“ไทย-กัมพูชา” วาดเป้ายอดค้าชายแดนปี’63 โต 5 แสนล.

เติบโต - รัฐบาลไทย-กัมพูชาตั้งเป้าปี 2563 เพิ่มมูลค่าค้าชายแดนเป็น 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันคิดเป็น 60% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั่วประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศลุยสระแก้ว จัดงานหุ้นส่วนเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชา รุกหนักตั้ง “คณะกรรมการร่วมการค้าชายแดน” หนุนมูลค่าการค้าเติบโต 3 เท่าเป็น 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เล็งยกระดับ “ช่องอานม้า-ช่องสายตะกู-บ้านท่าเส้น” ขึ้นเป็น “ด่านถาวร” พร้อมเปิดใหม่บ้านโนนหมากนุ่น จ.สระแก้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงานหุ้นส่วนเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชา (Thailand-Cambodia Border Economic Partnership) ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยได้เชิญผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา และผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนจากจังหวัดชายแดนทั้งของไทยและกัมพูชา ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางกระตุ้นและผลักดันการค้าชายแดน รวมถึงการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไทย-กัมพูชากว่า 80 ราย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมความร่วมมือการส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นจากการประชุมระดับผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้มีการตกลงให้มีการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มเป็น 3 เท่า ภายในปี 2563 เป็น 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา คิดเป็นกว่า 60% ของมูลค่ารวม โดยปี 2560 มูลค่าอยู่ที่ราว 6.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 35.5% อยู่ที่ 8.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เห็นถึงโอกาสในกัมพูชาสูงมาก

โดยการเจรจาครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดน ฝ่ายไทยมี 14 คน โดยมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ และอยู่ระหว่างรอกัมพูชาเสนอชื่อมา หากมีการส่งชื่อกลับมาจะสามารถจัดประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1 ได้ทันทีที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมประมาณเดือนเมษายน ทั้งนี้การจัดตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้เคยดำเนินการสำเร็จมาแล้วกับเมียนมา

ขณะเดียวกันฝ่ายกัมพูชาเรียกร้องให้ไทยนำเข้าสินค้าของกัมพูชามากขึ้น จากปัจจุบันไทยส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ด้านฝ่ายไทยได้เรียกร้องเรื่องการแลกเปลี่ยนการนำรถเข้า-ออก ทั้งรถบรรทุกและรถโดยสาร ซึ่งเกี่ยวพันกับการตกลงภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า จึงตกลงร่วมกันทำทวิภาคี รวมถึงเรื่องหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงของสินค้าสำหรับอาเซียน (Form D) ที่ปกติสามารถส่งไปพร้อมกับสินค้า และศุลกากรที่ชายแดนสามารถอนุมัติยกเว้นภาษีได้เลย แต่ศุลกากรใหญ่กัมพูชายังไม่มอบอำนาจให้ศุลกากรบริเวณชายแดน

นอกจากนี้ยังมีโครงการ YEN-D (Young Entrepreneur Network Development Program) เป็นการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ปีนี้ได้จัดรุ่นพิเศษให้กัมพูชา คือ YEN-D Frontier โดยนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของกัมพูชาเข้ามาเรียนร่วมกับผู้ประกอบการไทย ภายในงานครั้งนี้มีการจับคู่ธุรกิจ โดยมีผู้ประกอบการที่สมัครผ่านกรมกว่า 44 ราย และนักธุรกิจในพื้นที่เข้าร่วมอีกกว่า 100 ราย รวมถึงมีนักธุรกิจกัมพูชามาร่วมราว 50 ราย

“กรมเร่งขจัดอุปสรรคชายแดน ในที่ประชุมมีการพูดถึงการยกระดับจุดผ่อนปรนต่างๆ เป็นด่านถาวรอีก 3 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี, จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และจุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด รวมถึงการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าแห่งใหม่บ้านโนนหมากนุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว”

นายพิธาน อิมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิ้มสยาม มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิต-จำหน่ายหมูสะเต๊ะโฟรเซน และธุรกิจแฟรนไชส์ สะเต๊ะยิ้มสยาม กล่าวว่า การเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจครั้งมีนักธุรกิจกัมพูชาสนใจเข้ามาติดต่อ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าทั้งแฟรนไชส์ลักษณะคีออสก์ ปัจจุบันมี 7 สาขา เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ หาดใหญ่ ระยอง กรุงเทพฯ และคาดว่าปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 4-5 สาขาและมองถึงกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย ขณะเดียวกันได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นสะเต๊ะโฟรเซน ส่งออกไปสิงคโปร์และอังกฤษ ปีนี้บริษัทคาดว่ายอดขายจะเติบโต 5-10%

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!