับรอง GAP ถึงขนาดกำหนดปริมาณผลผลิตต่อไร่ ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ 100% สวนขนาดใหญ่เป็น 100 ไร่ ไม่ขอใบรับรอง GAP ทำไมยังขายได้ เท่ากับไม่เป็นธรรม และปัญหาทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิทุเรียนไทยน่าจะหมดไปหลังเวียดนามส่งออกได้

ตีทะเบียนมือตัดไม่แก้ทุเรียนอ่อน

การขึ้นทะเบียนคนตัดทุเรียน (มือตัด) และออกใบรับรองให้ เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน โดยสถาบันการศึกษาเปิดอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-7 วันนั้น เท่าที่เห็นผู้ให้การอบรมยังไม่มีความเชี่ยวชาญการตัดทุเรียน และอบรมเสร็จความรู้ที่ได้จะตัดทุเรียนเป็นหรือไม่ ยังไม่มั่นใจ ดังนั้นในอนาคตถ้ามีการบังคับให้มือตัดต้องขึ้นทะเบียน มีใบรับรอง

หากเจ้าของสวนที่มีต้นทุเรียน 10-20 ต้น ไม่มีใบรับรองมือตัดจะตัดทุเรียนมาส่งล้ง ล้งจะไม่รับซื้อ อาจจะมีค่าใช้จ่ายต้องซื้อใบรับรอง คนมีใบรับรองจะไม่ได้เข้ารับการอบรมจริง โดยเฉพาะในภาคใต้ คนตัดทุเรียนอ่อนไม่ใช่ไม่รู้ แต่สภาพภูมิประเทศ ทุเรียน 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้าตัดทุเรียนอ่อนจะไม่มีหนอน

“การตัดทุเรียนอ่อนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องออกกฎหมายไปบังคับ ตรวจอย่างไรก็หลบเลี่ยงได้ เป็นเรื่องของความมีคุณธรรมของชาวสวนและพ่อค้า มือตัดไม่ใช่คนตัดทุเรียนอ่อน ชาวสวนและพ่อค้าเป็นคนสั่งให้ตัดให้ได้น้ำหนักได้ราคา คนสวน 80% พ่อค้า 80-90% รู้ว่าทุเรียนอ่อน-แก่

การขึ้นทะเบียนมือตัดจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา และยิ่งมีการควบคุมให้ขึ้นทะเบียนควบคุมกลับกลายเป็นอุปสรรค ต้องมีค่าใช้จ่ายในการอบรม และการอบรมไม่ใช่ว่าทำให้ความรู้เชี่ยวชาญตัดทุเรียนมากขึ้น เพราะการตัดทุเรียนต้องมีประสบการณ์ ไม่ใช่อบรมแค่ 3-7 วันแล้วทำได้ คนตัดทุเรียนบางคนทำมา 10-20 ปี ตัดทั้งทุเรียนภาคตะวันออก และภาคใต้”

เวียดนาม-มาเลย์คู่แข่งสำคัญ

ปีนี้เวียดนาม มาเลเซีย ส่งทุเรียนเข้าตลาดจีนได้ จะทำให้มีการแข่งขันสูง ถือเป็น “คู่แข่งทางธุรกิจ” เกษตรกร และผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ได้ ไม่ใช่รอให้ภาครัฐมาช่วย ทุเรียนผลสดสวมสิทธิเวียดนามไม่มี แต่มีปัญหาทุเรียนเวียดนามแช่แข็งที่สวมสิทธิทุเรียนไทย น่าเป็นห่วงคือ ทุเรียนนำเข้าถูกกฎหมาย

แต่คุณภาพทุเรียนยังสู้ไทยไม่ได้ นำเข้าแล้วส่งออกใช้ถิ่นกำเนิดเป็นทุเรียนไทยไปตลาดจีน ทำให้วงการทุเรียนแช่แข็งไทยเสียหาย ตอนนี้ทุเรียนแช่แข็งค้างสต๊อกเป็น 1,000 ตู้ที่ขายไม่ออก ผู้บริโภคไม่กล้ากิน ไม่กล้านำมาแปรรูป ส่งออก ต่อไปตลาดทุเรียนแช่แข็งน่าจะมีการแข่งขันกันสูงเช่นเดียวกับทุเรียนผลสด หากจีนเปิดตลาดให้ประเทศต่าง ๆ นำเข้าได้เพิ่มขึ้น