“ซันสวีท” ประชุมผู้ถือหุ้น-ปันผล 21.5 ล. ปี’62 เร่งขยายกำลังผลิตดันยอดส่งออกโต 15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 เมษายน 2562) บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ได้ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 โดยมีคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน ภายใต้ตราสินค้า KC เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราเพิ่มหุ้นละ 0.05 บาท เป็นเงิน 21.5 ล้านบาท จากที่ได้ปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นหุ้นละ 0.10 บาท เป็นเงินจำนวน 43 ล้านบาท คิดเป็น 79.98% ของกำไรสุทธิปี 2561 โดยเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จ่ายปันผลวันที่ 17 พฤษภาคม 2562

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้รวม 1,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นราว 9% มีกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท ลดลง 61 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรลดลง เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้มีกำไรต่อหน่วยลดลง นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม แผนงานหลักในปี 2562 บริษัทได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรสำหรับสายการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned) และ ประเภทบรรจุถุงสุญญากาศ (Pouch) รวมถึงติดตั้งเครื่องจักรเพื่อขยายสายการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) แล้วเสร็จ ซึ่งพร้อมดำเนินการผลิตเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการผลิตข้าวโพดหวานทั้งปีเพิ่มขึ้น 10-15% หรือประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งเพิ่มจากยอดกำลังการผลิตของปีก่อนที่ 128,000 ตัน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องอยู่ที่ 60% ข้าวโพดหวานประเภทบรรจุถุงสุญญากาศ 15% และ เพิ่มผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็งเป็น 25% จากการผลิตทั้งหมด

นายองอาจ กล่าวว่า สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดหวานชนิดเมล็ดบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน มียอดเติบโตเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ข้าวโพดหวานชนิดฝักในถุงสุญญากาศ มีฐานตลาดลูกค้าราว 300 ราย อยู่ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ชนิดเมล็ดบรรจุถุง มีตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น และอิหร่าน

ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบในปี 2562 คาดว่ายอดรายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 15% โดยมีตลาดใหม่ๆ ที่จะเปิดการขายในปีนี้ อาทิ อินเดีย อินโดนิเซีย และรัสเซีย ขณะที่ตลาดในโซนเอเชียที่ยอดขายค่อนข้างเติบโตมากในปี 2561 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ที่มีความต้องการข้าวโพดหวานแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในปีนี้จะยังคงรุกตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น