สถ.ชงตั้ง ‘สำนักงานท้องถิ่นอำเภอ’ กำกับการเงิน-สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม-กม

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชงรัฐมนตรีมหาดไทย ตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ” 878 อำเภอทั่วไทย ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายอำเภอ 5 ด้านหลัก หน่วยงานกำกับดูแล (regulators) ด้านการเงินและการบัญชีให้นายอำเภอ-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข-กฎหมาย-พัฒนาคุณภาพชีวิต เผยเล็งขอเพิ่มอัตรากำลัง 8,780 อัตรา ตั้งเป้าเสร็จเป็นรูปธรรมปีงบประมาณ 2562 นี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถ.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกรม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกิดภายใน 1-2 ปี โดยจะจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ” ขึ้น และเพิ่มอัตรากำลัง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลบังคับบัญชาของนายอำเภอ ซึ่งจะมีหน้าที่รับลูกต่อจากกระทรวงและจังหวัด เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ เนื่องจากโครงสร้างในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อความสำเร็จของการนำนโยบายไปขับเคลื่อนในพื้นที่ รวมถึงเป็นการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากขณะนี้ไม่มีส่วนงานดังกล่าว แต่ได้ส่งอัตรากำลังของสำนักงาน
ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ที่อำเภอลักษณะหมุนเวียน ทั้งนี้ที่ผ่านมา สถ.ได้ว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาศึกษาโครงสร้างการทำงานของอำเภอและส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการศึกษาเห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ และได้นำเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในหลักการและอนุมัติแล้ว โดยตั้งเป้าจะให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2562

สำหรับการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ และเพิ่มอัตรากำลัง ต้องแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในเรื่องกรอบโครงสร้าง กฎหมาย และอัตรากำลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 แห่ง 7,255 ตำบล และมี 878 อำเภอ ดังนั้นการที่ให้นายอำเภอ 1 คน ไปกำกับดูแลบริหารงานคนเดียวเป็นไปไม่ได้ ต้องมีคนที่เข้าไปเป็นผู้ช่วยนายอำเภอ เพื่อประสานการทำงานกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศบาล นายกเทศมนตรี ฯลฯ

ในส่วนของอัตรากำลังในสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ ควรมีไม่เกินอำเภอละ 10 คน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อม 2.สาธารณสุข ครอบคลุมเรื่องสุขภาพ พลานามัย และคุณภาพชีวิต 3.กฎหมาย 4.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน 5.เป็นหน่วยงานกำกับดูแล (regulators) ในด้านการเงินและการบัญชีให้นายอำเภอ เพราะการทำงานของท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับเงิน จะต้องมีผู้ตรวจสอบ รู้เรื่องระเบียบการใช้เงิน จัดซื้อจัดจ้าง และดูแลไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำผิด รวมถึงต้องเป็นผู้ช่วยเหลือท้องถิ่นให้ทำงานด้วยความมั่นใจและถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย อีกทั้งเป็นหลักประกันให้กับนายอำเภอว่าไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในเรื่องของการกำกับดูแลท้องถิ่น

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ ตามกรอบเวลาการทำงานที่วางไว้ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เป็นขั้นตอนภายใน สถ. ซึ่งมีการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของ สถ. (ก.พ.ร.สถ.) ขึ้นมาจัดเตรียมเอกสารประกอบการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณาคำชี้แจง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อสถ.) ลงนามหนังสือถึงคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ (ก.พ.ร.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อพิจารณา ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 อยู่ในขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง (ก.พ.ร.สป.) ตรวจสอบ กลั่นกรอง และนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงเอกสารและแนวทางการดำเนินการปรับโครงสร้าง

รวมถึงขอความเห็นจาก 7 หน่วยงานกลาง ประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ.ร. เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการ ครม. ขั้นตอนต่อไปแจ้ง สถ.ทราบความเห็นหน่วยงานกลาง ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของ มท. หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปมท.) ลงนามในหนังสือถึงสำนักงาน ก.พ.ร.

เดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2562 ขั้นตอนอยู่ในสำนักงาน ก.พ.ร. กรณีคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เห็นชอบ ก.พ.ร.จะแจ้งมติให้ ปมท.ทราบ เพื่อรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) หลังจากนั้น รมว.มท.จะลงนามส่งร่างกฎกระทรวง สถ. ให้สำนักงานคณะกรรมการ (สนง.คกก.)
กฤษฎีกา ในการตรวจสอบพิจารณาร่างกฎกระทรวง และส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ พร้อมแจ้ง รมว.มท.เพื่อทราบ หลังจากนั้น สคล. โดยเลขาคณะรัฐมนตรีเสนอ ครม.เพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม กรณี อ.ก.พ.ร.ไม่เห็นชอบ ก.พ.ร.จะจัดทำบันทึกความเห็นของ มท. และ ก.พ.ร.เสนอ ครม. เมื่อ ครม.พิจารณาแล้ว สลค.จะแจ้งผลการพิจารณาของ ครม. ให้ ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมกับแจ้ง รมว.มท.ทราบ ขั้นตอนต่อไป สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวง และส่งให้ สลค. รวมถึงแจ้ง รมว.มท.เพื่อทราบ หลังจากนั้น สคล.โดยเลขาฯคณะรัฐมนตรีเสนอ ครม.เพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ผุด ‘กองการเลือกตั้ง’ รับภารกิจชาติ

ขณะเดียวกัน เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) บอกว่า ทาง สถ.เตรียมการจัดตั้ง “กองการเลือกตั้ง” ขึ้นภายในกรม โดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมในการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของกำลังคนนั้น นำมาจากสำนักกฎหมาย ได้แก่ นิติกร และนักกฎหมายที่รับผิดชอบงานเลือกตั้งอยู่แล้ว เข้ามาเป็นผู้บริหารของกองการเลือกตั้ง

ขณะที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคลากรของท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากทั้ง 7,852 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการเลือกตั้งนายกเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภา ฯลฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สมาชิกเสียชีวิต ลาออก หรือถูกปลดออก แต่ในครั้งต่อไปนี้จะมีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น กรมต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นมั่นใจในการทำงาน โดยเฉพาะการเลือกตั้ง เพราะหากทำผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย

สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ หลังจากกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ผ่านการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ยกเลิกและร่างใหม่ 2.พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล 3.พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด 4.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเทศบาล 5.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา และ 6.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้แก้เสร็จแล้ว 5 ฉบับ เหลืออีก 1 ฉบับ คือ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครไปดำเนินการรับฟังความเห็นยกร่างและร่างเอง

“กฎหมายทั้ง 5 ฉบับ จะส่งเข้า ครม.ก่อน หลังจากนั้นจึงส่งเข้า สนช.ประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งมีทั้งหมด 3 วาระ จะเข้าห้วงเดือนพฤศจิกายนพอดี หลังจากนั้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงพระปรมาภิไธย จะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ถึงตรงนี้จึงจะเริ่มคุยกันได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ โดย กกต.ประกาศชัดว่า ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 3 เดือน จะไม่จัดการเลือกตั้งใด ๆ เข้ามาแทรก ถ้ามีการเลือกตั้งระดับชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ต้องให้พ้นจากนั้น 2-3 เดือนก่อน และหากจะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งเร็วกว่าเลือกตั้งชาติ 3 เดือน ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะกฎหมายยังไม่เสร็จ” นายสุทธิพงษ์กล่าว