“กรีนบัส” รุกธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้าน เข้าตลาด Mai

Krittipat.T
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ “กรีนบัส” ของตระกูล “ทองคำคูณ” ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวครั้งใหญ่เมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยจัดตั้งบริษัท เครือชัยพัฒนา เชียงใหม่ จำกัด เป็นบริษัทแม่ (Holding Family) เพื่อมุ่งขยาย 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจขนส่งและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดีบริษัทกำลังนำสองธุรกิจหลักรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจบริการท่องเที่ยว พร้อมกับแผนการนำบริษัท กรีน แคปปิตอล จำกัดเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai

“กฤษฏิภาชย์ ทองคำคูณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนแคปปิตอล จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2567 เพื่อเร่งสปีดรายได้และผลกำไรก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ภายในปี 2569

จำนวนผู้โดยสารพุ่งต่อเนื่อง

กฤษฏิภาชย์บอกว่า ดีมานด์ของผู้โดยสารในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทิศทางเป็นบวกมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จำนวนผู้โดยสารปี 2566 ขึ้นมาแตะที่ 78% ทั้งเส้นทางภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และเส้นทางภาคเหนือเชื่อมโยงไปภาคใต้และอีสาน แต่การนำรถออกมาใช้ยังไม่เต็ม 100% ใช้อยู่เพียง 80 คัน จากทั้งหมด 120 คัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเท่าเดิมในปี 2562 ก่อนโควิด

ประกอบกับบริษัทขาดแคลนคนขับรถจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงโควิดต้องหยุดการเดินรถโดยสารในเส้นทางต่าง ๆ ทำให้พนักงานขับรถส่วนใหญ่ต้องไปทำงานอื่นแทน และมีเพียงบางส่วนที่กลับมาทำงานเหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และหาได้ค่อนข้างยาก

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ต้องนำรถอื่นมาเสริมรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการจำนวนมาก โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครพนักงานขับรถจำนวนมาก เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนเที่ยวรถในเส้นทางต่าง ๆ ในปีนี้ ซึ่งเปิดกว้างให้กับคนขับรถประเภทอื่นที่ยังไม่เคยขับรถโดยสารประจำทางมาก่อน อาทิ คนที่เคยขับรถบรรทุกขนาดกลาง โดยบริษัทจะมีการฝึกอบรมวิธีการขับรถโดยสารประจำทางก่อนที่จะให้ขับจริง คาดว่าปลายปีนี้ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาเต็มระบบ

ทุ่ม 158 ล้าน เสริมทัพ EV Bus

ปีนี้เราลงทุนซื้อรถใหม่จำนวน 19 คัน เป็นรถอีวี เป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย ทั้งรถแบบ VIP และ Business Class เฉลี่ยคันละ 8 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนเฉพาะตัวรถ 152 ล้านบาท พร้อมซื้อเครื่องชาร์จอีก 2 ตัว ตัวละ 3 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 158 ล้านบาท

โดยจะนำไปวิ่งในเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย และเชียงใหม่-พะเยา ซึ่งเป็นระยะทางที่พอดีกับปริมาณแบตเตอรี่ ไป-กลับระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มเดินรถอีวี 2 เส้นทางนี้ในช่วงไตรมาส 3

โดยจะเริ่มทยอยเอารถที่เป็นดีเซลออก และนำรถอีวีเข้าไปแทน ส่วนรถดีเซลที่วิ่งใน 2 เส้นทางคือ เชียงใหม่-เชียงราย และเชียงใหม่-พะเยา จะนำไปปรับปรุงรีโนเวตใหม่ทั้งหมด ทั้งการปรับปรุงช่วงล่าง ตัวรถภายนอก และภายในห้องผู้โดยสารให้อยู่ในสภาพรถใหม่เกิน 90% เพื่อนำไปเพิ่มเที่ยววิ่งในเส้นทางแม่สาย-แม่สอด ที่มีดีมานด์ของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รถอีวีจะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ค่อนข้างมาก เทียบกับรถที่ใช้น้ำมันดีเซลที่มีต้นทุนต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรอยู่ที่ 10 บาท ขณะที่รถอีวีต้นทุนจะอยู่แค่ 4 บาทต่อ 1 กิโลเมตร แต่ในแง่ของราคารถอีวีแพงกว่ารถบัสดีเซลเกือบ 2 เท่า ซึ่งรถบัสอีวีราคาคันละ 8 ล้านบาท ขณะที่รถบัสที่ใช้น้ำมันดีเซล ราคาอยู่ที่คันละ 5.5 ล้านบาท เรามองเรื่องความคุ้มค่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับต้นทุนพลังงานที่ถูกลงมาก

ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้านบาท

กฤษฏิภาชย์บอกต่อว่า รายได้ปี 2566 อยู่ที่ 340 ล้านบาท กำไร 5% จำนวนผู้โดยสารเทียบฐานปี 2562 ปี 2566 จำนวนผู้โดยสารขึ้นมา 78% ส่วนปี 2567 ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 84% และตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 390 ล้านบาท โดยรายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากจำนวนเที่ยววิ่งรถที่เพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางและการแตกไลน์ธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว

“ตอนนี้เรามุ่งไปที่การบริหารต้นทุน เราคาดว่าการนำรถอีวีเข้ามาใช้จะลดต้นทุนพลังงานและการซ่อมบำรุงในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งก็จะทำให้กำไรปรับดีขึ้น ปัจจุบันต้นทุนพลังงานน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32% แต่รถบัสอีวีต้นทุนจะลดลงอยู่ที่ราว 26%”

กรีนบัส

สำหรับแผนปี 2567 ในส่วนของกรีนบัสจะมุ่งลดต้นทุนและเพิ่มกำไร เนื่องจากเรามีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (mai) โดยตั้งเป้ายื่นไฟลิ่งในช่วงเดือนเมษายน 2569 ซึ่งปีสุดท้ายก่อนยื่นไฟลิ่ง กำไรจะต้องไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท รวมกัน 2 ปีก่อนยื่นไฟลิ่ง กำไรต้องไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท รายได้จะต้องทำให้ได้มากกว่า 400 ล้านบาท จึงต้องมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนเป็นหลัก

ส่ง Hop&Go รุกหนักท่องเที่ยว

กฤษฏิภาชย์บอกว่า ปัจจุบัน Core Business ของกรีนบัส คือขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก สัดส่วนกว่า 99% ดังนั้น แผนงานสำคัญในปีนี้จะรุกหนักธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว มุ่งปั้นโปรดักต์ใหม่ “Hop&Go” และหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯก็เตรียมขยายไลน์สู่ธุรกิจโรงแรม เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มระบบ

โดยมองการลงทุนในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา วางแผนกลยุทธ์ตามกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตลูกค้าจะสามารถซื้อโปรดักต์ของกรีนบัสได้มากขึ้นและหลากหลายขึ้น

สำหรับธุรกิจ Hop&Go เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2566 ก็ยังประสบภาวะขาดทุน จึงต้องทำดีมานด์ให้เกิดขึ้น ถือเป็นรสบัสนำเที่ยวแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ เป็นรถบัสปรับอากาศขนาด 40 ที่นั่ง เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 2 เส้นทาง

โดยวิ่งรับผู้โดยสารภายในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อไปอำเภอแม่ริมและอำเภอแม่ออน เป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) โดยทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวมีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 300 คน นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักเป็นชาวต่างชาติ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป

ปี 2567 บริษัทได้เปิดให้บริการเส้นทางใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว น้ำตกห้วยแก้ว-เวียงกุมกาม และสายสีแดง เซ็นทรัลเชียงใหม่-น้ำตกห้วยแก้ว เพื่อเป็นการเชื่อมระบบคมนาคมรองรับการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่ง ตามดำริ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แก่ สวนสัตว์เชียงใหม่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เวียงกุมกาม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ วัดพระธาตุดอยคำ และน้ำตกห้วยแก้ว

กฤษฏิภาชย์บอกต่อว่า กรีนบัสมีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งรถประจำทาง ซึ่ง Hop&Go เป็นการเดินรถเส้นทางการท่องเที่ยวแบบประจำทาง ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพกรีนบัสให้แข็งแกร่งขึ้น เราวิเคราะห์แล้วว่าการขนส่งแบบท่องเที่ยวในเชียงใหม่ยังไม่มีเลย และไม่มีผู้ประกอบการใดที่มีความชำนาญและมีทุนมากพอที่จะทำแบบนี้ได้

ถือเป็นจุดแข็งของกรีนบัส ปัจจุบันมีรถ Hop&Go ทั้งหมด 14 คัน อนาคตจะเพิ่ม Route ขยายเส้นทางไป 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เช่น เดินทางออกจากเชียงใหม่ช่วงกลางคืน และไปเช้าที่จังหวัดเชียงราย เป็นรถแบบมีเตียงนอนภายในห้องผู้โดยสาร

การทำตลาดทั้งหมดจะดำเนินการโดยบริษัท แฟร์แฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกรีนแคปปิตอล ที่แตกไลน์มาทำธุรกิจ OTA หรือ Online Travel Agency ให้บริการจองที่พักทั้งโรงแรม รีสอร์ต บ้านพักวิลล่า รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ

ซึ่งบริษัทแฟร์แฟร์จะทำหน้าที่ดูแลการตลาดทั้งระบบของธุรกิจขนส่งในเครือบริษัทกรีนแคปปิตอล พร้อมเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจบริการที่พัก-ท่องเที่ยว-สายการบิน-รถบัสโดยสารประจำทางกับลูกค้า เป็นธุรกิจที่จะผลักดันให้ยอดขายของบริษัทเติบโตเพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์ของกรีนบัสในขณะนี้กำลังไต่เพดานสูงขึ้นเรื่อย ๆ และแนวโน้มธุรกิจมีทิศทางที่ดี กับตัวเลขรายได้ที่ต้องเร่งสปีดให้ได้มากกว่า 400 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2569