หลากปมทุเรียนตะวันออก ฝ่าวิกฤตโหด-แลกราคาสูงสุด

durian

ข้อมูลจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) รอบปี 2567 เห็นชัดเจนว่าปริมาณผลผลิตทุเรียนอยู่เหนือความคาดการณ์ เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญจากสภาวะอากาศแปรปรวนและเอลนีโญและการบริหารจัดการน้ำ

โดยการประเมินผลผลิตทุเรียนปี 2567 ครั้งแรก 7 ธันวาคม 2566 ทุเรียนภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง ตราด คาดปริมาณผลผลิตรวม 889,918 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน เพิ่มขึ้น 113,004 ตัน หรือ 14.55% จากเนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด

การประเมินครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 คาดปริมาณผลผลิตรวม 823,898 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 46,984 ตัน หรือ 6.05% และครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ได้ปรับเลื่อนเวลาจัดทำข้อมูลเอกภาพให้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาด คาดว่าปริมาณผลผลิตรวม 782,874 ตัน เพิ่มขึ้นเพียง 5,960 ตัน หรือ 0.77% ทั้งนี้ ยังคงมีอัตราเสี่ยงจากสภาพแปรปรวนของอากาศและการบริหารจัดการน้ำ

ชาวสวน-รัฐตัวเลขขัดแย้ง

ขณะที่เกษตรกรชาวสวนทั่วไปเห็นต่างจากข้อมูลการประเมินของหน่วยงานราชการ โดยประเมินว่าในสภาพแท้จริง ปี 2567 ปริมาณผลผลิตทุเรียนเฉลี่ยน่าจะลดลงไปมากถึง 30-50% บางสวนอาจจะถึง 60% แต่ผลผลิตรวมอาจลดลงไม่มากเพราะมีสวนทุเรียนใหม่ ๆ เกิดขึ้น

ในขณะที่ล้งที่รับซื้อทุเรียนมีการเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นจาก 800 กว่าล้ง เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้ง ทำให้มีการแย่งกันซื้อ ทำสงครามราคา “ราคาเปิดฤดูทุเรียนพันธุ์กระดุมพุ่งสูงถึง 300-320 บาท/กก. หมอนทองสูงถึง 270-280 บาท/กก.”

แหล่งข่าวในวงการทุเรียนภาคตะวันออกให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” สอดคล้องกันว่า ขณะนี้ยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อปริมาณผลผลิตทุเรียนที่จะออกมา เนื่องจากช่วงเกือบ 2 เดือนนับจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากพายุฤดูร้อนในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ชาวสวนต้องเผชิญมาทุกปี ภาวะภัยแล้งที่ทุเรียนอยู่ในช่วงขาดแคลนน้ำทำให้ลูกร่วงที่เริ่มเห็นกันหลายสวนในตอนนี้

หากในช่วงอีก 1 เดือนครึ่งเกิดภาวะความแห้งแล้งหนัก เช่นเดียวกับพื้นที่ปลูกทุเรียนในหลายจังหวัดที่เริ่มประสบปัญหาแล้ว ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี ตรัง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ศรีสะเกษ มีสวนทุเรียนเสียหายยืนต้นตายแล้ว ล้วนกระทบต่อภาพรวมการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกในปีนี้ ดังนั้น ตัวเลขผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1% สภาพแท้จริงไม่น่าจะเป็นไปได้

“ปี 2566 ยอดการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ประมาณ 780,000 ตัน แต่การที่ตัวเลขภาพรวมออกมาเพิ่มสูงกว่าผลผลิตจริงในพื้นที่จากทุเรียนที่ผ่านด่านออกไป เพราะมีทุเรียนจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น กาญจนบุรี โคราช บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ ถูกขนส่งขึ้นมาบรรจุและส่งออกในนามของภาคตะวันออกรวมไปด้วย เพราะล้งส่วนใหญ่อยู่ที่จันทบุรี รวมถึงห้องเย็นในภาคตะวันออกมีการรับซื้อผลผลิตตกไซซ์ และเป็นหนอนมาแกะเนื้อเพื่อส่งออกอีกด้วย”

ผลผลิตแกว่งส่งออกวูบ 20%

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา เจ้าของเพจทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน และเจ้าของสวนทุเรียนใน จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้ลดลงหลายสวน เนื่องจากออกดอกไม่ดี ดอกที่บานช่วงเดือนกุมภาพันธ์ร่วงหล่นไม่ติดค่อนข้างมาก ผลทุเรียนอายุประมาณ 50 วัน แตกใบอ่อน จะทำให้ดอกร่วง ผลร่วงหล่นเสียหายมาก

ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้ ชาวสวนและผู้ประกอบการต่างรู้ดี แต่คิดว่าที่หน่วยงานภาครัฐประเมินตัวเลขผลผลิตสูงกว่าความเป็นจริง ย้อนแย้งกับมุมมองของเกษตรกรเจ้าของสวน

สัญชัย โกสัลส์วัฒนา
สัญชัย โกสัลส์วัฒนา

ถ้าเป็นชาวสวนที่ทำมาเดิม ๆ ความเสียหายน่าจะประมาณ 50% จากสภาวะอากาศ ส่วนเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น 34,547ไร่ จากการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเปรียบเทียบพื้นที่ให้ผลเดิม 390,177ไร่ ทุเรียนต้นใหญ่ให้ผลผลิตต้นละ 150-180 ลูก เสียหายไปครึ่งต่อครึ่งกับต้นทุเรียนใหม่ให้ผลผลิตต้นละ 10-15 ลูก ต้องรวมผลผลิตต้นใหม่ 3-4 ต้น ถึงจะเท่ากับผลผลิตต้นใหญ่ 1 ต้น

ทั้งนี้ คาดว่ายอดส่งออกโดยรวมจะลดลง 20% จากปี 2566 และผลผลิตที่ออกมากจะเลื่อนขึ้น
มาจากเดือนพฤษภาคมมาปลายเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายนจะมีทุเรียนเหลือน้อยมากไม่ถึง 20% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ราคาหน้าสวนแพงกว่าหน้าล้ง

นายสัญชัยกล่าวว่าจากการเปิดราคาทุเรียนต้นฤดูที่สูงเกินความเป็นจริงที่ตลาดผู้ซื้อจะรับได้ พันธุ์หมอนทอง เกรด AB ราคา 270-280 บาท/กก. พันธุ์กระดุม ราคา 300-320 บาท/กก. ในช่วงมีนาคม แม้เข้าสู่ปลายเดือนมีนาคม ราคาเริ่มลดลงบ้าง แต่ยังคงสูงอยู่ด้วยปริมาณทุเรียนยังมีน้อยและเริ่มลงมาเห็นชัดช่วงวันที่ 24 มีนาคม-11 เมษายน 2567 หมอนทอง AB 205-210 บาท/กก. ส่วนกระดุม ราคาลงมาก 140-145 บาท/กก. เพราะเริ่มมีหมอนทองออก

โดยราคาทุเรียนจะมีการปรับทุก ๆ 10-15 วันที่ทุเรียนแต่ละรุ่นทยอยออก เนื่องจากมีการกระจายตัวของทุเรียนออกสู่ตลาดหลายรุ่น ยกเว้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมามีความต้องการสูง

นายสัญชัยกล่าวว่า ปีนี้ตลาดทุเรียนแปลกมาก เนื่องจากมีปริมาณน้อย ตลาดขายส่งทุเรียนเนินสูง จันทบุรี ไม่มีทุเรียนเข้ามาขาย แต่ราคาลงทุกวัน ล้งเล็ก ๆ แย่งกันซื้อหรือจับมือกัน ไปซื้อในสวนเพราะต้องการทุเรียนปริมาณมาก “ทำให้ราคาหน้าสวนแพงกว่า ราคาหน้าล้ง” 2-3 วันนี้ ราคาหน้าสวนรับซื้อ กก.ละ 215-220 บาท แพงกว่าราคาประกาศรับซื้อหน้าล้ง 200 บาท

ซึ่งเป็นแรงจูงใจกระตุ้นให้ชาวสวนรีบขาย ถ้าเจอมือตัดที่ไม่มีจิตสำนึก ตัดรูดต้น (ตัดทุเรียนทั้งผลแก่และผลอ่อนรวมกันไป) ต้องการให้ได้น้ำหนัก ค่าแรงมาก ชาวสวนเองสมยอมด้วย เพราะได้ราคาดี จะทำให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไป

ยิ่งไปพบล้งที่รับจ้างบรรจุ ต้องการทุเรียนปริมาณมาก ๆ ตามออร์เดอร์ ทุเรียนไทยที่ไม่มีคุณภาพจะหลุดส่งออกไปตลาดจีน ขายไม่ได้ พ่อค้าขาดทุน ส่งผลต่อราคาที่จะรับซื้อจากชาวสวนในรอบต่อไป สังเกตได้ว่าล้งใหญ่ ๆ ซื้อวันละ 3-10 ตู้ จะยังไม่เปิดรับซื้อ จะรอตอนทุเรียนออกมาก ๆ เพื่อให้ราคาลงและมีปริมาณเพียงพอกับการปิดตู้ คาดว่าก่อนสงกรานต์นี้จะทยอยเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุเรียนชุดใหญ่น่าจะหมดวันที่ 10 พฤษภาคม มีเวลาทำเต็มที่เพียง 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ราคาทุเรียนในช่วงที่ออกมากปลายเดือนเมษายน-ต้นพฤษภาคม ราคาน่าจะประมาณ กก.ละ 160-170 บาท สูงกว่าปี 2566 กก.ละ 130-140 บาท แม้ว่าราคาต้นทุนทุเรียนจะประมาณ 30-40 บาท/กก. แต่สถานการณ์ปีนี้การลงทุนเพิ่ม 20% ในขณะที่ผลผลิตได้ไม่เต็ม 100% ส่วนราคาทุเรียนที่ร่วงหนักมาจากล้งเปิดฤดูราคาสูงเกินไป

ขณะที่ นายสัญชัย ปุระณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันกันซื้อทุเรียนแบบให้ราคาสูงเกินจริง เพราะกลัวไม่ได้ทุเรียน และล้งใหม่ที่รับซื้อส่งให้เถ้าแก่จะเร่งตัดทุเรียนให้ได้ตามปริมาณโดยที่ไม่มีประสบการณ์ ขาดความชำนาญการดูทุเรียนอ่อนแก่ ทำให้มือตัดทุเรียนตัดทุเรียนอ่อนติดไปด้วย ไม่ได้คุณภาพ ส่งผลกระทบต่อตลาดปลายทางขายไม่ได้ จำเป็นต้องหยุดซื้อเพราะขาดทุน

ล้งใหญ่ที่มีประสบการณ์เห็นว่าราคาเกินความเป็นจริงจะยังไม่ขยับเปิดล้งรับซื้อทุเรียน ต่างรอให้ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงกลาง ๆ เดือนเมษายน เพื่อราคาจะได้ปรับลงมา

“ราคาปลายเดือนมีนาคม กก.ละ 270-280 บาท ลงมา 200 บาท ในช่วงต้น ๆ เดือนเมษายน ยังคงเป็นราคาสูงอยู่ ทั้งนี้ควรมีราคากลางเพื่อให้ล้งและเกษตรกรอยู่ได้”

5 ปีทุเรียนเวียดนามจ่อแซงไทย

แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนไทยให้ข้อมูลว่า ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพของไทยส่งไปตลาดจีน ตอนนี้มีทั้งราดำ ลูกใหญ่ เปลือกหนา ครบ มีคลิปพ่อค้าที่สั่งซื้อจากจีนโพสต์ให้เห็น ลูกค้าซื้อเกรด A เปิดตู้จริง ๆ มีแต่ B C หรือล้งซื้อราคา AB ซึ่งราคาต่างจากเกรด C 70-80 บาท บางครั้งซื้อเกรด B ได้เกรด C แถมเกรด D ใส่ไปอีก กำไรมหาศาล การส่งออกต้องเข้มงวดมากกว่านี้

พ่อค้าบางคนซื้อเหมาทุกเกรดราคาเดียว หรือเรียกว่า “คว่ำหนาม” ทำให้ทุเรียนไม่มีคุณภาพไปอยู่ในมือของพ่อค้า และถูกนำไปปะปนกับทุเรียนดี เพื่อหวังผลกำไรได้ราคาดี หรือล้งที่เหมาราคาสูงไว้ พอราคาเริ่มขยับลงก็เร่งตัดรูดทุเรียนแก่อ่อนมาหมด ทำให้ทุเรียนไม่มีคุณภาพหลุดออกไปทำลายทุเรียนไทย

พ่อค้าที่ปลายทางจีนขาดทุนตู้ละ 1.5 ล้านบาท เนื่องจากจ่ายเงินซื้อทุเรียนเกรด A แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปเป็นเกรด B กับ C ซึ่งการขายเหมาคว่ำหนามตัดรูดต้นและล้งแพ็กไม่คัดแยกออก ปัญหานี้เกิดจากทั้งคนไทยบางส่วนและคนจีนบางส่วนที่อยู่ในไทย นายทุนขาดทุนเจ็บตัวกลับไปเงินหมด จะมีนายทุนรายใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ ชาวสวนเข้าใจว่าล้งขาดทุนไม่จริง เพราะยังมีล้งเข้ามาซื้ออยู่ตลอด

แหล่งข่าวกล่าวว่า เทียบกับล้งในเวียดนามบอกว่าซื้อทุเรียนเกรดไหน ได้เกรดนั้น แถมเป็นทุเรียนแก่ และรัฐบาลเวียดนามจะสนับสนุนให้ล้งและชาวสวนทำโรงงานห้องเย็นด้วย เพื่อรองรับช่วงปริมาณทุเรียนออกมากและราคาถูก เป้าหมายเวียดนามจะผลิตทุเรียน 1 ล้านตันในช่วง 1-2 ปี ทุกวันนี้ต้นทุนทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทย อยู่ใกล้กับจีนและมีชายแดนติดจีนเหมือนเป็นเจ้าของด่าน (โยวอี้กวน) ย่อมจะขนส่งได้สะดวกรวดเร็วกว่า ยิ่งในช่วงกระจุกตัว

ตาราง ทุเรียน

“ไทยจะแข่งขันกับเวียดนามได้ ต้องทำคุณภาพในภาพรวม พร้อมทั้งระบบขนส่ง การสนับสนุนภาครัฐ เจ้าหน้าที่จะให้บริการส่งออกในวันหยุดและวันหยุดเทศกาล ส่วนเกษตรกรทุเรียนต้นทุน 40 บาท ตอนนี้ขายได้ 200 กว่าบาท ต้องพัฒนาคุณภาพ มีโมเดลของคนไทยที่ทำผลผลิตคุณภาพ สร้างแบรนด์ของตัวเองส่งไปทำตลาดที่จีนเองได้แล้ว น่าจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” แหล่งข่าวกล่าว

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา กล่าวว่า ข้อได้เปรียบทุเรียนเวียดนาม วันนี้ปริมาณและคุณภาพสู้ไทยไม่ได้ แต่ประมาทไม่ได้ เวียดนามพัฒนาเร็ว ช่วงผลผลิตทุเรียนหมอนทองออก ตลาดจีนต้องการมาก ขณะที่เวียดนามเป็นพันธุ์ก้านยาว RI6 ตลาดจึงเป็นของทุเรียนไทย จะมีการแข่งขันเป็นรุ่นเดือนมิถุนายน ที่ทุเรียนหมอนทองเวียดนามออกมาตรงกับทุเรียนไทยภาคใต้

ซึ่งคุณภาพไม่ดีนัก ต้องยอมรับว่าเวียดนามมีข้อได้ปรียบและผลผลิตอุดมสมบูรณ์ออกตลอดปี โดยเฉพาะฤดูกาลที่ไทยไม่มีทำให้ไม่มีคู่แข่งขัน และการที่อยู่ใกล้ตลาดจีนราคาแข่งขันได้ การขนส่งรวดเร็ว 3-4 วัน

ทำทุเรียน ASEAN

นายปราโมช ร่วมสุข ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนเวียดนามที่ครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้เกือบ 1 ใน 3 สูงถึง 31.8% ซึ่งเป็นรองจากทุเรียนไทยที่ตอนนี้ครองส่วนแบ่ง 68% ยังเป็นผลผลิตที่ออกมาในช่วง 2 เดือนแรก ปี 2567 ทุเรียนไทยเพิ่งเริ่มออกผลผลิตยังมีน้อย ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ว่าเวียดนามนำไทย ต้องให้จบฤดูกาล แต่คงแซงหน้าทุเรียนไทยไม่ได้

ทั้งนี้ทุเรียนเวียดนามผลิตไร่ละ 2.6 ตัน ทุเรียนจันทบุรีตั้งเป้า ไร่ละ 4 ตัน จากค่าเฉลี่ยทั้งประเทศไร่ละ 1.7 ตัน อย่างไรก็ดีปัจจุบันจีนบริโภคทุเรียนเพียง 9-10% ของประชากรทั้งหมด ถ้าทุเรียน ASEAN ร่วมมือกัน ทำนวัตกรรมการวิจัย ภาครัฐช่วยสนับสนุนเข้าไปทำตลาดหมุนเวียนในจีนตลอดปี ให้มีหลากหลายสายพันธุ์ ไม่มีเรื่องการสวมสิทธิและวงจรธุรกิจต่าง ๆ จะขับเคลื่อนไปด้วย เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ รถขนส่ง แรงงาน จะมีงานทำทั้งปี