ผู้ว่าฯชลบุรีใช้ม.44แก้ขยะล้นเมือง ท้องถิ่นขออำนาจกรมเจ้าท่าจับลักลอบทิ้งทะเล

ขยะเกลื่อนหาด - จังหวัดชลบุรีถือเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมแห่งหนึ่งของไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามมา ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการลักลอบทิ้งจากเรือท่องเที่ยวที่เข้ามาจอดในอ่าวไทย รวมถึงผู้ทำธุรกิจกำจัดขยะลักลอบทิ้งลงทะเล แทนที่จะไปกำจัดให้ถูกต้อง

ชลบุรีชงใช้ ม.44 แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ให้กระทรวงทรัพย์ “มอบอำนาจ” ให้จังหวัด-ฝ่ายปกครองท้องถิ่นสามารถจับกุม จังหวัด “ลงดาบ” จับผู้ลักลอบทิ้งขยะมูลฝอย-สิ่งปฏิกูล-น้ำเสียลงทะเลได้ อ้างเจอเอกชนหัวหมออาศัยช่องโหว่กฎหมายทิ้งขยะลงทะเล ไร้อำนาจจับ เผยแผนตั้ง “โรงไฟฟ้าขยะ” ยังลูกผีลูกคน ทั้งพื้นที่ตั้ง และรูปแบบการลงทุนยังไร้ข้อสรุป “ทำเองหรือให้สัมปทานเอกชนทำ”

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดจังหวัดชลบุรีมีมาตรการสำคัญในการจัดการขยะริมชายฝั่งทะเล โดยประชุมร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภายในจังหวัดชลบุรี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการใช้อำนาจตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ในการมอบอำนาจให้ฝ่ายปกครอง รวมถึงจังหวัด และส่วนท้องถิ่น ให้สามารถจับกุมผู้ลักลอบทิ้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล รวมถึงน้ำเสียลงในทะเล แล้วจึงส่งต่อให้กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการดำเนินการต่อได้ทันที เนื่องจากกรมเจ้าท่า ซึ่งมีอำนาจจับกุมตามกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีไม่เพียงพอ

โดยมอบอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 52 หน่วยงาน เช่น ตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี โยธาธิการจังหวัดชลบุรี สิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี เจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ติดทะเล อัยการจังหวัด และกองทัพในพื้นที่ เป็นต้น ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับควบคุม ได้แก่ พ.ร.บ.ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เป็นต้น

“ที่ผ่านมามีเอกชนบางรายทำธุรกิจรับซื้อขยะจากเรือต่างชาติที่มาแวะพักในอ่าวไทย แต่ไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง แต่ใช้วิธีการลักลอบทิ้งลงทะเล ส่งผลให้มีขยะลอยมาตกค้างบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น บางแสน พัทยา เกาะสีชัง และศรีราชา เป็นต้น แต่ที่ผ่านมากรมเจ้าท่ามีคนไม่พอ และไม่สามารถใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัดในการจับกุมได้ เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายรองรับ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่งกลุ่มผู้กระทำผิดรู้ช่องโหว่ของกฎหมายในจุดนี้เช่นกัน ทำให้เกิดการกระทำผิดขึ้น” นายภัครธรณ์กล่าว

นอกจากนี้ นายภัครธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การจัดการขยะในปัจจุบันของชลบุรียังไม่เข้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่พัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยังไม่มีโรงงานกำจัดขยะในจังหวัด ทำให้ต้องใช้วิธีการขนส่งไปยังจังหวัดข้างเคียงที่มีโรงงานกำจัดขยะแทน เช่น ระยอง ทั้งนี้ ได้มีการประกาศโซนนิ่งเพื่อศึกษาการจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะแล้ว แบ่งเป็น อ.บ้านบึง อ.เมืองชลบุรี อ.ศรีราชา พัทยา และเกาะสีชัง โดยเมืองพัทยาได้เริ่มทำการศึกษาแล้วว่าจะดำเนินการรูปแบบใด ระหว่างการตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน หรือให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน ทั้งนี้ การศึกษาจัดการขยะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก นับตั้งแต่การกำหนดพื้นที่ การศึกษาวิธีกำจัดขยะ ตลอดจนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งใช้ต้องเวลาและงบประมาณ

“สำหรับทิศทางในอนาคตในการเตรียมรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น ทิศทางในปัจจุบันนั้นยังไม่ชัดเจน แต่หากอีอีซีเกิดขึ้น ประกอบกับแนวทางการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นเมืองรองรับการประชุม สัมมนา (ไมซ์ซิตี้) จะทำให้มีปริมาณขยะมากขึ้น จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชน เช่น สวนนงนุช ที่เป็นเสาหลักในการจัดสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีการวางระบบจัดการขยะที่ดี ขณะที่ภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก ซึ่งหากอีอีซีชัดเจนขึ้น รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสในระดับจังหวัดเพื่อประสานงานและจัดการแล้ว จะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น”

ฉะเชิงเทราขอที่ดิน มท. 70 ไร่ เขาหินซ้อน-เกาะขนุนกำจัดขยะ

ในขณะเดียวกัน นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับการจัดการขยะจากครัวเรือนนั้น ปัจจุบันมีศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมจังหวัดชลบุรี ที่จะรับขยะจากอำเภอเมืองและอำเภอศรีราชา ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวน รวมไปถึงปัจจุบันบริเวณนั้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งสวนผีเสื้อ และน้ำตกชันตาเถร เป็นต้น โดยเตรียมการพูดคุยทำความเข้าใจและทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในท้องที่อีกครั้ง เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีมีแผนปรับจากระบบฝังกลบเดิมที่งดการใช้งานไปให้กลายเป็นระบบเผา ซึ่งกำลังรอมติของจังหวัดอีกครั้งว่าจะจัดทำในลักษณะใด ร่วมทุนกับเอกชนเจ้าใด ภายใต้ข้อกำหนดใดอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกันระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี และเป็นมติของจังหวัดในการมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นตัวกลางในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะมีพิษที่ไม่สามารถจัดการได้ง่าย เช่น แบตเตอรี่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีกำลังติดต่อโรงงานที่มีใบอนุญาตในการจัดการขยะประเภทดังกล่าว เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพื้นที่จัดการขยะและสิ่งปฏิกูล เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในอนาคตหลังจากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลนั้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีการทำหนังสือถึงกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการขอใช้ที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 70 ไร่ บริเวณ ต.เขาหินซ้อน และ ต.เกาะขนุน ในการนำขยะในพื้นที่ 3 อำเภอบางส่วนมากำจัด ได้แก่ พนมสารคาม สนามชัยเขต และท่าตะเกียบ เป็นต้น ล่าสุดถึงขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่สำหรับการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับภาคเอกชนในลักษณะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อจัดทำระบบจัดการขยะในพื้นที่ดังกล่าว

ด้านจังหวัดระยองนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรอยู่แล้ว รวมไปถึงมีโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) ซึ่งเป็นโครงการที่องค์การบริหาร

ส่วนจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 67 แห่ง ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมพัฒนาระบบจัดการมูลฝอยที่ครบวงจรแบบศูนย์รวม ด้วยระบบแบบผสมผสาน โดยร่วมกับบริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน