“ภูเก็ต” จับมือ “ม.ศิลปากร” รุกทำโครงการถอดรหัส 4 DNA ภูเก็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการจัดโครงการถอดรหัส 4 DNA จังหวัดภูเก็ต มุ่งสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้บริหารผู้ประกอบการโรงแรม เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ห้องประชุม poc ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การถอดรหัส 4 DNA จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่มีความเป็นเอกภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมือง ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสถาปัตยกรรม และการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองและบ่งบอกถึงความเป็นจังหวัดภูเก็ต ต่อยอดในการพัฒนาเมืองให้มีความสร้างสรรค์ และการสร้างแบรนด์ของจังหวัด ภายใต้หัวข้อเมืองนี้ที่ฉันรัก We Love Phuket

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การพัฒนาเมืองในอนาคตจะต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์และคำนึงถึงการวิจัย เพื่อให้มีผลต่อการพัฒนาเมืองในทุกมิติครอบคลุม 360 องศา โดยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ ทั้งการวางแผนรูปแบบการใช้รหัสสีจังหวัด ฟรอนต์ตัวอักษรจังหวัด โลโก้จังหวัด ล้วนเป็นข้อมูล DNA ของจังหวัดนั้นๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล DNA จังหวัดภูเก็ต ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการร่วมกันระดมความคิดนำข้อมูลพื้นที่เด่นของทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดภูเก็ต มาร่วมในการถอดรหัส 4 DNA ของจังหวัดภูเก็ต จากนั้นทุกอำเภอจะต้องไปทำ Workshop ระดับอำเภอ หมู่บ้าน เพื่อนำข้อมูลความต้องการของแต่ละอำเภอ มาประชุมเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับมอบหมายจากจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้การออกแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยกำหนดจัดกิจกรรมในเดือนมกราคม 2562

ทั้งนี้ การถอดรหัส 4 DNA ของจังหวัดภูเก็ต ทั้ง 3 อำเภอ จะเป็นการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ในการนำเอาทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมาช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้การออกแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้มีความมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืนต่อไป