ระดมรัฐ-เอกชนเชียงใหม่ดีไซน์ถนนนิมมานฯ-ห้วยแก้ว ผู้ว่าฯหนุนสายไฟลงดิน-ปั้นศูนย์เศรษฐกิจสมาร์ท ซิตี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (4 กันยายน 2561) สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุมแนะนำโครงการ “การศึกษากลไกเชิงพื้นที่โดยการวางแผนและการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม” (SG-ABC) ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังเร่งขับเคลื่อนในขณะนี้คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ที่มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็น Smart City ซึ่งโครงการศึกษากลไกเชิงพื้นที่โดยการวางแผนและการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) โดยสมาคมการผังเมืองไทยและ สกว.ที่ได้กำหนดพื้นที่ถนนนิมมานเหมินทร์และถนนห้วยแก้วเป็นโมเดลในการพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจ-ย่านนวัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องและสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองของเชียงใหม่ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งจะเป็นโครงการที่หนุนเสริมกันและกันให้ถนนนิมมานฯและถนนห้วยแก้วมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและน่าอยู่ตามแนวทางการพัฒนา Smart Growth และSmart City

สำหรับโครงการ SG-ABC จะดำเนินการศึกษาในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ภูเก็ต สุโขทัย สระบุรี ระยอง และเชียงใหม่ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทางโครงการเลือกที่จะทำการศึกษาบริเวณถนนห้วยแก้ว-นิมมานเหมินทร์ ซึ่งประยุกต์ใช้เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดหรือ Smart Growth Principles และเกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน หรือ Leadership in Energy and Environmental Design For Neighborhood Development (LEED-ND) มาเป็นกลไกการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ลดการกระจัดกระจายของเมือง และสร้างทิศทางการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืน

นายศุภชัย กล่าวว่า เวทีการประชุมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญมาก ที่จะเป็นเวทีแห่งการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองที่จะได้แนวทางจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ และต้องดึงภาคชุมชนเข้ามาร่วมออกแบบย่านเศรษฐกิจแห่งนี้ด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนรวมครบทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดตามแนวทาง Smart Growth จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่มีจุดเน้นคือ การเสริมสร้างสุขและสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพให้กับเมือง อันจะนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) นั่นคือ เมืองมีความน่าอยู่ เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี เมืองมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เมืองมีความทันสมัยและเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถนนนิมมานเหมินทร์และถนนห้วยแก้วในปัจจุบัน เป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ก็อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา 2 พื้นที่หลักคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และถนนนิมมานฯ โดยมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องผลักดันงบประมาณในการดำเนินการนำสายไฟลงสู่ใต้ดิน เพื่อสร้างภูมิทัศน์ของย่านนี้ให้มีความสวยงาม-เป็นระเบียบ มีทางเท้าที่สามารถเดินได้อย่างสะดวกและต้องมี CCTV เพื่อให้เป็นย่านที่มีความปลอดภัย เป็นห้องรับแขกของจังหวัดเชียงใหม่ที่ดีที่สุดและมีคุณภาพ

นายฐาปนา บุณยประวิตร หัวหน้าคณะผู้วิจัย โครงการศึกษากลไกการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม และนายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยประเภทโครงการ fragship เพื่อการวิจัยค้นหารูปแบบการพัฒนาใหม่ (New Platform) เพื่อนำข้อค้นพบมาเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีในการวางแผนการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย 

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดการวางแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ย่านนิมมานเหมินทร์และย่านถนนห้วยแก้วเป็นย่านนวัตกรรมและเมืองอัจฉริยะ (Chiang Mai Smart City) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มผู้ประกอบการค้าในย่านนิมมานเหมินทร์และย่านถนนห้วยแก้ว 

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการประชุมและการฝึกอบรมในการดำเนินการ 4 ระยะ โดยระยะแรก เป็นการฝึกอบรมเกณฑ์ Smart Growth และจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ย่านนิมมานเหมินทร์และย่านถนนห้วยแห้ว ระยะที่สอง เป็นการรับฟังความคิดเห็นเชิงลึกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการออกแบบแนวคิดแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ ระยะที่สาม เป็นการดำเนินการกระตุ้นการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางเศรษฐกิจ และระยะที่สี่ เป็นการสรุปและการประเมินผล ตลอดจนการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาใหม่ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี