“ชญาภา ทองยิ่ง” ต่อยอด ผ้าคราม “NANGNOY” สกลนคร

ผ้าไทยถือเป็นหนึ่งในสินค้าโอท็อปที่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมีเอกลักษณ์โดดเด่นชัดเจนตามพื้นถิ่น ทั้งเนื้อผ้า ลวดลาย เทคนิคการถักทอ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ เป็นต้น โดย “ผ้าคราม” ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์โอท็อปที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน “ชญาภา ทองยิ่ง” วัย 38 ปี ทายาทแบรนด์ “NANGNOY made in Thailand” ของประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ไม้เบญจพรรณ หนึ่งในผู้ผลิตผ้าครามของจังหวัดสกลนครกำลังพัฒนาแบรนด์ผ้าของตัวเอง จากสินค้าโอท็อป 5 ดาว ไปสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

“ชญาภา” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สหกรณ์ไม้เบญจพรรณก่อตั้งเมื่อปี 2543 เพื่อรวบรวมสมาชิกจากทุกหลังคาเรือนที่ทำผ้าทอมือ จากทั้งทำการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมและผสมสีเคมี จนกระทั่งตนเองมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นผ้าทอย้อมสีธรรมชาติเพียงอย่างเดียว และได้เข้ามาดูแลกิจการของกลุ่มโดยมีคุณแม่เป็นที่ปรึกษา

“เราเป็นทั้งกลุ่มแม่บ้าน เป็นทั้งวิสาหกิจชุมชน โดยมีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุน คือ กรมส่งเสริมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ที่ให้การสนับสนุนด้วยการไปดูงาน ไปอบรม ทำให้สีผ้าเราไม่ตกและมีคุณภาพ ตอนนี้ผ้าของเราเป็นผ้าย้อมครามมาจากการย้อมสีธรรมชาติที่ชาวบ้านปลูกไว้อยู่แล้ว เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาทอผ้า ย้อมผ้าแบบไม่ใช้สีเคมี แต่ใช้วัตถุดิบในพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไม้ เช่น สีน้ำตาลจากเปลือกประดู่ ดอกดาวเรือง ใบคราม สีชมพูมาจากฝาง สีเขียวมาจากเปลือกมะม่วง ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติจะให้สีต่างกัน โคลนตมสามารถนำมาย้อมให้ผ้านุ่มลงได้”

“ชญาภา” บอกว่า ในปี 2544-2545 ได้ส่งผ้าหรือผลิตภัณฑ์คัดสรรที่ได้จากโอท็อป 2 ดาว กระทั่งในปี 2552 จึงได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว มาจนถึงปี 2559 ก่อนจะได้รับการคัดสรรเป็นโอท็อปพรีเมี่ยม

ในปัจจุบัน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก รับย้อมผ้าทอผ้าตามออร์เดอร์เฉลี่ยรายได้ 1 คน ประมาณ 10,000-20,000 บาท/เดือน นอกจากผลิตในแบรนด์ “NANGNOY” แล้วยังรับทำ OEM ขายแล้วส่งต่อไปยังต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งขายไปยังต่างประเทศประมาณ 70% อีก 30% จึงจะเป็นการขายในประเทศ ตามร้านค้าขายของฝาก และตามการออกบูท

“ปัจจุบันในกลุ่มการผลิตมีสมาชิกประมาณ 30 คน ในเครือข่ายประมาณ 200 คน รวมรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท/ปี ในแต่ละเดือนจะมีออร์เดอร์แตกต่างกันไป เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง เรามีเอกลักษณ์คือเน้นธรรมชาติ ผ้านุ่ม ใส่สบาย สีไม่ตก แม้มีคู่แข่งอยู่หลายแบรนด์ในจังหวัดแต่ลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกเรา เคยคิดอยากส่งออกด้วยโดยไม่ผ่านผู้รับซื้อ แต่ติดหลายอย่าง ทั้งภาษา กฎหมายการส่งออก รวมถึงเรื่องภาษี ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป”

นับเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่กำลังพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวไปสู่ตลาดอย่างเต็มรูปแบบ โดยยังคงรักษามาตรฐานและคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้