14 จว.ใต้รับมือทุเรียน-มังคุดพุ่ง 40% ไม่หวั่นราคาดิ่ง-จีนพลิกทำตลาดรับซื้อเกรดรอง

14 จังหวัดภาคใต้เร่งประชุมรับมือไม้ผลปี 2562 ทะลักเพิ่มกว่า 10% เฉพาะ “ทุเรียน” เพิ่มขึ้น 46% ขณะที่ “มังคุด” พุ่งสูงถึง 41% คาดสร้างรายได้รวมเฉียด 30,000 ล้านบาท เผยไม่วิตกเรื่องราคาดิ่ง เหตุจีนปรับกลยุทธ์รับซื้อสินค้า “เกรดรอง” เผยกลุ่มสหกรณ์-กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง MOU ร่วมกันกระจายสินค้า พร้อมเร่งรณรงค์สวนผลไม้ต้อนเข้ามาตรฐาน GAP

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.ที่ 5 สงขลา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้” ปี 2562 ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อร่วมกันจัดทำข้อมูล ประมาณการผลผลิต วิเคราะห์สถานการณ์การออกดอกของผลไม้ และการกระจายผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2562 ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรภาคใต้ตอนบนและตอนล่างเข้าร่วม เนื่องจากช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ไม้ผลภาคใต้จะเริ่มทยอยออก และบางชนิดจะให้ผลผลิตไปถึงเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ภาพรวมไม้ผลภาคใต้ ปี 2562 ภาพรวมมีพื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 1,000,516 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตรวมประมาณ 868,709 ไร่ ให้ผลผลิตภาพรวมประมาณ 743,265 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 28,200 ล้านบาท แบ่งเป็นทุเรียน ผลผลิตรวมประมาณ 445,220 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46%, มังคุดประมาณ 156,118 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 41%, เงาะประมาณ 69,371 ตัน ลดลงจากปีก่อน 4% และลองกองประมาณ 72,556 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 69% (ดูตารางประกอบ)

สำหรับจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดคือ จ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูกประมาณ 191,915 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตรวมประมาณ 157,834 ไร่ ให้ผลผลิตรวมประมาณ 241,354 ตัน จ.สุราษฎร์ธานี ให้ผลผลิตรวม 45,000 ตัน

จ.นครศรีธรรมราช ให้ผลผลิตรวม 48,000 ตัน จ.ยะลา ให้ผลผลิตรวม 41,500 ตัน ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมไม้ผลทุกชนิดทั้งภาคใต้ ทุเรียนถือเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตมากสุดประมาณ 56%

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการประเมินราคาความเคลื่อนไหวของไม้ผลต่าง ๆ โดยคาดการณ์ทุเรียนจะมีราคาเคลื่อนไหวประมาณ 80-100 บาท/กก. หรือคิดเป็นมูลค่าภาพรวมประมาณ 24,000 ล้านบาท มังคุด จะมีราคาเคลื่อนไหวประมาณ 50-60 บาท/กก. หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท เงาะ จะมีราคาเคลื่อนไหวประมาณ 20-30 บาท/กก. หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนลองกอง จะมีราคาเคลื่อนไหวประมาณ 50 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรอย่าตื่นตระหนกเรื่องปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อราคา” นายสุพิทกล่าว

นายสุพิทกล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 การส่งออกไม้ผลของไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดไปประเทศจีน ทางโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ขณะที่สวนผลไม้ที่ปลูกต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งไม้ผลในภาคใต้ปลูกกันในระบบแปลงใหญ่ เพราะเป็นเชิงบังคับ ส่งผลให้สวนผลไม้ในภาคใต้ประมาณ 80% ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว คงเหลืออีกเพียงไม่กี่แห่งที่ยังไม่ผ่านการรับรอง GAP ซึ่งกำลังเร่งรณรงค์ โดยดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เข้าสู่ระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการล้งทุเรียนในภาคใต้จะมีศูนย์รวบรวมผลผลิตใหญ่อยู่ที่ จ.ชุมพร และล้งมังคุด มีแหล่งรวบรวมผลผลิตใหญ่อยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ดังนั้น การส่งออกทุเรียนและมังคุดในภาคใต้จึงไม่น่าวิตกกังวลเรื่องการตรวจพบแมลงศัตรูพืชและสารตกค้างต่าง ๆ เกินค่ามาตรฐาน

“ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายวางแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 โดยให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีพาณิชย์จังหวัดเป็นเลขานุการ ประชุมติดตามและประเมินผลทุกสัปดาห์ เช่น ส่งออกจำนวนเท่าใด จำหน่ายตลาดภายในประเทศจำนวนเท่าใด ส่งจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าจำนวนเท่าใด ฯลฯ หากประเมินแล้วผลผลิตออกมากเกินกำลัง ให้ทางจังหวัดจัดทำแผนเสนอไปยังคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) เพื่อดำเนินการสนับสนุน”

ทางด้านนายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า สำหรับฤดูกาลไม้ผลของทางภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้ ทาง ชสท.จะดำเนินการกระจายสินค้าให้กลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกลุ่มสหกรณ์ ประมาณกว่า 4,000 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การสนับสนุน

แหล่งข่าวจากจังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการลงพื้นที่สำรวจภาพรวมไม้ผลปี 2562 พบว่า ปีนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยเฉพาะมังคุด มีความหนาแน่นประมาณ 90% ตามหลักความหนาแน่นประมาณ 30% ผลผลิตจะได้ขนาดคุณภาพ แต่โชคดีที่ประเทศจีนผู้นำเข้าหลักได้ปรับคุณภาพเกรดในการรับซื้อ โดยยอมรับซื้อสินค้าคุณภาพรองลงมาด้วย ส่งผลให้ทางด้านราคายังไม่น่าวิตก แต่เกษตรกรจะต้องยกระดับมาตรฐานการปลูก รวมถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มทุกชิ้นส่วนของผลไม้

สำหรับผลไม้ จ.พัทลุง ภาพรวมมูลค่าประมาณ 527 ล้านบาท ภาพรวมมีสวนผลไม้ประมาณ 30,000 ไร่ ปี 2562 ทุเรียนจะมีผลผลิตประมาณกว่า 2,000 ตัน มูลค่าประมาณ 122 ล้านบาท มังคุดประมาณ 7,000 ตัน มูลค่ากว่า 220 ล้านบาท เงาะประมาณ 2,100 ตัน มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท และลองกองประมาณ 4,700 ตัน ประมาณ 141 ล้านบาท